09 กรกฎาคม 2020

กระท้อนร้อยปีที่บ้านนาปริก กับภาพสะท้อนการพัฒนาอย่างสร้างสรรค์ของหมู่บ้านกลางป่า

การสร้างสรรค์แหล่งท่องเที่ยวชุมชน เพื่อความสมดุลของคนกับป่าและการพัฒนาอย่างยั่งยืน

ประชาชนผู้อาศัยในย่านนี้ส่วนใหญ่เป็นชาวไทยมุสลิม ประกอบอาชีพเกษตรกร หากเลี้ยวซ้ายไปตามทางทิศใต้ของมัสยิดฟัตหุเราะห์มาน(มัสยิดบ้านนาปริก) จะพบกับ “กุโบร์ ดาโต๊ะปะดุกาลักษณมณาราญาเลลาหวันอะฮ์มัด” เป็นสถานที่ฝังศพโบราณ ที่มีอายุยาวนานกว่า 400 ปี ด้านข้างและโดยรอบรกครึ้มด้วยต้นกระท่อมหูช้าง แต่หากสังเกต จะพบลำต้นกระท้อนเหยียดยืนสูงเด่น ที่จุดสูงสุดทะลุทุกทิวยอด นั่นเป็นอีกจุดหมายปลายทาง หากนักท่องเที่ยวอยากมาเยี่ยมชมธรรมชาติ พร้อมกับศึกษาประวัติศาสตร์ของจังหวัดสตูล เพราะคำว่าสตูลนั้น มาจาก "สโตย" ซึ่งเป็นคำในภาษามาลายูแปลว่ากระท้อน เดิมทีกระท้อนเป็นผลไม้ที่ขึ้นอยู่ชุกชุมในทุกท้องถิ่น

“ปกติกระท้อนเป็นไม้พื้นเมืองของจังหวัดสตูล พื้นที่ตรงนี้มีอยู่ 3 ต้น ต้นที่อายุเยอะสุดเติบโตมามากกว่า 100 ปี ทั้งที่ตรงนี้เป็นป่าสาธารณะ ใครจะมาเก็บลูกหล่นก็ได้ แต่กระท้อนสามต้นนี้ก็ยังไม่ตาย และได้รับการดูแลจากชุมชนอยู่ตลอด พื้นที่สาธารณประโยชน์แห่งนี้ พิสูจน์ให้เห็นผ่านกาลเวลามาแล้วว่า คนกับป่าสามารถอยู่ร่วมกันในระแวกเดียวกันได้ การที่ผู้คน ชุมชน มาอาศัยใช้ประโยชน์จากป่าอย่างสร้างสรรค์ เช่นว่า เราไม่เอาต้นไม้ใหญ่ ไม่ตัด เผาทำลาย ไม่ใช้เครื่องจักรไปหาไม้มาทำแปรรูป เป็นการดำเนินวิถีชีวิตแบบพึ่งพิงกับธรรมชาติ และเป็นศิลปะในการดำรงชีพ” เป็นคำบอกเล่าของ “บังเหม” อิบรอเหม เด็นสำลี ผู้รวมกลุ่มกับเพื่อนบ้าน จัดตั้งวิสาหกิจชุมชนบ้านนาปริก และเป็นหนึ่งในสมาชิกกลุ่มอนุรักษ์เขาโต๊ะกรัง

บังเหมผู้เกิด เติบโต และผ่านชีวิตกับบ้านนาปริกแห่งนี้มากว่า 60 ปี ชี้มือไปรอบ ๆ พร้อมแนะนำสถานที่สำคัญใกล้บ้านให้ฟังอีกว่า นอกจากกุโบร์โบราณแล้ว บริเวณนี้ยังมีเพิงผาปาโต๊ะโระ แหล่งโบราณคดีเขาเพนียด ชิดไปทางเขตแดนด้านเหนือ เป็นเขาลูกช้าง ห่างออกไปราว 3 กิโลเมตรเป็นภูเขาโต๊ะกรัง ทั้งหมดนี้ยังคงและเติบโตไปพร้อมกันกับบังเหม โดยหัวใจสำคัญของการดูแลรักษาธรรมชาติ และพื้นที่ป่าโดยรอบบ้าน บังเหมว่า “ปล่อยให้มันเป็นไปตามธรรมชาติ”

(2) คน กับ พื้นที่สาธารณะ ... สิ่งที่ผ่านมา และกำลังเกิดขึ้นใหม่

นับจากเดือนมิถุนายน พ.ศ.2563 กลุ่มวิสาหกิจชุมชนบ้านนาปริก มีความตั้งใจจะพัฒนาพื้นที่โดยรอบบ้านให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติ โดยเริ่มจากการพัฒนาให้มีจุดชมวิวเขาลูกช้าง การปรับภูมิทัศน์โดยรอบทางเข้า-ออกหมู่บ้านให้ร่มรื่นเพื่อต้อนรับนักท่องเที่ยว และเมื่อวันที่ 25-27 มิถุนายนที่ผ่านมา ได้มีการจัดงาน "เมืองกระท้อนสตูล สะโตยสตูล และการท่องเที่ยวเชิงนิเวศและวิถีเกษตร" เพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยว

แต่ อิบรอเหม เด็นสำลี พบว่าในประเทศไทย ไม่เฉพาะจังหวัดสตูล การดำเนินกิจกรรมใดบนพื้นที่สาธารณประโยชน์มักเป็นไปในทิศทางหวงห้าม

เห็นนโยบายส่วนใหญ่ที่มาจากส่วนกลาง หากจะมีการอนุรักษ์พื้นที่ เขาจะเอาคนออกจากป่า แต่ถ้าเอาคนออกจากป่า ไปอาศัยในเมือง พวกเขาก็ยากจะสามารถปรับตัวเอง ความสะดวกสบายที่ธรรมชาติมอบให้ ไม่ได้ต่างจากความสะดวกสบายที่คนเมืองได้รับจากสิ่งปลูกสร้าง แต่ไม่ว่าเราจะอยู่ในสภาพแวดล้อมแบบไหน ถ้าได้ช่วยกันดูแล เราก็จะไม่ต้องมามีปัญหากันเรื่องคน หรือป่า หรืออะไรสำคัญกว่ากัน...การรวมกลุ่มทำงานเพื่อชุมชน ทำให้การฟื้นฟูดูแลป่าเป็นเรื่องง่าย เพราะบางครั้งเรี่ยวแรงจากคนคนเดียว ไม่สามารถดูแลป่าทั้งป่า หรือแม้แต่ต้นไม้สำคัญอย่างกระท้อนร้อยปีได้ตลอดเวลา การรอความช่วยเหลือ หรือรอรับโอกาสในการพัฒนา เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นอยู่แล้ว แต่การพัฒนาชุมชนให้เป็นแหล่งท่องเที่ยว พัฒนาป่าให้เป็นพื้นที่สาธารณะ ซึ่งคนโดยรอบสามารถมาใช้ประโยชน์ได้ เป็นสิ่งที่คนอย่างเราและคนในชุมชนสามารถทำได้เลย

เมื่อบังเหมผู้อยู่กับชุมชนและสภาพแวดล้อมอย่างป่าเขามาทั้งชีวิตเล่าถึงประสบการณ์ส่วนตัว และไม่ลืมพูดถึงการทำงานกับคนในชุมชนให้ฟังว่า การรวมกลุ่มกันเพื่อพัฒนาพื้นที่สาธารณะรอบบ้าน นอกจากเกิดประโยชน์เรื่องการอนุรักษ์แล้ว ยังได้เห็นความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันในชุมชน โดยส่วนตัวบังเหมนั้นประทับใจทุกครั้ง ที่ได้เห็นชาวบ้านมารวมตัวกัน ปรับพื้นที่ มาช่วยกันออกแรง เพื่อพัฒนาบ้านนาปริก เพราะนอกจากประโยชน์ที่ชุมชนได้รับแล้ว บังเหมบอกว่า

“ก็เห็น ๆ กันอยู่ว่า ปัญหาความขัดแย้งการทะเลาะเบาะแว้งกันเอง จะถูกคลี่คลายจากจุดนี้”

อย่างไรก็ตาม การพัฒนาชุมชนในรูปแบบต่าง ๆ ยังคงต้องการความช่วยเหลือและความร่วมมือจากรัฐ เพราะชุมชนไม่สามารถทำงานได้โดยลำพัง แน่นอนว่าหากเกิดความร่วมมือกันระหว่างหน่วยงานราชการ ชุมชน และคนในท้องถิ่น เพื่อให้เกิดการพัฒนาพื้นที่อย่างสร้างสรรค์ จะนำมาซึ่งความสุขของผู้เกี่ยวข้องทุกคนอย่างแท้จริง ท้ายที่สุดบังเหมแอบกระซิบบอกว่า

“ถ้าคนรู้จักบ้านตัวเอง ก็จะรักบ้านตัวเอง และจะเป็นผู้มีส่วนร่วมในการพัฒนารอบบ้านด้วยตัวเอง การพัฒนาชุมชนมันสามารถทำได้ในหลายทิศทาง อย่างที่พวกเราพยายามทำให้พื้นที่นี้เป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ และแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติ เราไม่จำเป็นต้องเปลี่ยนบ้านเราเป็นโรงงาน เป็นรถไฟฟ้า เป็นท่าเรือก็พัฒนาได้”

เนื้อหาอื่นๆ

28 พฤศจิกายน 2019
16 ตุลาคม 2018
06 สิงหาคม 2023

Copyright © 2013 THETHAIACT