ลิ้นกับฟัน ปัญหาช่องปากของสังคม
เมื่อสองสิ่งอยู่ใกล้กันย่อมกระทบกระทั่งเป็นธรรมดา แต่ปัญหาครอบครัวไม่ควรมีใครเป็นทั้งลิ้นและฟัน
เรื่องราวจากคำบอกเล่าของ อำนาจ แป้นประเสริฐ เปิดเผยออกมาอย่างสั้นง่าย แต่ได้ใจความ นอกจากนั้นเขายังบอกอีกว่า ตลอดช่วงแรกที่อยู่กินกับภรรยา ถ้าต้องนั่งนับว่าตัวเองเคยใช้ความรุนแรงกับคนรักข้างกายไปมากมายขนาดไหน ทั้งนิ้วมือนิ้วเท้าคงทดวนไปไม่พอนับ
“หนักสุดเลยที่ทำคือบีบคอเขาจนเกือบตาย” นี่เป็นเพียงส่วนหนึ่งของเรื่องเล่าจากชายไทย หนึ่งใน 32 ล้านคน ชายผู้มีความพยายามจะสื่อสารว่า ทุกครั้งที่เขาอารมณ์ไม่ดี อยากหาที่ระบาย หรือเมามายเมื่อไหร่ มันเหมือนกับแข้งขาอยากจะสะบัดทุกที แล้วกระสอบทรายที่ดีที่สุดก็หนีไม่พ้นเมีย
จากผลสำรวจ โดยการเก็บข้อมูลข่าวการทำร้ายร่างกายกันในครอบครัว ของมูลนิธิหญิงชายก้าวไกล พบว่าช่วงครึ่งปีแรกของปี พ.ศ.2563 มีการนำเสนอข่าวเกี่ยวกับความรุนแรงในครอบครัวสูงถึง 350 ข่าว มากกว่าช่วงเวลาเดียวกันของปี พ.ศ.2562 ร้อยละ 12 และ ลักษณะการก่อเหตุส่วนใหญ่ ร้อยละ 62.5 คือสามีทำร้ายร่างกายภรรยา สถิติที่เหลือไม่ได้หมายความว่าภรรยากระทำกับสามีเป็นการตอบโต้ แต่หมายถึง อีกกว่าร้อยละ 26.9 คือข่าวที่สามีกระทำรุนแรงต่อผู้เกี่ยวข้อง เช่น ลูก พ่อ แม่ ญาติพี่น้องของอีกฝ่าย
เหตุผลต่อเรื่องนี้ คุณอังคณา อินทสา หัวหน้าฝ่ายส่งเสริมความเสมอภาคระหว่างเพศ มูลนิธิหญิงชายก้าวไกลได้ให้ความเห็นไว้ว่า “อำนาจชายเป็นใหญ่ คือแรงบวกให้ผู้ชายขาดความยับยั้งชั่งใจ สิ่งเหล่านี้มีอยู่ในครอบครัว และทุกสาขาอาชีพ แล้วยังซ่อนอยู่ในพื้นฐานความคิดของผู้ชายจำนวนมาก การที่ผู้ชายมีความรู้สึกอยู่เหนือกว่า มีอำนาจมากกว่า จึงทำให้เมื่อไหร่ก็ตามที่มีความต้องการจะแสดงออกทันที ส่งผลให้การกระทำความรุนแรง ไปจนถึงการล่วงละเมิดทางเพศ ไม่ว่าจะด้วยคำพูด การกระทำต่าง ๆ เกิดขึ้นจนสังคมรู้สึกว่ามันเป็นเรื่องปกติ”
เช่นกันกับที่ ดร.วราภรณ์ แช่มสนิท ผู้จัดการแผนงานสุขภาวะผู้หญิงและความเป็นธรรมทางเพศ หนึ่งในผู้ประสบเหตุการณ์เคยถูกพยายามข่มขืน จนโดนทำร้ายร่างกายได้กล่าวถึงเรื่องนี้บนเวที The Voiceless Talk : ฟังเสียงจากผู้ไร้เสียงว่า
“ความรุนแรงไม่เลือกชนชั้น ไม่เลือกสถานะการศึกษา ไม่เลือกฐานะทางเศรษฐกิจ ความรุนแรงไม่เลือกอายุ ถ้าความรุนแรงจะเลือก มันจะเลือกเพศ โดยเฉพาะเพศหญิง แล้วอย่างยิ่งในครอบครัวนี่ตัวดี เรามักได้ยินภาษิตสั้น ๆ ว่า ลิ้นกับฟัน ทำให้เห็นว่าการกระทบกระทั่งกันของสามีภรรยาเป็นเรื่องธรรมดา เกิดขึ้นได้เป็นปกติ ถ้าเป็นผู้หญิงจะถูกสอนจนฝังหัว เมื่อแต่งงานออกเรือนไปอยู่กับคู่แล้วต้องอดทน เพื่อลูก เพื่อรักษาครอบครัว แม้จะถูกตบตีก็ต้องทน นี่คือกระบวนการทางสังคมที่ทำให้ความรุนแรงกลายเป็นเรื่องปกติ เป็นเรื่องยอมรับได้ และต้องยอมจำนนให้มันเกิดขึ้น”
การยอมให้ลิ้นกับฟันกระทบกัน ไม่ใช่ความผิดของอวัยวะทั้งสองที่ต้องมาอยู่ใกล้กัน หากแต่มันคือความรับผิดชอบของเจ้าของร่างกาย ซึ่งต้องครองสติ และไม่ประมาทในการดำเนินชีวิต แม้ท้ายที่สุด อาจไม่ใช่เรื่องโชคดีเหมือนตอนจบของเรื่องที่ อำนาจ แป้นประเสริฐ เปิดอกเล่าประสบการณ์เคยใช้ความรุนแรงต่อภรรยา จนสุดท้ายกลับตัวกลับใจ ได้เห็นคุณค่า เพราะเฉียดคุกเฉียดตะรางมา และได้รับการพัฒนาให้เป็นอาสาสมัครของมูลนิธิหญิงชายก้าวไกล และแกนนำชุมชนวัดโพธิ์เรียง ย่านเก่ากลางเมืองหลวง จนกระทั่งมองเห็นผลกระทบของปัญหา แม้ก่อนหน้านี้ไม่รู้ตัวเองอยู่ในฐานะลิ้นหรือฟัน แต่วันนี้ภรรยาของอำนาจ บอกกับทุกคนได้ว่า “เหมือนเขาได้ผัวใหม่” (อ่านเรื่อง : ลูกผู้ชายที่ตายไปแล้ว อำนาจ แป้นประเสริฐ สามีใหม่ในหน้าเดิม บทความจากไทยแอ็ค)
และหากวันนี้คุณที่ไม่ว่าใครก็ตามผ่านไปเห็นความรุนแรง ก็สามารถมีส่วนร่วมได้ทั้งการให้ความช่วยเหลือ หรือแจ้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งภาครัฐและเอกชน เช่น สายด่วน 1300 มูลนิธิหญิงชายก้าวไกล มูลนิธิเพื่อนหญิง มูลนิธิส่งเสริมความเสมอภาคทางสังคม และอีกมากมาย
อย่าให้ปัญหาในช่องปาก กลายเป็นเรื่องต้องมีคนกัดลิ้นตัวเองตาย หรือกลายเป็นการสืบทอดความรุนแรงต่อเนื่อง เมื่อวันที่ปากต้องโดนตบเลือดกลบจนกระทบทั้งลิ้นและฟัน