19 ตุลาคม 2020

ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน

ร่มเงาเล็ก ๆ ให้ผู้เดือดร้อนจากแดดรุนแรงของรัฐบาล

ตลอดสัปดาห์ที่ผ่านมา นับตั้งแต่วันที่ 14 ตุลาคม 2563 การชุมนุมของราษฎร ได้รับการตอบรับและเกิดการมีส่วนร่วมจนขยายการชุมนุมเป็นวงกว้างออกไป ไม่จำกัดเฉพาะเพียงในพื้นที่ศูนย์กลางการปกครองอย่างกรุงเทพมหานคร แต่เกิดขึ้นในต่างจังหวัดอยู่เป็นระยะ จนนำมาซึ่งการควบคุมตัว คุมขังกลุ่มผู้ชุมนุมและแกนนำ จำนวน มากกว่า 35 ราย ในพื้นที่ 5 จังหวัด

หนึ่งชื่อที่มักปรากฏบนหน้าสื่อออนไลน์ เมื่อเกิดเหตุการณ์ควบคุมตัว หรือคุมขังโดยมิชอบด้วยกฎหมาย คือ ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ที่มักมีส่วนร่วมในการช่วยเหลือทางคดีความ รวมทั้งติดตามเยี่ยมเยียน และช่วยเหลือประสานงานทางกฎหมายให้แก่ผู้ถูกจำกัดเสรีภาพ มาโดยตลอด

ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน คือ การรวมตัวของกลุ่มทนายความ นักกฎหมายสิทธิมนุษยชนและนักกิจกรรมทางสังคม เพื่อเผยแพร่ความรู้ และ ดำเนินการให้ความช่วยเหลือทางกฎหมายและคดี ที่เกี่ยวกับการละเมิดสิทธิมนุษยชนและเสรีภาพขั้นพื้นฐานของประชาชน รวมทั้งเป็นแหล่งข้อมูลสำคัญในการรวบรวม ข้อมูล สถิติ ของผู้ได้รับผลกระทบจากการละเมิดสิทธิมนุษยชนมาโดยตลอด

เรียกได้ว่าศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน เป็นกลุ่มประชาสังคมที่เกิดขึ้นเช่น “เงา” ของรัฐประหาร (เริ่มดำเนินงานเมื่อ 24 พฤษภาคม 2557) รวมทั้งเป็นร่มเงาเล็ก ๆ เมื่อแดดพยาบาทของรัฐบาลทำงานอย่างรุนแรง

และเมื่อวันที่ 15 ตุลาคม 2563 ที่ผ่านมา พวกเขาได้ออกแถลงการณ์ กรณีประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงและสลายการชุมนุม โดยมีสาระสำคัญคือ

“การประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงเป็นการยกระดับของสถานการณ์ฉุกเฉินซึ่งก่อให้เกิดสภาวการณ์ทางกฎหมายที่ขยายขอบเขตอำนาจของเจ้าหน้าที่ของรัฐอย่างยิ่ง และก่อให้เกิดการกำหนดข้อกำหนดที่มีปัญหาเรื่องความชอบด้วยรัฐธรรมนูญ เป็นสภาพแวดล้อมที่สิทธิเสรีภาพของประชาชนถูกคุกคามและไม่มีหลักประกันตามรัฐที่เป็นนิติรัฐประชาธิปไตยแต่อย่างใด ทางศูนย์ทนายฯ มีความเห็นว่าการประกาศอำนาจสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงควรจะประกาศใช้เมื่อจำเป็นอย่างยิ่ง มิใช่ประกาศใช้โดยปราศจากเหตุผลทางกฎหมายเฉกเช่นปัจจุบัน ดังนั้นแล้วการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงควรถูกยกเลิกในทันที”

(อ่านแถลงการณ์โดย ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน)

จะเห็นได้ว่า พวกเขาเหล่านี้ไม่ได้ทำงานเพียงเพื่อให้การช่วยเหลือทางกฎหมายเท่านั้น แต่ยังทำงานเพื่อสร้างการสื่อสาร และสร้างการรับรู้ในแง่มุมของกฎหมายผ่านช่องทางสื่อของพวกเขาอย่างต่อเนื่อง

ปัจจุบัน ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน เปิดรับการสนับสนุนทั่วไปจากทุกคน โดยท่านที่สนใจอยากร่วมสนับสนุนการทำงานของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน สามารถบริจาคได้ที่บัญชีมูลนิธิสิทธิเพื่อความยุติธรรม ธนาคาร กรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) สาขาบิ๊กซี ลาดพร้าว 2 เลขที่บัญชี 800-9-54209-4

แม้ไม่เคยมีคำสัญญา แต่เชื่อเถอะว่าหากในสังคมที่เป็นธรรม พวกเขาเหล่านี้จะเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยเหลือให้ผู้ถูกควบคุมตัว คุมขัง ให้ได้รับการปล่อยตัวในเร็ววัน

______________________________

ภาพถ่ายโดย Sarawut Tinwattanakul

เนื้อหาอื่นๆ

07 มีนาคม 2020
17 มกราคม 2019
18 มกราคม 2020

Copyright © 2013 THETHAIACT