การท่องเที่ยวทางเลือก
ทางรอดของกลุ่มชาติพันธุ์ใน จังหวัดสุพรรณบุรี
การเดินทางกลับจากสุพรรณบุรีรอบนี้กับไทยแอ็ค ถือว่าสาหัสพอควร เราออกจากตัวเมืองกันตั้งแต่สี่โมงเย็น จนตะวันลับขอบฟ้ายังไม่มีวี่แวว ว่าจะใกล้ถึง กทม. รถตู้เขยิบอย่างเชื่องช้า เลี้ยวเข้าจอดปั๊มน้ำมัน ผมเดินไปทำธุระในห้องน้ำ พลางนึกในใจว่า ขอฝากมื้อเย็นไว้กับ 7-eleven ในปั๊มละกัน เพราะวันนี้คงถึงบ้านดึกดื่น
"ไม่มีแมส ห้ามเข้านะคะ" เสียงพนักงานสาวพูดกับผมอย่างสุภาพ ผมเดินคอตกออกมา พร้อมนึกในใจ “โลกทุกวันนี้ช่างยากลำบากเสียจริง ทุกอย่างเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอด เพียงเวลาไม่กี่เดือน หน้ากากอนามัยกลายเป็นปัจจัยที่ 5 สำหรับพวกเราเสียแล้ว”
อ่านมาถึงย่อหน้า 3 หลายคนคงสงสัยว่า มันเกี่ยวกับชาติพันธุ์อย่างไร อาจจะแตกต่าง แต่ไม่อาจแยกออกจากกัน พวกเราเผชิญหน้าอยู่กับการเปลี่ยนแปลงร่วมกัน การเปลี่ยนแปลงไม่เคยเลือก เพศ อายุ ฐานะ หรือแม้แต่ชาติพันธุ์การก่อกำเนิด ก่อนจะเดินทางออกมาจากจังหวัดสุพรรณบุรี เราใช้เวลาครึ่งค่อนวัน ในการพูดคุยกับพี่ ๆ กะเหรี่ยง ป้า ๆ ลาวเวียง และคุณยายจากหมู่บ้านไททรงดำ สุพรรณบุรีเป็นจังหวัดที่อยู่ห่างจาก เมืองหลวงเพียง 100 กว่ากิโลเมตร แต่ประกอบไปด้วยกลุ่มชาติพันธ์ุมากถึง 10 ชาติพันธุ์ อันได้แก่ ไทยพื้นถิ่น ลาวครั่ง ญวณ พวน มอญ ลาวเวียง กระเหรี่ยง ละว้า ไทดำ จีน เขมร วันนี้ทุก ๆ กลุ่ม กำลังเผชิญหน้ากับการเปลี่ยนแปลงสุดท้าทาย มากซะยิ่งกว่าการที่พวกเราต้องหาซื้อหน้ากากอนามัยมาใช้ติดตัว เพราะการเปลี่ยนแปลงของพวกเขา อาจหมายถึงการอยู่รอดของชาติพันธ์ุตนเอง บนเส้นทางที่ทางเลือกคือการท่องเที่ยว เป็นเหมือนทางรอด
การท่องเที่ยว
จังหวัดสุพรรณบุรี ถือเป็นจังหวัดท่องเที่ยว ที่กุมความได้เปรียบในแง่ของสถานที่ตั้ง ไม่ห่างไกลจากกลุ่มนักท่องเที่ยวคนเมืองทั้งหลาย แล้วยังประกอบไปด้วยแหล่งท่องเที่ยวน่าสนใจมากมาย เช่น วัดไผ่โรงวัว พระพุทธรูปแกะสลักผาหิน อุทยานมังกรสวรรค์ ตลาดสามชุก อุทยานแห่งชาติพุเตย เป็นต้น และอีกวิถีการท่องเที่ยวที่กำลังมาแรง ได้รับการโปรโมทจากหน่วยงานต่าง ๆ หนีไม่พ้นการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม การท่องเที่ยววิถีชุมชน ที่เหล่าขาเที่ยวทั้งหลาย อยากจะมาสัมผัสวิถีชีวิตชนบท มากกว่าแค่การถ่ายรูปเซลฟี่ตามแลนมาร์คและขับรถกลับบ้าน
การท่องเที่ยววิถีชุมชน ให้อะไรกับนักท่องเที่ยวได้มากกว่านั้น มันให้ความรู้สึกบางอย่างที่คนกรุงถวิลหา “ทวารกะ อู่ทอง” กำลังเป็นอีกหนึ่งสถานที่ท่องเที่ยวใหม่ โดยอาจารย์พรชัย ประมวลสุข ผู้จัดทำโครงการนี้ ได้บอกเล่ากับเราว่า จะสร้างสถานที่แห่งนี้ให้เป็น ศูนย์เรียนรู้ชาติพันธ์ุในจังหวัดสุพรรณบุรี โดยการจำลองทั้งที่พักอาศัย อาหารการกิน ข้าวของเครื่องใช้ รวมถึงเอาพี่น้องชาติพันธุ์ตัวจริงเสียงจริง มาอยู่อาศัยในช่วงสุดสัปดาห์ ขายของพื้นถิ่น ให้นักท่องเที่ยวที่มาเยือนได้สัมผัสบรรยากาศจากคนในชาติพันธุ์นั้นจริง ๆ นับเป็นการท่องเที่ยวทางเลือก สำหรับผู้อยากลิ้มรสชาติการเดินทางแบบใหม่ หรือแม้แต่กลุ่มคนที่สนใจศึกษาในเรื่องของชาติพันธุ์ แล
แต่สำหรับพี่น้องชาติพันธ์ุ การท่องเที่ยวรูปแบบนี้ ถือเป็นทางเลือกที่ดีของพวกเขาหรือไม่ ? นอกจากรายได้ที่เข้ามาหล่อเลี้ยงชุมชน ราคาที่พวกเขาต้องจ่ายคืออะไร?
ทางเลือก
“ถ้าไม่มีการท่องเที่ยว พวกเขาก็ไม่รู้จะใส่ชุดประจำถิ่น หรือมานั่งเย็บจักรถักร้อย ให้ใครดู เขาก็ต้องทำมาหากิน ทำไร่ทำนา เหมือนคนทั่วไป”
อาจารย์พรชัยกล่าวขึ้น ในขณะพวกเรากำลังนั่งฟังแกอย่างสนใจ ถ้าโจทย์คือการดำรงรักษาไว้ซึ่งเอกลักษณ์ อัตลักษณ์ ของชาติพันธ์ุตนเอง ในยุคที่การเปลี่ยนแปลงหมุนเร็วดั่งลูกข่าง กลุ่มพี่น้องชาติพันธ์ุจะมีทางเลือกอะไรบ้างสำหรับการอยู่รอด เป็นคำถามที่มีหลายทางให้เลือกเดิน แต่ละทางส่งผลลัพธ์แตกต่างกัน
คงปฏิเสธไม่ได้เลยว่า รายได้เป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้เกิดทางเลือก หากทางเลือกไหนสามารถก่อให้เกิดรายได้ คงเป็นตัวเลือกที่น่าสนใจให้เดินไปในทิศทางนั้น และคำว่า “รายได้” ไม่ใช่หรือ ที่ทำให้คนในยุคใหม่ ตัดสินใจหันหลังให้กลับรากเหง้าของตน กระโจนเข้าสู่วิถีใหม่ในเมืองที่สามารถสร้างรายได้ดีกว่า เพราะคำว่าชาติพันธ์ุที่ปักอยู่ในใจ ไม่สามารถใช้หาเลี้ยงชีพได้
ผมคงไม่บอกว่า อยู่ต่างจังหวัดไม่เห็นต้องหารายได้อะไรมากมาย ในขณะที่ผมก็ยังวิ่งเป็นหนูถีบจักรอยู่ในสมรภูมิระบบทุนนิยม ที่ยังคงต้องก้มหน้าก้มตาทำงาน หาเช้ากินค่ำไปวันต่อวัน ในเมื่อเราไม่สามารถปฏิเสธการมีชีวิตโดยปราศจากรายได้ หนทางอยู่รอด ก็คือการหารายได้จากเอกลักษณ์เฉพาะของตนเอง….การท่องเที่ยวดูเป็นตัวเลือก ที่สามารถสร้างรายได้ให้แก่ชุมชน และยังสามารถคงไว้ซึ่งเอกลักษณ์ความเป็นชาติพันธ์ุ ให้คนรุ่นต่อไปได้ภาคภูมิใจ หากการบริหารจัดการการท่องเที่ยวนั้นทำได้ดีพอ
ทางรอด
ถ้าการท่องเที่ยวคือทางเลือกที่เป็นทางรอด เพื่อเผชิญหน้ากับการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ โจทย์สำคัญคงอยู่ที่การบริหารจัดการ ผสมผสานการท่องเที่ยวเพื่อก่อให้เกิดรายได้ โดยยังคงไว้ซึ่งวิถีชีวิตดั้งเดิม และขอให้รายได้ที่เข้ามาเป็นตัวเงิน ไม่เผาผลาญตัวตนความเป็นชาติพันธุ์จนหมดสิ้น เพราะขึ้นชื่อว่าเงิน ลองได้เข้ามาแล้วก็ยากจะคาดเดา ผลลัพธ์ที่ตามมาจากคนที่ได้ครอบครอง ในเมื่อเราอยู่ในยุคที่ปฎิเสธเงินไม่ได้ คงเป็นโจทย์ท้าทายให้ได้ขบคิดและติดตาม ว่าการท่องเที่ยวจะเป็นทางรอดหรือจะเป็นตัวกลืนวิถีชีวิตของพวกเขา
นักท่องเที่ยวหรือคนจากภายนอกอย่างพวกเราเอง ก็เป็นอีกหนึ่งตัวแปรสำคัญ ในการมีส่วนช่วยอนุรักษ์ความเป็นชาติพันธ์ุของพวกเขา ผ่านการเคารพในวิถีชีวิต ไม่เรียกร้องความสะดวกสบายจากการเข้าไปท่องเที่ยวเสียเกินไป เพราะเมื่อเราเข้าไปเพื่อเป็นส่วนหนึ่งของชุมชน ก็ควรจะเคารพ ชื่นชมซึ่งวิถีชีวิตดั้งเดิมของพวกเขา เพราะเมื่อเกิดการเคารพในสิ่งใด ผู้ที่ได้รับความเคารพ ชื่นชม ย่อมเกิดความภาคภูมิใจในสิ่งนั้น และคงอนุรักษ์ไว้ซึ่งความงดงามในวิถีชีวิต ขนบธรรมเนียนของตนเอง