01 พฤษภาคม 2021

กลิ่นฉุน น้ำปลี่ยนสี และทุ่งสีทองปริศนา

เหตุการณ์ที่พลิกชะตาบ้านหนองพะวา

“เรารู้สึกว่าทำไมล่ะ? เคยอยู่กันดีๆ มีความสุขทั้งหมู่บ้าน พอโรงงานแค่โรงเดียวมาเปิด ทำให้ชีวิตเราเปลี่ยนไปเยอะถึงเพียงนี้ แล้วทำไมหน่วยงานรัฐถึงทำอะไรไม่ได้ เรื่องมันเกิดมา 10 ปีแล้ว ทั้งอุตสาหกรรมจังหวัด, กรมโรงงาน คุณมีสิทธิ์ตรงนี้เต็มที่ แต่ปล่อยปละละเลย ผมพูดแบบไม่มีอะไรให้กลัวแล้ว” สนิท มณีศรี หนึ่งในชาวบ้านหนองพะวากล่าวถึงสิ่งที่พวกเขากำลังเผชิญ         

บ้านหนองพะวา หมู่ 4 ตำบลบางบุตร อำเภอบ้านค่าย จังหวัดระยอง กำลังประสบปัญหาที่ชาวบ้านในพื้นที่เชื่อว่า มีสารเคมีรั่วไหลออกมาจากโรงงานรับจัดการของเสียแห่งหนึ่ง มันค่อย ๆ ซึมผ่านแหล่งน้ำธรรมชาติ ผ่านวัด โรงเรียน บ้านเรือน สระน้ำ สร้างความเสียหายทั้ง ส่งกลิ่นเหม็น แหล่งน้ำและผืนดินเสื่อมโทรม ชาวหนองพะวากำลังเรียกร้องการเข้ามาแก้ไขปัญหาของภาครัฐ ตลอด 10 ปีที่ผ่านมา และนี่คือสิ่งที่เกิดขึ้นขณะที่ผมก้าวเท้าเข้าไปยืนบนที่เกิดเหตุ

กลิ่นฉุน

เป็นกลิ่นที่ยากจะหาคำอธิบาย มันไม่ได้เหม็นเหมือนซากจากกองขยะ หรือเป็นกลิ่นที่จะเกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ มันเป็นกลิ่นที่ฉุนจนแสบจมูก เป็นความรู้สึกอึดอัดที่ร่างกายตอบสนองต่อพื้นที่บริเวณดังกล่าว ทำให้ผมอยากรีบหนีออกไปจากมันให้เร็วที่สุด กลิ่นที่ว่านี้เกิดขึ้นบริเวณบ่อน้ำเหนือสวนยางของ เทียบ สมานมิตร และบริเวณทุ่งสีทองปริศนา ที่เปลี่ยนสวนยางของชาวบ้านหนองพะวา แบบไม่มีวันหวนกลับมาดังเดิม

“มันเหม็นมาก ! ตอนแรกๆ กลิ่นมันเหมือนส้วมแตก เป็นกลิ่นแก๊สเน่า ๆ เวลาสูดเข้าไป มันจะแสบจมูกแสบตาไปหมด”

เสียงจากครูแขก อารีรัตน์ บุญระยอง ครูพี่เลี้ยงของโรงเรียนอนุบาลนานาชาติตากสินบ้านค่าย ประจำชั้นอนุบาล 1 โรงเรียนที่เธอทำงานอยู่ห่างจากโรงงานระยะทาง 6 กิโลเมตร จึงไม่ได้รับผลกระทบ แต่โรงเรียนหนองพะวาที่ลูกเธอเรียนได้รับผลกระทบเต็ม ๆ

“ก่อนมีโรงงาน เราอยู่กันแบบชุมชนชนบท อากาศบริสุทธิ์ ทางด้านทิศตะวันออกของโรงงานก่อนหน้านี้เป็นทุ่งนากว้าง ทำนาปลูกข้าวปกติ มีสวนยาง ปลูกไร่มัน มีการเลี้ยงสัตว์ น้ำตรงนั้นมันจะไหลลงมาเรื่อย ๆ ตามลำน้ำหนองพะวา แล้วมาลงตรงสระน้ำหนองพะวา น้ำตรงนั้นใสจนเห็นปลาแหวกว่าย แต่ก่อนมันบริสุทธิ์เหมือนชนบททั่วไป” ครูแขกย้อนวันวานถึงช่วงเวลาที่ชุมชนหนองพะวาอยู่กันอย่างสงบสุข ก่อนจะเล่าต่อถึงการไปพบเจอสิ่งหนึ่งเข้า...

“ประมาณปี 2556 ชาวบ้านเราไปเจอขยะในบ่อน้ำที่โรงงานเขาขุด มันเหม็นจนทำให้เครื่องจับกลิ่นพังไป 3 ตัว บ่อเก่าเขาฝังกลบไป เพราะขุดเอาขยะออกมาแล้ว ผู้ว่าราชการจังหวัดได้ลงพื้นที่ และบอกให้ปิดโรงงานเพื่อความสบายใจของชาวบ้าน ชาวบ้านก็ดีใจว่ามีผู้ว่ามาดูแลสารทุกข์สุขดิบ เราไว้ใจเขา ในระยะเวลา 1 เดือนหลังจากนั้น มันเริ่มมีกลิ่นกลับมาเรื่อย ๆ โรงงานเองเขาก็ทำมาเรื่อย ๆ โดยที่ไม่ได้เกรงกลัวกฎหมาย เขาเริ่มขุดบ่อใหม่หน้าโรงงาน” เพื่อให้เห็นภาพชัดเจนยิ่งขึ้น ครูแขกเล่าให้ฟังถึงบรรยากาศภายในโรงงานที่ได้มีโอกาสเดินเข้าไป

“ในนั้นสารเคมีเยอะมาก ตอนเข้าไปดูล่าสุด สารเคมีเป็นถังพลาสติกขาว ๆ มีเหล็กกั้นด้านนอก มันเป็นน้ำสีดำ ๆ และถังก็บวม รั่ว ส่วนด้านในโรงงานเป็นเหมือนขี้เถ้า กากน้ำมันฝุ่นฟุ้งไปหมด ตอนที่อากาศมันร้อนมาก ๆ มันเหมือนมีแก๊สแล้วเกิดควันขึ้นมา”

ถัดไปไม่ถึง 2 กิโลเมตรจากโรงงานดังกล่าว เป็นที่ตั้งของสถานีอนามัย วัด โบสถ์ ชุมชน และโรงเรียนหนองพะวา เด็กนักเรียนตั้งแต่ระดับชั้นอนุบาล จนถึงมัธยมปลายกว่า 536 คน กำลังต้องเผชิญกับผลกระทบจนเกิดอาการต่าง ๆ ตามมา

“กลิ่นมันเหม็นจนเด็กปวดหัว มีวันหนึ่งต้องพาเด็กไปอนามัยใกล้ ๆ เพราะเด็กปวดหัวจนทนไม่ไหว บางคนถึงขั้นเป็นลม คือมันเหม็นมากเหมือนหมักหมมไว้นาน น้ำเสียมันกักขังแล้วไหลไปไหนไม่ได้ พอโดนแดดมันระเหยขึ้นมา” ครูแขกเล่าว่า เด็กบางคนทนกลิ่นเหม็นไม่ไหว จนผู้ปกครองไม่ให้มาโรงเรียน บางคนเกิดอาการคัน และเด็กหลายคนกลายเป็นภูมิแพ้ “ลูกพี่เองเป็นหวัดบ่อย ๆ เหมือนจะกลายเป็นคนแพ้อากาศไปเลย ทั้งที่พ่อแม่ไม่ได้มีประวัติเป็นภูมิแพ้มาก่อน”

ครูแขกยอมรับว่าตอนนี้ ไม่ได้มีหน่วยงานทางสาธารณสุข เข้ามาระบุสาเหตุได้อย่างแน่ชัด ว่าการที่เยาวชนและคนในชุมชนเกิดอาการต่าง ๆ นั้น มันมาจากสาเหตุตามหลักทางการแพทย์อะไรกันแน่ เพราะชาวบ้านที่นี่ถ้าไม่เจ็บป่วยร้ายแรงจริง ๆ ก็เลือกที่จะรักษาด้วยตนเอง แทนการไปหาหมอ

“บางทีพี่กรีดยางอยู่ในสวนยางแล้วได้กลิ่น คือต้องรีบปิดจมูกทันที ถ้าไม่รีบปิดคือหายใจไม่ออก มันแน่นไปหมดเหมือนคนเป็นหวัด” สุดท้ายสิ่งที่ครูแขกอยากจะบอกให้ทุกคนได้รับรู้ และช่วยกระจายข่าวสารเรื่องนี้ออกไปคือ

“ถ้ามันเกิดเหตุการณ์แบบนี้ อยากจะให้ราชการช่วยตรวจสอบสิ่งที่เขานำมาทิ้งในชุมชน เห็นถึงผลเสียที่ประชาชนได้รับ โรงานมันตั้งอยู่กลางย่านชุมชน เราอยากถามหน่วยงานราชการว่า คุณอนุญาตให้เขานำโรงงานเข้ามาตั้งอยู่ได้อย่างไร ครั้งแรกเราทำประชาพิจารณ์แล้วไม่ผ่าน แต่คุณยังให้เขามาตั้ง เหมือนไม่เห็นความสำคัญของประชาชนด้วยกัน คุณเป็นคน เราก็เป็นคน เราแค่อยากให้ชุมชนที่มันเป็นสีเขียว มีสิ่งสวยงามกลับมาเหมือนเดิม”

น้ำเปลี่ยนสี

น้ำสระแรกบริเวณชุมชนใสจนน่าประหลาดใจเมื่อเอ่ยถามสนิท มณีศรี ชาวบ้านหนองพะวา ที่มีบ้านอาศัยอยู่ติดกับบริเวณสระน้ำ ได้ความว่า “ใส่ปูนขาวเข้าไป ทำให้มันใส” ภายใต้ความใสที่ซ่อนไปด้วยความอันตรายดั่งที่สนิทบอกว่า “เมื่อก่อนน้ำในสระนี้เป็นสระน้ำชุมชน ชาวบ้านได้ใช้รดน้ำต้นไม้ หรืออุปโภคต่าง ๆ ภายในชุมชน แต่หลายปีที่ผ่านมานี้ เราไม่สามารถใช้น้ำในสระนี้ได้เลย”


ผมซ้อนมอเตอร์ไซต์สนิท ขึ้นไปเหนือสระน้ำชุมชนเป็นระยะทาง 1 กิโลเมตรเพื่อไปสำรวจบ่อน้ำแห่งที่สอง น้ำบ่อที่สอง อาณาเขตติดกับอาคารโรงงานของบริษัทจัดการของเสียอย่างครบวงจร สีของน้ำดำเมี่ยม เป็นสีดำไม่ชวนมอง พลางคิดต่อไปว่า หากพลาดพลั้งตกลงไปในบ่อ ความตายอาจย่างกรายเข้ามากลืนกินชีวิตได้ในพริบตา สนิทชี้ไปที่บ่อน้ำก่อนบอกว่า ต่อสู้เรื่องนี้มาเป็น 10 ปี แต่เขาไม่ยอมรับว่าที่น้ำเป็นสีดำมันเกิดจากสารเคมีในโรงงานของเขา เขาบอกว่าลุงเทียบเจ้าของสวนยางที่อยู่ติดกับบ่อน้ำ เป็นคนเอาสารเคมีมาใส่


“สระน้ำแห่งนี้หลวงพ่อที่วัดหนองพะวา ท่านมาขอที่ดินชาวบ้าน เพื่อมาทำเป็นสระน้ำสาธารณะ และเป็นสัญลักษณ์ของหมู่บ้าน เวลาจัดงานลอยกระทงก็ใช้น้ำสระนี้ นอกจากนี้ชาวบ้านได้ใช้รดน้ำต้นไม้ หาปู หาปลา เป็นแหล่งทำมาหากินของชาวบ้าน ทั้งเกษตรกรรม อาหาร เราใช้แทบทุกอย่างจากสระน้ำนี้ ส่วนตัวผมเองได้หาปลาไว้กินจนเหลือขาย”

สำหรับสนิทสระน้ำชุมชนแห่งนี้เสมือนแหล่งพักพิง และเเหล่งหาเลี้ยงชีพให้แก่เขาเหมือนคนอื่น ๆ ในชุมชน แต่แล้วเหตุการณ์ทุกอย่างเริ่มเปลี่ยนไปนับตั้งแต่ปี 2555


“ผลกระทบเริ่มต้นเลยคือปลาตาย น้ำจากโรงงานไหลลงมาจนปลาตายลอยเกลื่อน แรก ๆ เป็นปลาตะเพียนตายก่อน ต่อมากุ้งหอยปูปลาเริ่มตายไปด้วย ช่วงปี 2557 2558 หน้าฝนน้ำมาปลามันลอยขึ้น เราคนเคยหากินก็ลงไปดักตะข่ายในสระ ปรากฎว่าผื่นขึ้นทั้งตัว”

สนิทเล่าถึงผลกระทบที่เกิดขึ้น โดยบอกว่าที่มาของปัญหาเกิดจาก มีน้ำทะลักออกมาจากโรงงานช่วงฝนตก มันมีการรั่วซึมออกมาของสารเคมี จะด้วยความตั้งใจหรือไม่ตั้งใจก็ตามแต่ ชาวบ้านไม่ควรต้องมารับผิดชอบกับสิ่งที่ตนเองไม่ได้กระทำ

“เราเคยแจ้งไปทางอบต อำเภอ จนเรื่องไปถึงดีเอสไอ ผู้ตรวจการแผ่นดิน ก็ยังไม่เห็นมีอะไรคืบหน้า ไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงดีขึ้นเลย”


สนิทยอมรับว่าชาวบ้านที่นี่สู้กันมานาน 10 ปี จนกระทั่งมีชาวบ้านหลายคนเลือกจะไม่สู้ต่อแล้ว “บางคนเขาไม่เอาแล้ว มันเหมือนกับว่าหน่วยนี้มาก็แล้ว หน่วยนั้นมาก็แล้ว แต่ทำไมถึงทำอะไรไม่ได้ ไม่ใช่หมดหวังหรอกแต่พวกเราแค่เริ่มเบื่อ มันด้วยความรู้สึกเจ็บปวดว่า เราไปยืนมองสระน้ำ น้ำของเรามีเยอะอยู่ใกล้แค่นี้ แต่เราไม่สามารถนำมาใช้ได้ พูดหยาบ ๆ คือ เอามาล้างก้นยังไม่ได้เลย เราต้องใช้รถไปบรรทุกน้ำมาจากที่อื่น มันเลยรู้สึกว่าเจ็บปวดช้ำใจมาก”

สนิทเล่าให้ฟังว่าในปีไหนที่น้ำแล้งมาก ๆ ชาวบ้านหนองพะวาจำเป็นต้องไปเอาน้ำจากที่อื่นมาใช้แต่อย่างน้อยเขาก็ได้เล่าถึงความหวังที่ยังพอหลงเหลือ “ตอนนี้เริ่มมีความหวังขึ้นมาบ้าง ที่อธิบดีกรมควบคุมมลพิษเขามาลงพื้นที่ด้วยตนเอง และรู้สึกว่าอะไรมันดีขึ้นมา อยากจะฝากทุกหน่วยงานที่สามารถเข้ามาช่วยตรงนี้ได้ เราวิงวอนอ้อนวอนเลยว่า มาช่วยเราหน่อยเถอะ เราเดือดร้อนมา 10 ปีแล้ว” สนิทกล่าวทิ้งท้าย

ทุ่งสีทองปริศนา

ต้นไม้ยืนต้นตายกลางแสงแดดเดือนมีนาคมอย่างน่าอนาจ ผืนดินแตกระแหงเป็นแนวยาว ทุกย่างก้าวที่สัมผัสลงพื้น มันไม่ใช่ผิวดินที่ผมเคยรู้จัก มันยวบแต่ไม่แตกตอนเวลาย่ำผ่าน สีของมันเป็นสีส้มอมเหลือง แลดูไม่เป็นธรรมชาติ เมื่อยืนอยู่กลางทุ่งสีทองแห่งนี้ ผมรู้สึกเหมือนกำลังยืนอยู่ท่ามกลางดาวดวงอื่นที่ไม่ใช่โลก เป็นดวงดาวที่รู้สึกว่าไม่สามารถเป็นที่อยู่อาศัยของสิ่งมีชีวิต กลางทุ่งสีทองไม่มีแม้มด แมลง หรือสิ่งมีชีวิตอื่นใดนอกจากตัวผม และหากยืนอยู่นานกว่านี้ ผมไม่มั่นใจนักว่าจะมีความผิดปกติอะไรเกิดขึ้นกับร่างกายตัวเอง


ผมเจอเทียบ สมานมิตร เจ้าของสวนยางบริเวณร้านขายของชำ ก่อนที่เขาจะเล่าถึงความรู้สึกในฐานะผู้เสียหาย


“ความรู้สึกหรอ โอ้ย! ลองใครมาโดนดูสิ จะขายที่ดินทิ้งก็ขายไม่ได้ มันไม่มีใครอยากเอา อยู่ก็อยู่ไม่ได้ บ้านหลังที่อยู่หน้าสวนยางของลุงน่ะ ธรรมดานอนอยู่ที่นั่นตอนนี้นอนไม่ได้เลย หน้าฝนบริเวณชุมชนเหม็นไปหมด ทั้งวัดทั้งโรงเรียนล้วนได้รับผลกระทบ”

เทียบเล่าให้ฟังต่อว่า สวนยางบริเวณดังกล่าว เป็นที่ดินมรดกตกทอดจากรุ่นพ่อแม่ของเขา สวนยางที่เขาปลูกไว้อายุได้ 17 ปีแล้ว ส่วนบริเวณโรงงานแห่งนั้นแต่ก่อนเป็นที่ของชาวบ้าน ก่อนที่จะมีโรงงานทำอุปกรณ์ไฟฟ้ามาสร้าง แต่ปิดกิจการไปในช่วงค่าเงินบาทลอยตัวใน พ.ศ. 2540 ต่อมาโรงงานรีไซเคิลขยะแห่งนี้มารับช่วงต่อปี พ.ศ. 2554


“แต่ก่อนน้ำในบ่อน้ำของลุงนั้นใส ก่อนหน้านั้นลุงทำสวนผลไม้ ปลูกมะม่วง ปลูกอะไรก็ใช้น้ำบ่อนั้นตลอด มันเป็นน้ำใสสะอาด มีปลาเยอะเยะไปหมด พอปี 54 โรงงานมาเริ่มทำ ปีเดียวน้ำเริ่มเสีย กลายเป็นสีเหลืองๆ และมีกลิ่นเหม็นมาก จนไปเรื่อย ๆ จากสีเหลืองเป็นสีดำ พอปี 60 ต้นยางแถว ๆ บ่อน้ำเริ่มยืนต้นตาย และมันก็ตายมากขึ้นเรื่อย ๆ”


มันคือความสูญเสียที่เทียบเองไม่คิดว่าจะมาเกิดกับที่ดินมรดกของตนเอง และไม่ใช่แค่ที่ของเขาเพียงคนเดียว เทียบเล่าถึงที่มาของทุ่งสีทอง ผืนดินของเพื่อนบ้านเขา


“ส่วนตรงที่โล่งที่มันกลายเป็นสีส้ม ๆ ทอง ๆ นั้น ตอนฝนตกหนักๆ น้ำจากบ่อหน้าโรงงานมันทะลักท่วมออกมา มาขังตรงที่โล่งตรงนั้น พอน้ำแห้งมันก็กลายเป็นสีเหลืองจนหมดเลย แต่ก่อนตรงนั้นเป็นสวนยางเหมือนกัน แต่พื้นที่ของเขาตายก่อนลุง”

เจ้าของสวนยางเล่าให้ฟังถึงความรู้สึกสุดท้าย และฝากฝังเรื่องราวไว้ ก่อนที่เราจะพากันก้าวออกมาจากทุ่งสีทองปริศนาว่า “โห ไม่ต้องพูดเลย มันเครียดมาก…ไม่รู้จะทำอย่างไร ไปเรียกร้องใครก็ไม่ได้ ไปเดินขบวนไปเรียกร้องที่อุตสาหกรรมก็เงียบหมด รายได้หายไปเยอะตั้งแต่เกิดเรื่อง ท้อแล้วมันแทบไม่มีหวัง เพราะโรงงานเขาไม่รับว่ามันเกิดจากเขา แล้วความสูญเสียที่เกิดขึ้นกับพื้นที่ของลุง กับชุมชน มันจะแก้ไขอย่างไรใครจะมาแก้ให้ มีแต่หน่วยนั้นมาก็เงียบ หน่วยนี้มาก็เงียบ ไม่รู้จะทำอย่างไรดีแล้ว”

คืนชีวิตให้หนองพะวา

“การทำงานของภาคประชาชนที่ผ่านมา คือพยายามร้องเรียนทั้งนายอำเภอ อุตสาหกรรมจังหวัด สิ่งแวดล้อมจังหวัด กรมโรงงาน สำนักนายกรัฐมนตรี ผู้ตรวจการแผ่นดิน ร้องสื่อต่างๆ เราพยายามทำทุกวิถีทางจนเราเหนื่อยล้ากันหมดแล้ว มันทำให้เราเกิดความไม่เชื่อมั่นในภาครัฐ”


ภาราดร ชนะสุนทร ประธานกลุ่มเฝ้าระวังน้ำผิวดิน จ.ระยอง กลุ่มที่ทำหน้าที่เฝ้าระวังสำรวจพื้นที่ รับเรื่องร้องเรียนจากผู้ได้รับผลกระทบจากการปล่อยของเสีย ของโรงงานอุตสาหกรรมต่าง ๆ ลงสู่แหล่งน้ำ หรือพื้นที่ชุมชน รวมทั้งช่วยประสานงานกับหน่วยงานรัฐ และติดตามเสนอแนวทางแก้ไขปัญหาร่วมกันกับคนในพื้นที่ ได้กล่าวถึงกระบวนการแก้ไขปัญหาในพื้นที่หนองพะวา ที่พยายามผลักดันมาตลอด 10 ปีแต่ยังไม่เป็นผล


“เราภาคประชาชนถึงจะเป็นผู้เสียหาย แต่ไม่สามารถชี้ได้ว่าต้นไม้ที่ตาย มันตายเพราะเกิดจากอะไร ที่ผ่านมาเจ้าของโรงงานเขาปฏิเสธตลอด” ภาราดรชี้ให้เห็นถึงสิ่งที่ทำให้ปัญหานั้นยืดเยื้อมานาน เพราะไม่มีหลักฐานที่พิสูจน์แน่ชัดว่า การที่น้ำเสีย ต้นไม้ตาย มีกลิ่นเหม็น หรือชาวบ้านมีอาการเจ็บป่วยทางร่างกายนั้น มันเกิดจากสาเหตุอะไร

“ยกตัวอย่างทุกวันนี้ ผมถามอุตสาหกรรมจังหวัดว่า สารเคมีที่แจ้งความและอายัดไว้คืออะไร เขาให้ดูเอกสารเขียนไว้ว่า อายัดของเหลวไม่ทราบชนิด ถ้าผมไปขึ้นศาล ศาลถามว่า ของเหลวไม่ทราบชนิดคืออะไร ผมก็ไม่รู้แล้วชาวบ้านจะฟ้องได้อย่างไร ว่าเขาครอบครองวัตถุอันตราย ถ้าศาลถามต่อว่ามันอันตรายอย่างไร ประชาชนพูดไม่ได้ มันไม่มีผลรับรองทางวิทยาศาสตร์”


เมื่อไม่มีผลรับรองยืนยัน การกล่าวหาว่าความเสียหายที่เกิดขึ้นนั้น มาจากทางโรงงานฝ่ายเดียว ก็ไม่มีข้อพิสูจน์ที่หนักแน่นเพียงพอ จนกระทั่งภาราดรเริ่มมีความหวังในกระบวนการยุติธรรม ที่ชาวบ้านสามารถจะต่อสู้ได้


“หลังจากที่เราได้ออกสื่อช่องหนึ่ง ปรากฎว่าข่าวมันไปถึงกรมควบคุมมลพิษ ทางอธิบดีเขามาลงพื้นที่ เขาทำการวิเคราะห์ทั้งข้างนอกข้างในโรงงาน เริ่มทำการพิสูจน์ว่า มันเป็นสารเคมีตัวเดียวกันที่ปนเปื้อนออกมาหรือไม่ จากนั้นประสานงานกับหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้องเช่น ประสานงานไปยังสาธารณะสุข ว่าชาวบ้านมีการเจ็บป่วยมีสารตกค้างในร่างกายไหม นี่คือกระบวนการที่เรารอคอยมาตลอด”

ภาราดรและสนิท มณีศรี ชาวบ้านในพื้นที่ ต่างบอกเป็นเสียงเดียวกันว่า เริ่มมีความหวังว่าปัญหาจะคลี่คลายและจบลงได้ จากการเข้ามาช่วยเหลือของกรมควบคุมมลพิษ แต่ต้องติดตามกันต่อไป ดั่งที่ภาราดรได้พูดถึงกระบวนการทำงานต่อจากนี้ว่า “วิธีการแก้ไขปัญหาที่ดีที่สุดต่อจากนี้คือ การบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัด โดยแบ่งเป็น 2 ภาคส่วนคือ 1.ทางภาครัฐโดยกรมควบคุมมลพิษ เข้าไปดูว่ามันมีผลกระทบต่อทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเสียหายอย่างไรบ้าง ในที่สาธารณะสิ่งเหล่านี้ต้องให้ภาครัฐเป็นผู้ดำเนินการ ฟ้องร้องค่าเสียหายเพื่อนำกลับมาเยียวยาฟื้นฟูพื้นที่ ให้กลับสู่สภาพเดิม


“ในส่วนของภาคประชาชน ความเสียหายที่เกิดขึ้นกับพื้นที่ของเขา คงต้องเรียกร้องทั้งค่าเสียโอกาส ความเสียหายที่เกิดขึ้น การเยียวยาฟื้นฟู ชาวบ้านต้องฟ้องเพื่อเรียกร้องความยุติธรรม”

ต่อจากนี้ คาดหวังว่าปัญหาทุกอย่างจะคลี่คลาย ในวันที่ผลพิสูจน์ทางวิทยาศาสตร์ออกมา แต่สุดท้ายถึงปัญหาที่หนองพะวาจะจบลง แต่ยังมีอีกหลายกรณีแบบนี้เกิดขึ้นในภาคตะวันออก ภูมิภาคที่มีการเกิดขึ้นของโรงงานอุตสาหกรรมทุกหัวระแหง สวนทางกับการเสื่อมโทรมของทรัพยากรธรรมชาติ ภาราดรได้กล่าวทิ้งท้ายถึงสถานการณ์ที่น่าเป็นห่วงในเขตภาคตะวันออกสั้น ๆ ว่า

“ภาพรวมปัญหาน้ำผิวดินเสื่อมโทรมไม่ได้ดีขึ้นเลย ตราบใดที่เรายังเจอการลักลอบทิ้งสารเคมี ตามลำคลอง บ่อน้ำ เอาขยะไปกองอยู่ริมคลอง มีการฝังกลบกากสารเคมีโดยไม่ปูแผ่นยาง ทุกเดือนๆ สิ่งเหล่านี้มันทำให้เราเห็นว่าสถานการณ์ไม่ดีขึ้น น้ำก็จะเริ่มแย่ลงๆ ทุกวัน นี่คือเหตุลผลว่าทำไมเราต้องตั้งกลุ่มเครือข่ายน้ำผิวดินขึ้นมา เพื่อเฝ้าระวังทั้ง ๆ ที่ค่าแรงเราก็ไม่มี หน่วยงานราชการเขาก็ไม่ได้รับรองเรา แต่จำเป็นต้องทำ ถ้าเราไม่ทำไม่ยอมเจ็บตัว ไม่ยอมเหนื่อย แล้วลูกหลานในอนาคตจะอยู่กันอย่างไร เพราะว่าเราพึ่งใครไม่ได้อีกแล้ว หน่วยงานราชการ นักการเมืองท้องถิ่น มันกลายเป็นธุรกิจกันไปหมดแล้ว”



เนื้อหาอื่นๆ

25 มีนาคม 2021
18 กันยายน 2022
18 มกราคม 2020

Copyright © 2013 THETHAIACT