สำรวจผู้เคลื่อนไหวไม่เอารัฐประหารพม่าเลียบแนวชายแดน
ตำรวจไทยจับกองกำลังพิทักษ์ประชาชนส่งให้แก่ทหารพม่าจนมีอันตรายถึงชีวิต ขณะกะเหรี่ยงเคเอ็นยูวอนไทยผ่อนยืดหยุ่นผลักดันผู้ลี้ภัยกลับ ด้านสมาคมช่วยเหลือนักโทษการเมืองพม่าแฉกฎอัยการศึกห้ามนักโทษมีทนายและพบญาติ โรงพยาบาลสนามอูมินท่าเปิดบริการครบ 1 ปี แต่ยังขาดแคลน
ปลายเดือนมีนาคมที่ผ่านมา คณะสื่อมวลชนจากหลายสำนักข่าวเดินทางจากกรุงเทพฯ ไปยังพื้นที่ชายแดนไทยพม่าบริเวณจังหวัดตากและจังหวัดแม่ฮ่องสอน ตามคำเชิญของมูลนิธิศักยภาพชุมนุม ที่จัดโปรแกรมไว้อย่างหนาแน่น เพื่อเรียนรู้และทำความเข้าใจปรากฎการณ์ด้วยตัวเอง นอกเหนือจากการรับรู้จากข่าวทั่วไป
อาทิ พม่าเกิดรัฐประหารเมื่อ 2 ปีก่อน, ความไม่สงบบริเวณชายแดน, ผู้ลี้ภัยสงคราม, เครื่องบินกองทัพพม่าล้ำเข้าน่านฟ้าไทย และทหารไทยส่งเสบียงให้ทหารพม่า ฯลฯ
บทความนี้นำเสนอเรื่องราวที่ไม่ค่อยปรากฏในข่าวกระแสหลัก ประกอบกับมุมมองจากผู้เขียน โดยชื่อบุคคล ชื่อสถานที่ ภาพถ่าย บางส่วนไม่สามารถระบุและเผยแพร่ได้ ด้วยข้อจำกัดด้านความปลอดภัย
รถโดยสารพาคณะเรามาถึง อ.แม่สอด จ.ตาก เมื่อวันที่ 23 มีนาคม 2566 ความตั้งใจแรกคือ ข้ามฝั่งไปเยี่ยมชมบ่อนคาสิโน ที่ จ.เมียวดี แต่ความล่าช้าในการเดินทางทำให้เราเปลี่ยนแผนเพราะใกล้เวลาด่านปิด
ที่ริมฝั่งแม่น้ำเมย เราพบภาพบรรยากาศผ่อนปรน อาทิ การข้ามแม่น้ำเมยจากไทยไปพม่าผ่านช่องทางธรรมชาติ และการค้าขายสินค้าปลอดภาษีตามแนวชายแดน อาทิ สุรา ยาสูบ ฯลฯ ที่ผู้ค้าอยู่โน้นแต่ผู้ซื้ออยู่ฝั่งนี้
ย้อนกลับไป เมื่อวันที่ 12 มกราคมที่ผ่านมา จุดผ่านแดนถาวร ด่านพรมแดนแม่สอด-เมียวดี กลับมาเปิดอีกครั้ง หลังปิดตัวไปถึง 3 ปีในช่วงโควิด โดย จ.เมียวดี เป็นที่ตั้งของเขตเศรษฐกิจพิเศษ ทำให้การค้าชายแดนเมื่อปีงบประมาณ 2565 มีสูงกว่า 130,000 ล้านบาท เป็นตัวเลขที่สูงที่สุดนับแต่เปิดด่านพรมแดน การเติบโตดังกล่าวเกิดจากกลุ่มทุนจากจีนมาลงทุน
จ.เมียวดี เป็นที่ตั้งของเมืองใหม่ชื่อว่า “ชเวโก๊กโก่” ของทุนจีน รายงานข่าวจากสื่อไทยแจ้งว่า บางพื้นที่เต็มไปด้วยธุรกิจพนันออนไลน์ และฐานทำงานของแก๊งสแกมเมอร์ ที่มีคนจากหลายประเทศถูกบังคับให้ทำงาน จนกลายเป็นปัญหาอาชญากรรมระดับนานาชาติ
เพื่อให้เกิดความกระจ่าง เราสอบถามผู้เชี่ยวชาวประเทศพม่าที่มาลงพื้นที่ด้วยกัน ว่า ธุรกิจสีเทา กองทัพพม่า และกองกำลังฝ่ายต่อต้าน มีความสัมพันธ์กันอย่างไร
ทำไมในพื้นที่เหล่านี้ถึงไม่มีการโจมตี
คือ คำตอบที่ตอบด้วยคำถามของ กฤษณะ โชติสุทธิ์ อาจารย์ ม.นเรศวร และว่า ...เราแทบจะไม่เห็นการปะทะในบริเวณคาสิโน และเขตชเวโก๊กโก่ ทั้งที่พื้นที่เหล่านี้เป็นพื้นที่ล่อแหลม และเป็นจุดยุทธศาสตร์ทางการเมือง ทำไมพื้นที่ดังกล่าวอยู่ในภาวะปลอดสงครามตลอดเวลาที่มีสงคราม
แต่อีกสองวันถัดมา (25 มี.ค.) เหตุการณ์ที่ไม่คาดคิดก็เกิดขึ้น กฤษณะแจ้งกับคณะของเราที่เดินทางออกจากพื้นที่แล้วว่า มีการปะทะกันที่ จ.เมียวดี ตั้งแต่ช่วงเช้า เสียงปะทะได้ยินมาถึงฝั่งไทย ข่าวรายงานว่า กองกำลังพิทักษ์ประชาชน (PDF) ร่วมกับทหารของสหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยง (KNU) (ทั้งคู่คือกลุ่มต่อต้านรัฐบาลทหารเมียนมาตั้งแต่หลังรัฐประหาร) ได้บุกเข้าโจมตีเขตเศรษฐกิจพิเศษ จ.เมียวดี ผลกระทบต่อเหตุการณ์บุกโจมตีเขตเศรษฐกิจพิเศษทำให้ เมื่อวันที่ 1 เมษายนที่ผ่านมา กองกำลังพิทักษ์ประชาชน 3 คนถูกตำรวจตรวจคนเข้าเมืองแม่สอดจับกุม ขณะข้ามมารักษาพยาบาลที่ฝั่งไทย องค์กรบางแห่งพยายามเจรจากับตำรวจแต่ไม่เป็นผล เมื่อวันที่ 4 เมษายนที่ผ่านมา ตำรวจส่งตัวบุคคลทั้งสามคนกลับไปยังพม่า โดยมอบตัวให้กับกองกำลังพิทักษ์ชายแดน (BGF) ของกองทัพเมียนมา ในสภาพถูกมัดมือมัดเท้าและถูกปิดตา ข่าวแจ้งว่ามีความพยายามหลบหนี ส่งผลให้หนึ่งคนถูกยิงเสียชีวิต อีกสองคนถูกส่งตัวเข้าเรือนจำ
มีการตั้งข้อสังเกตว่า การจับกุม ส่งกลับ และถูกสังหาร มีส่วนเกี่ยวข้อง กับการบุกโจมตีเขตเศรษฐกิจจังหวัดเมียวดี ซึ่งเกิดขึ้นเป็นครั้งแรก และการส่งกองกำลังพิทักษ์ประชาชนกลับพม่า ทำให้รัฐบาลไทยถูกตั้งคำถามว่า เป็นการส่งกลับที่ผิดมาตรฐานการส่งผู้ลี้ภัยกลับประเทศที่ต้องคำนึงถึงความปลอดภัย และบุคคลนั้นจะไม่ได้รับอันตรายหรือไม่
คณะเรามีโอกาสข้ามฝั่งไปยังฐานที่มั่นของ KNU เราสังเกตว่า บริเวณดังกล่าวเป็นพื้นที่ราบระหว่างแม่น้ำเมย (แม่น้ำเมยกั้นระหว่างไทยกับพม่า) กับภูเขาหลายลูก ซึ่งเป็นจุดยุทธศาสตร์ที่ดีเพราะยากต่อการเข้าตีของกองทัพพม่า ทำให้กองทัพพม่าต้องใช้การโจมตีทางอากาศก่อน แล้วค่อยให้ทหารราบตามเข้ามา
การโจมตีทางกาศ เป็นการโจมตีที่ไม่สามารถกำหนดเป้าหมายได้อย่างแม่นยำ ส่งผลให้พลเรือนถูกลูกหลง ที่ฐานของ KNU จึงต้องมีหนังสือประกอบรูปภาพวิธีหลบภัยทางอากาศไว้แจกจ่ายแก่ประชาชนซึ่งการโจมตีทางอากาศในเขตพลเรือน เป็นการกระทำที่ขัดกับกติกาของกฎหมายสงคราม อาทิ การไม่โจมตีสถานพยาบาล การไม่ทำร้ายผู้ที่ยอมจำนน ฯลฯ
การลงพื้นที่ครั้งนี้ทำให้เรามองออกว่า สาเหตุที่เครื่องบินรบพม่ารุกล้ำเข้ามายังฝั่งไทยตามข่าวเมื่อปีที่แล้ว เป็นเพราะพื้นที่เป้าหมายติดกับประเทศไทย เครื่องบินจึงมีโอกาสล้ำเข้ามาฝั่งไทย ซึ่งการสนับสนุนการบินโจมตี คือการสนับสนุนการละเมิดสิทธิมนุษยชน
การสู้รบส่งผลให้ชาวกะเหรี่ยงต้องลี้ภัยสงครามเข้ามายังฝั่งไทยอยู่เนือง ๆ ในประเด็นนี้ เลขานุการร่วม KNU บอกกับสื่อมวลชนไทยว่า ขอให้ทางการไทยพิจารณาความเหมาะสมของการผลักดันผู้ลี้ภัยกลับประเทศต้นทาง เนื่องจากเมื่อครบ 72 ชั่วโมงตามกำหนดแล้ว บางครั้งสถานการณ์สู้รบยังไม่สงบ
ส่วนจุดยืนของ KNU คือ “สหพันธรัฐ และทหารพม่าลงจากอำนาจ”
อีกฟากหนึ่งของฐานที่มั่น มีโครงการอบรมผู้สื่อข่าวพลเมือง หลักสูตร 15 วัน โดยสำนักข่าวพม่าแห่งหนึ่ง เพื่อให้ผู้เข้าอบรมมีพื้นฐานด้านการสื่อสาร ผู้เข้าอบรมกว่า 10 คน เป็นคนหนุ่มสาวจากหลายพื้นที่ อาทิ ยะไข่ สะกาย ย่างกุ้ง ฯลฯ พวกเขามาที่นี่เพราะต้องการเรียนรู้ด้านการสื่อสารเพื่อถ่ายทอดความเป็นจริงในพม่าให้คนทั่วไปได้รับรู้
หลังจบการอบรม บางคนอยากเป็นผู้ประกาศข่าว บางคนอยากเป็นผู้สื่อข่าวภาคสนามเพื่อกลับไปปฏิบัติงานในพื้นที่ของตัวเอง บางคนยอมถ่ายภาพ และเขียนข่าวแม้จะไม่ได้รับค่าตอบแทน บางครั้งขณะรายงานข่าวเขาต้องปกปิดตัวตนเพื่อป้องกันการถูกทหารจับกุมซึ่งจะทำให้พวกเขาถูกส่งเข้าเรือนจำและกลายเป็นนักโทษการเมือง
“ถูกตัดสินประหารชีวิตอย่างไม่ยุติธรรม”
คือข้อความบนกระดาน อธิบายสาเหตุที่นักโทษการเมือง 4 คน ที่ถูกประหารชีวิตในเรือนจำ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของนิทรรศการประจำพิพิธภัณฑ์ AAPP ที่รวบรวมการต่อสู้ของประชาชนพม่าตั้งแต่ปี 2505 (ปีที่นายพลเนวินรัฐประหารแล้วเปลี่ยนพม่าเป็นประเทศเผด็จการ) โดยมีภาพถ่าย ข้อมูลการชุมนุม และข้อมูลของเรือนจำ นอกจากนี้ สมาคมช่วยเหลือนักโทษการเมือง (พม่า) หรือ AAPP ยังทำหน้าที่รายงานข้อมูลนักโทษการเมืองรายวัน อาทิ ผู้ถูกจับกุม คดีความ และผู้ถูกปล่อยตัว เพื่อสื่อสารกับคนพม่า และสังคมโลก
เพื่อมองให้เห็นภาพ ขอเปรียบสมาคมช่วยเหลือนักโทษการเมือง (พม่า) กับศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนของไทย ที่มีลักษณะการทำงานคล้ายคลึงกัน โดย AAPP จะให้ความช่วยเหลือนักโทษการเมืองในพม่าด้วยการส่งทนายความไปพบ พร้อมกับส่งเงิน และสิ่งของไปให้
ทีมงาน AAPP ซึ่งส่วนหนึ่งคือผู้ต่อต้านรัฐบาลทหารพม่า เมื่อปี พ.ศ. 2531 เล่าว่า กฎหมายของพม่าที่นำมาใช้กับนักโทษการเมืองหลังรัฐประหาร ประกอบด้วย กฎหมายต่อต้านการก่อการร้าย กฎหมายต่อต้านข่าวปลอม (505A) และกฎอัยการศึก (คล้ายคลึงกับ ม.44 ของคสช.) ผู้ที่ถูกจับกุมด้วยกฎอัยการศึก จะถูกพิจารณาคดีในศาลทหาร โดยไม่โอกาสปรึกษามีทนายความ ส่วนขั้นตอนการดำเนินคดีคือ การรอฟังคำพิพากษาโดยไม่มีการไต่สวน
“ญาติจะไม่รู้ว่าพวกเขาถูกจับกุมไปที่ไหน จึงออกตามหา ไปถามตำรวจตำรวจก็จะไม่มีคำตอบให้ จนกว่าพวกเขาจะตาย หรือถูกตัดสินจำคุก”
ปัจจุบันพม่ายังห้ามญาติเข้าเยี่ยมนักโทษการเมือง
นั่งเรือข้ามแม่น้ำสาลวินไปที่สถานพยาบาลอูมินท่า ฝั่งตรงข้าม อ.แม่สะเรียง จ.แม่ฮ่องสอน โรงพยาบาลขนาด 10 เตียง เปิดบริการมาได้ 1 ปีแล้ว รับรักษาทั้งผู้บาดเจ็บจากการสู้รบ และประชาชนทั่วไป ไปแล้วประมาณ 1,700 - 1,800 คน
ทวีวิทย์ ดิบือแฮ กรรมการสมาคมกะเหรี่ยงไทย และผู้ประสานความช่วยเหลือฉุกเฉิน มูลนิธิสุวรรณนิมิต กล่าวว่า
พี่น้องชาวกะเหรี่ยงบริเวณชายแดนร่วมกันสร้างสถานพยาบาลนี้เพื่อรองรับผู้ป่วยจากฝั่งพม่า และเพื่อลดภาระของการส่งตัวผู้ป่วยข้ามไปรักษาในฝั่งไทย และถ้าสถานพยาบาลมีความพร้อมมากกว่านี้ก็จะลดการส่งตัวได้เพิ่มขึ้น (ปัจจุบันยังต้องส่งผู้ป่วยหนักไปไทย) สิ่งที่ต้องการคือ เครื่องเอ็กซ์เรย์ เครื่องมือผ่าตัด ยาฉุกเฉิน และเครื่องเติมอ็อกซิเจน ฯลฯ
ข้ามกลับมายังสถานพยาบาลอีกแห่งที่ อ.แม่สะเรียง ที่นี่เป็นจุดรับผู้ป่วยจากฝั่งพม่าเพื่อส่งต่อไปโรงพยาบาลอื่นและเป็นจุดพักฟื้นก่อนส่งตัวกลับฝั่งพม่า ในวันที่เราเข้าไปเยี่ยม มีผู้ป่วยถูกส่งมารักษาตัว 7 คน ทั้งหมดเป็นเพศชาย พวกเขาถูกส่งต่อไปโรงพยาบาลรัฐแห่งอื่น ส่วนค่ารักษาพยาบาลมีองค์กรเอกชนจากต่างประเทศเป็นผู้สนับสนุน ทำให้ไม่ต้องรบกวนงบประมาณของรัฐบาลไทย