13 กันยายน 2022

เพราะชื่อเสียงโรงเรียนไม่ควรใหญ่คับฟ้า ?

เมื่อกลุ่มนักเรียนรวมกันออกมาเรียกร้องว่า “หยุดปิดปากกันด้วยวาทกรรม ชื่อเสียงโรงเรียน”

ปฏิเสธไม่ได้ว่า ปัจจุบันปัญหาการถูกละเมิดสิทธิส่วนบุคคล หรือใช้ความรุนแรงในสถาบันการศึกษาทั้งจากเพื่อนนักเรียนด้วยกัน หรือจากครูอาจารย์ต่อเด็กนักเรียน ในรั้วโรงเรียน อาจเป็นไปเพื่อหยอกล้อ ป้องปราม และสั่งสอนที่ส่งต่อรูปแบบการกระทำมาอย่างต่อเนื่องจากอดีตสู่ตามสำนวน “รักวัวให้ผูก รักลูกให้ตี” ไม่ว่าจะโดยตั้งใจหรือไม่ตั้งใจก็ตาม

แต่เมื่อใดก็ตามที่ “ปัญหา” เกิดขี้นแล้ว ผู้มีอำนาจในสถานศึกษา ไม่ว่าจะครูอาจารย์ที่เกี่ยวข้อง ฝ่ายปกครอง หรือกระทั่งผู้รับผิดชอบโดยตรงคือผู้อำนวยการโรงเรียน พยายามจะยุติปัญหาด้วยการ “ห้ามพูด” ขอให้จบ โดยอ้างเหตุผลเพื่อไม่ให้เสื่อมเสียชื่อเสียงของโรงเรียนนั้น นับเป็นความ “ตั้งใจ” ที่จะซ้ำเติม เพิ่มความรุนแรง และเป็นการกระทำซ้ำต่อผู้ได้รับผลกระทบอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ...

การกระทำเหล่านั้นเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องซ้ำแล้วซ้ำเล่า จนเป็นเหตุผลให้กลุ่มนักเรียนนอกห้อง กลุ่ม Society และกลุ่มนักเรียนมูฟออน ได้จัดกิจกรรมเชิงสัญลักษณ์เมื่อวันที่ 10 กันยายนที่ผ่านมา บริเวณลานกว้างหน้าหอศิลปวัฒนธรรมกรุงเทพเพื่อส่งสาส์นถึงโรงเรียนต่าง ๆ ที่กำลังมีพฤติกรรมดังกล่าวภายใต้แนวคิด โดนปิดปากด้วยวาทกรรม ชื่อเสียงโรงเรียน

หนึ่งในตัวแทนของกลุ่มนักเรียนนอกห้อง พูดถึงเรื่องนี้ในขณะทำกิจกรรมโดยมีสก็อตเทปก็อตเทปสีดำปิดปากว่า

“กลุ่มของเรามาจากตัวแทนนักเรียนจากหลายสถาบัน ทั้งสายสามัญและอาชีวะ ที่ร่วมกันเฝ้าดู ติดตาม และคอยเป็นเพื่อนให้คำปรึกษา รวมทั้งหากเรื่องไหนช่วยกันแก้ปัญหาได้ก็จะช่วยกัน แต่ในปีที่ผ่านมากลุ่มนักเรียนนอกห้องเราได้รับเรื่องร้องเรียนมาไม่ต่ำกว่า 30 กรณี และมากกว่า 10 เรื่อง ที่เกิดปัญหาการปิดปากนักเรียนไม่ให้มาร้องเรียน หรือไม่ให้นำข้อมูลมาเปิดเผยต่อสาธารณะ ทั้งที่การแก้ปัญหานั้นก็ยังไม่จบ และผู้ได้รับความเสียหายก็ยังไม่ได้รับความเป็นธรรม”

เมื่อสอบถามถึงเรื่องราวที่พบมาก นอกจากปัญหาท้องไม่พร้อมแล้ว ยังมีเรื่องที่เข้าข่ายต่อการถูกรุกล้ำสิทธิและเสรีภาพ หรือการต้องทนต่อการใช้อำนาจเกินขอบเขต ที่ไม่สามารถอ้าปากสอบถามเหตุผลได้ เช่น กรณีถูกกร้อนผมเปิดหนังศีรษะจนทำให้อับอาย ทั้งที่ระเบียบโรงเรียนบังคับให้ตัดทรงรองหวี (ไม่ต้องไถขาว) กรณีนักเรียนพยายามร้องขอเหตุผลที่เด็กทุกคนต้องถูกยึดโทรศัพท์มือถือหากนำมาโรงเรียน แล้วจะได้รับคืนในเวลาเลิกเรียน จนกลายเป็นถูกไล่ออกเพราะเห็นว่าเป็นการ “ประท้วง” สถาบัน หรือกระทั่งปัญหาการถูกตัดโควตาเรียนต่อชั้นมัธยมปลายหากผู้ปกครองของเด็กไม่มาร่วมประชุมผู้ปกครองตามกำหนดของครูอาจารย์ จนส่งผลกระทบต่ออนาคตการศึกษาของนักเรียนสายสามัญศึกษาจำนวนหนึ่ง และแน่นอนว่าหากมีความเคลื่อนไหว หรือไม่ยอมรับเหตุผลจะกลายเป็น “ผู้กระด้างกระเดื่อง” ซึ่งมีความเสี่ยงให้อาจไม่จบการศึกษาชั้นมัธยมต้นได้ในทันที

และจากการพูดคุยกับหนึ่งในนักเรียนที่มาร่วมกิจกรรมก็ทำให้เห็นว่า การแก้ปัญหาอย่างตั้งตนเป็นกลาง โดยไม่อ้างเอาแต่ชื่อเสียงของสถาบันอาจเป็นการดีกว่า ไม่ว่าจะเกิดปัญหาใดขึ้นในโรงเรียนก็ตาม

“ คือการที่โรงเรียนปกปิดความผิดและกล่าวหานักเรียนโดยอ้างข้อหาว่า ทำลายชื่อเสียงโรงเรียน เป็นการเกื้อหนุนระบอบทุจริตนิยม และเป็นการบริหารโรงเรียนด้วยความมิชอบทางจรรยาบรรณ ลองคิดดูว่าถ้าในฐานะที่คุณครู หรือผู้ใหญ่ในฐานะต้นแบบของเยาวชนพยายามรณรงค์ พยายามพูดปากเปียกปากแฉะว่า อย่าโกงแต่การกระทำของคุณสวนทางกัน นักเรียนก็คงไม่เชื่อ เพราะในชีวิตจริงตัวแบบสำคัญกว่าคำพูด

ดังนั้น การที่เราออกมารวมกลุ่ม เรียกร้อง ก็เพื่อเป็นสัญญาณเตือนให้ทางโรงเรียนหยุดการกระทำเหล่านี้เสีย และหวังจะสื่อสารกับเพื่อน ๆ นักเรียนด้วยกันว่า เมื่อตนเองถูกละเมิดสิทธิหรือต้องเผชิญกับการใช้อำนาจที่ไม่เป็นธรรม ตนเองนั้นมีสิทธิ์ที่จะเรียกร้อง ทางผู้กระทำไม่มีสิทธิที่จะปกปิดความผิดและข่มขู่ผู้ถูกกระทำ สำคัญที่สุดที่จะเกิดประโยชน์อย่างยิ่งก็เพื่อมิปล่อยให้อำนาจมืดลอยนวลอยู่ในสังคม”

โดยกิจกรรมของกลุ่มนักเรียนเหล่านี้นอกจาก จะมีการแสดงออกเชิงสัญลักษณ์อย่างสงบแล้ว นอกจากนั้นยังมีการจัดทำโพลล์เพื่อสอบถามความคิดเห็นของประชาชนเกี่ยวกับปัญหาการอ้างวาทกรรม “ชื่อเสียงโรงเรียน” ตลอดทั้งเย็นด้วยซึ่งคำตอบที่ได้รับจากการจัดกิจกรรม อาจไม่สำคัญเท่ากับการตอบคำถามนี้ในใจของทุกคนว่า ควรแล้วหรือไม่ที่ “ชื่อเสียงของโรงเรียน “จะยิ่งใหญ่ไปกว่าการแก้ปัญหาเมื่อมีเรื่องใดเกิดขึ้นในโรงเรียน?

สำหรับท่านที่สนใจสามารถติดตามความเคลื่อนไหวของกลุ่มนักเรียนที่ออกมาปกป้องสิทธิของตัวเองเหล่านี้ได้ที่

เฟซบุ๊ก นักเรียนนอกห้อง  / นักเรียนมูฟออน /

เนื้อหาอื่นๆ

17 ธันวาคม 2019
23 ธันวาคม 2018
13 มิถุนายน 2020

Copyright © 2013 THETHAIACT