16 ธันวาคม 2024

ธรรมนูญประชาชน บนพื้นฐานเมืองธรรมเกษตรอำนาจเจริญ

: บทเรียนสำคัญที่ส่งผลต่อการพัฒนาเมื่อผลเมืองมีส่วนร่วมกำหนดอนาคตตนเอง

หนึ่งในมรดกตกทอดที่อำนาจเจริญได้รับภายหลังจากการแยกตัวออกมาจากจังหวัดอุบลราชธานี คือ การมี GDP ต่อหัวต่ำที่สุดในประเทศไทย โดย ชาติวัฒน์ ร่วมสุข จากสภาองค์กรชุมชนอำนาจเจริญ นิยามและประเมินตนเองว่า เป็นจังหวัดที่ยากจนที่สุดในชาติ กลายเป็นปมและแผลที่ฝังในใจทำให้ในปี พ.ศ. 2553 ภาคประชาสังคมทั้งหลายในจังหวัด ได้เริ่มต้นร่วมกันคิดถึงเรื่องการข้าวข้ามและนำพาคนอำนาจเจริญพ้นผ่านปมเหล่านี้

จากจุดเริ่มพวกเขาเห็นพ้องว่า ปัจจัยสำคัญของเรื่องคือการปราศจาก “โครงสร้างทางสังคมที่เอื้ออำนวยให้ทุกคนมีส่วนในการกำหนดชีวิตตัวเอง” จึงได้มีกิจกรรมรวบรวมสิ่งดีที่เกิดขึ้นในจังหวัดออกมาได้ 114 เรื่อง จนนำไปสู่การจัดทำธรรมนูญประชาชนคนอำนาจเจริญ 114 ข้อ เพื่อเป็นข้อตกลงร่วมกันเพื่อกำหนดความอยู่ดีมีสุข ที่ภาคพลเมืองจะลุกขึ้นมาดูแล และจัดการพัฒนาชุมชน ตำบล จังหวัดของตนเอง ให้ผลแก่ลูกหลานชาวอำนาจเจริญ ซึ่งเป็นพื้นที่แรกของประเทศไทยในการจัดทำธรรมนูญระดับจังหวัด

ซึ่งชาติวัฒน์ ระบุชัดเจนว่า การประกาศใช้ธรรมนูญประชาชนคนอำนาจเจริญนั้นแยกขาด และไม่เกี่ยวกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่กำลังมีกระแสดำเนินการ โดยสิ่งที่คนอำนาจเจริญทำเป็นเรื่อง “การบ้าน” เพื่อสร้าง “การเมืองเพื่อการมีส่วนร่วมของประชาชน” โดยเนื้อหาของธรรมนูญนั้นระบุถึงองค์ความรู้ ภูมิปัญญาด้านเกษตรกรรม กองบุญสวัสดิการชุมชน การจัดการทรัพยากรที่ประชาชนเป็นเจ้าของทรัพยากรร่วมกัน รวมไปถึงแนวทางการจัดการภัยคุกคามด้านต่าง ๆ และการร่วมฟื้นสิ่งที่สูญหายไปให้คืนกลับมา

จากการประกาศแบ่งออกเป็น 9 หมวด หลากหลายด้าน โดยมีหมวดที่น่าสนใจคือ ด้านสังคม ซึ่งกำหนดเป้าหมายเพื่อสร้างชุมชนให้เข้มแข็ง ผู้คนฮักแพงแบ่งปัน สานต่อวัฒนธรรมประเพณี มีข้อเสนอชัดเจนในการจัดการการศึกษา การทำงานเพื่อแก้ปัญหากลุ่มประชากรเฉพาะ เช่น สตรี เด็กและเยาวชน ผู้สูงอายุ ผู้ด้อยโอกาส และกลุ่มที่มีความเชื่อศาสนาความแตกต่างหลากหลาย

เนื้อหาหลักของธรรมนูญประชาชนคนอำนาจเจริญ เน้นย้ำกลไกสำคัญ คือ การมีสภากลางตั้งแต่ระดับหมู่บ้าน ตำบล ไปจนถึงสภากลางจังหวัด ในรูปแบบเน้นการ “มีส่วนร่วมของภาคประชาชน” ผ่านการจัดการตนเองอย่างรอบด้าน พวกเขาใช้เวลาแรมปีในการกำหนดเป้าหมายร่วมกัน จนได้ออกมาเป็นการผลักดันให้จังหวัดอำนาจเจริญเป็น “เมืองธรรมเกษตร” แล้วเชิญชวนให้ทุกภาคส่วนทั้งรัฐ เอกชน และภาคประชาสังคมมาร่วมกันดำเนินนโยบายนี้ให้ประสบความสำเร็จภายใน 20 ปี ผ่านแผนยุทธศาสตร์ของทุกภาคีการมีส่วนร่วม

จากน้ำพักน้ำแรงนับตั้งแต่วันเริ่มต้น พวกเขาทำให้วิสัยทัศน์ของจังหวัดอำนาจเจริญเปลี่ยนหน้าตาไปอย่างสิ้นเชิง โดยมีวิสัยทัศน์ใหม่ในปี พ.ศ.2558 คือ “อำนาจเจริญเมืองธรรมเกษตร เขตพัฒนาเศรษฐกิจพอเพียง เส้นทางการค้าสู่สากล” นับเป็นก้าวที่ยิ่งใหญ่และกลายเป็นแนวทางการทำงานของหน่วยงานรัฐ ภาคประชาสังคมมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่นั้นมา ด้วยมีรูปธรรมของการมีตัวแทนภาคประชาชนร่วมอยู่ในคณะกรรมการบูรณาการแผนระดับจังหวัด(กบจ.) เพื่อผลักดันให้ทุกภาคีหลากหลายหน่วยงานภายใน สนับสนุนทุกโครงการเพื่อขับเคลื่อนสังคมคนอำนาจไปสู่การเป็นเมืองธรรมเกษตร

ในท้ายที่สุด ชาติวัฒน์ ร่วมสุข ให้ข้อมูลคล้ายเป็นการถอดบทเรียนจากความสำเร็จครั้งนี้ว่า “เรามีกระบวนการทำงานที่มาจากการคิดร่วมมาจากพี่น้องประชาชนทั้ง 63 ตำบล ผ่านกลไกสภาองค์กรชุมชนที่มีการทำงานเรื่องสวัสดิการเต็มพื้นที่ เรามีพื้นที่ในการแสดงออกหรือเสนอนโยบายผ่านกระบวนการสมัชชาประชาชนคนอำนาจเจริญอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้หน่วยงานรัฐมาร่วมกันใช้ข้อเสนอของคนในจังหวัดให้เป็นประโยชน์ ... นี่เป็นเครื่องพิสูจน์ว่า การที่ประชาชนเราเริ่มสำนึกว่า จะต้องเป็นคนแรกและคนหลักในการจัดการปัญหาแก้ไขปัญหา และกำหนดการพัฒนาคุณภาพชีวิตของตัวเองจึงเป็นพลังที่ยิ่งใหญ่ในการเปลี่ยนแปลงสังคม”

และผลลัพธ์สำคัญของการที่ประชาชนลุกขึ้นมาทวงสิทธิการมีส่วนร่วมต่อการพัฒนานับจากวันแรกนั้น ปัจจุบันจังหวัดอำนาจเจริญได้ยกระดับผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในจังหวัด ณ ราคาตลาด ต่อหัวต่อหนึ่งปี (GDP รายหัว) สู่อันดับที่ 66 ของทั้งประเทศเป็นที่เรียบร้อยแล้ว

เนื้อหาอื่นๆ

11 กรกฎาคม 2022
06 มิถุนายน 2020
29 มกราคม 2024

Copyright © 2013 THETHAIACT