เมื่อการพัฒนามาเคาะประตู
: ชวนดู บทบาทของเครือข่ายสร้างบ้านแปงเมือง จังหวัดพะเยา กับกรณีก่อสร้างรถไฟทางคู่สายเหนือ
จากมติคณะรัฐมนตรี พ.ศ.2561 ที่ ได้มีการอนุมัติโครงการรถไฟทางคู่สายเหนือ เด่นชัย-เชียงราย-เชียงของ ที่จะพาดผ่าน 59 ตำบล 17 อำเภอ ใน 4 จังหวัด ได้แก่ แพร่ ลำปาง พะเยา และเชียงราย โดยมีสถานีให้บริการทั้งสิ้น 26 สถานี รวมระยะทาง 323 กิโลเมตร และมีมูลค่าก่อสร้างรวมกว่า 72,000ล้านบาท โดยคาดว่าประชาชนจะได้มีโอกาสใช้บริการกันในทศวรรษนี้นั้น
ความคืบหน้าล่าสุด หลังจากการรถไฟแห่งประเทศไทยได้เริ่มกระบวนการทำสัญญาซื้อขายอสังหาริมทรัพย์และเวนคืนที่ดินกับชาวบ้านในพื้นที่ก่อสร้างแล้ว แม้จะมีความพยายามประชาสัมพันธ์การดำเนินการที่ระบุว่าเป็นไป “ภายใต้โครงการข้อตกลงคุณธรรม ซึ่งเป็นความร่วมมือป้องกันการทุจริตในการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ”
แต่ในพื้นที่จังหวัดพะเยาซึ่งจะมีสถานีรถไฟเกิดขึ้นทั้งสิ้น 6 สถานีคือ สถานีมหาวิทยาลัยพะเยาพะเยา , สถานีแม่กาโทกหวาก , สถานีพะเยา , สถานีดงเจน , สถานีบ้านร้อง , สถานีบ้านใหม่ นั้น เครือข่ายสร้างบ้านแปงเมืองฯ ซึ่งเป็นกลุ่มองค์กรภาคประชาสังคมในจังหวัดพะเยาที่รวมตัวกันถึง 72 กลุ่ม พบว่า การเวนคืนที่ดิน และการก่อสร้างทางรถไฟในบางช่วงนั้น อาจเกิดปัญหาสำคัญที่จะส่งผลกระทบต่อการดำรงชีวิตของประชาชน
โดยสมศักดิ์ เทพตุ่น คณะทำงานเครือข่ายสร้างบ้านแปงเมืองพะเยา กล่าวว่า
“แม้โครงการรถไฟรางคู่นี้จะไม่ได้ตัดผ่านชุมชนโดยตรง แต่ก็ยังอาจส่งผลกระทบเพราะตัดผ่านพื้นที่ทำกิน และโดยสภาพของการก่อสร้างเมื่อแล้วเสร็จจะมีแผงรั้วกั้นระหว่างแปลงเกษตรที่อาจเป็นผู้ครอบครองรายเดียวกัน จากการสำรวจของเราพบว่า ปัญหาแรกที่เจอเลยคือ เรื่องราคาในการเวนคืนที่ดิน ทั้งที่เป็นพื้นที่ลักษณะเดียวกันในภูมิศาสตร์เดียวกัน แต่กลับมีการเสนอราคาให้กับเจ้าของที่ดินต่างกัน มีข้อสังเกตว่าผู้ถือครองที่ดินรายใหญ่ จะได้ราคาต่อแปลงในขนาดเท่ากันมากกว่าประชาชนที่ถือครองที่ดินรายเล็ก ซึ่งตรงนี้คนที่ได้เยอะกว่าจะไม่บ่น แต่คนที่เขาทราบว่าที่ตัวเองได้ราคาน้อยกว่าก็จะรู้สึกไม่เป็นธรรม
นอกจากนั้นยังมีเรื่องการเวนคืนที่ไม่ได้ซื้อที่ทั้งหมดแต่เลือกจะเวนคืนเฉพาะเจาะจงพื้นที่ ตัดหัวตัดหางของที่ดิน จนที่ชาวบ้านกลายเป็นที่ดินตาบอด ถมในบริเวณพื้นที่สถานีทั้ง 6 แห่ง จะมีข้อกำหนดหวงห้ามในการเข้าใช้งานจนมองว่าอาจกลายเป็นการตัดวงจรชีวิตของเกษตรกรและประชาชนในพื้นที่ แล้วยังมีเรื่องของการจัดการกับขยะหรือสิ่งปฏิกูลที่ชาวบ้านตั้งข้อสังเกตว่าจะกระทบกับสภาพแวดล้อมของผู้ที่เป็นเจ้าของพื้นที่ใกล้เคียง”
ต่อเรื่องนี้ เครือข่ายสร้างบ้านแปงเมืองพะเยา ได้ร่วมกับสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน(พอช.) จัดกิจกรรมประชุมร่วมกับผู้นำชุมชนและชาวบ้านที่อาจได้รับผลกระทบไปถึงสองครั้งเมื่อเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา โดยสมศักดิ์ เล่าบรรยากาศและข้อเสนอของประชาชนที่มาร่วมประชุมให้ฟังว่า
“หลัก ๆ ที่มีข้อเสนออันดับแรกคือเรื่องราคา และการชดเชยที่ควรจะเป็นธรรมและเท่ากัน ไม่ใช่แปลงข้างกันได้รับการชดเชยในราคาที่ต่างกัน รวมทั้งขั้นตอนการเวนคืนที่ดินโดยหน่วยงานก็ควรจะเปิดเผยให้ชาวบ้านที่อาจได้รับผลกระทบทราบ ไม่ใช่ใช้วิธีการเรียกเข้าไปพูดคุยทำสัญญารายบุคคล ซึ่งดูแล้วจะส่อเจตนาปกปิดข้อมูลบางอย่าง เพราะที่ผ่านมาจนถึงวันนี้ ยังไม่ได้มีการจัดการประชุมหรือชี้แจงทำความเข้าใจกับผู้ที่จะต้องถูกเวนคืนอย่างเป็นทางการเลย”
ซึ่งการดำเนินการหลังจากนี้คณะทำงานเครือข่ายสร้างบ้านแปงเมืองพะเยา ชี้แจงว่า ในฐานะองค์กรภาคประชาสังคม พวกเขาจะเร่งทำการสำรวจข้อมูลเชิงลึก และข้อมูลสถิติ ทั้งจำนวนประชากรรายครัวเรือนที่จะได้รับผลกระทบ พื้นที่ที่จะสร้าง นอกจากนั้นยังวางแผนการเตรียมตัวไว้เป็น 3 ระดับ คือ
เตรียมคน - โดยเฉพาะผู้นำชุมชน แม้ในหมู่บ้าน ผู้นำอาจไม่ใช่คนที่ได้รับผลกระทบโดยตรง แต่หากมีการสื่อสารข้อมูลที่เป็นประโยชน์ ผู้นำจะช่วยสร้างความเข้าใจและถ่ายทอดกับลูกบ้านได้
เตรียมภาคีที่เกี่ยวข้องและฐานข้อมูล - เพื่อจะให้เกิดการประสานงานเมื่อเกิดกรณีที่มีปัญหาขึ้น ทั้งจากผู้ดำเนินการ และหน่วยงานในท้องถิ่นเอง รวมทั้งการเตรียมสำรวจข้อมูลเพื่อเป็นข้อเท็จจริงในการพูดคุยกับหน่วยงานของรัฐ
เตรียมการทำแผนรับมือในชุมชน – เนื่องจากการพัฒนาระบบรถไฟทางคู่สายเหนือนี้ คงไม่สามารถถูกระงับลงได้ แต่การทำให้ชุมชนมีความพร้อมในการรับมือผลกระทบ และการอยู่ร่วมกับการพัฒนาโดยเฉพาะเรื่องสวัสดิภาพของคนในชุมชน ทางผ่าน การจัดการกับมลภาวะทางเสียง และเตรียมพร้อมรับมลพิษที่อาจเกิดขึ้นจากการเดินรถ
ในท้ายที่สุด สมศักดิ์ เทพตุ่น ระบุว่าตัวเขาเองและเครือข่ายสร้างบ้านแปงเมืองฯ จะคอยทำหน้าที่ในการรวบรวมข้อมูล และร่วมประสานงานเพื่อบอกเล่าถึงความห่วงใย และจัดทำเป็นข้อเสนอให้ทางการรถไฟนำไปแก้ไขปรับปรุงต่อไป นอกจากนั้นยังฝากความหวังถึงหน่วยงานในท้องถิ่นโดยเฉพาะระดับจังหวัดว่า
“กระบวนการพัฒนาในเรื่องนี้อาจเป็นประโยชน์ต่อคนหมู่มาก และจะเพิ่มโอกาสทางเศรษฐกิจให้คนในภูมิภาคนี้ แต่ก็อยากให้มีการคลี่คลายปัญหาให้กับผู้ได้รับผลกระทบด้วยเช่นกัน อย่างน้อยที่สุดหน่วยงานระดับจังหวัดควรมีการพูดคุยเพื่อนำเสนอข้อมูลทั้งโครงการ ร่วมกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทั้งหมดบ้าง ไม่ใช่ให้การดำเนินการเต็มไปด้วยข้อครหา หรือการให้ประชาชนต้องไปสืบค้นข้อเท็จจริงกันเอาเอง”