กระต่ายอาสา...เพราะทุกนาทีของผู้ป่วยมีความสำคัญ
: จุดบริการให้ยืมอุปกรณ์จำเป็นเพื่อดูแลผู้ป่วยในจังหวัดจันทบุรี
บริเวณใต้ถุนขององค์พระ ณ พุทธมณฑลจันทบุรี นอกจากมีห้องเก็บเก้าอี้ ข้าวของเพื่อบริการพุทธศาสนิกชนแล้ว ครึ่งหนึ่งของพื้นที่ถูกจัดสรรให้เป็นสถานที่ทำงานของชมรมกระต่ายอาสาด้วย เมื่อมองไปยังด้านหลังของโต๊ะลงทะเบียนส่วนหน้า เราจะเจอกับเตียงผู้ป่วย ไม้เท้า รถเข็นวีลแชร์ กระสอบข้าวสารอาหารแห้ง และอุปกรณ์จำเป็นไม่คุ้นหน้าไม่คุ้นนามที่จำเป็นสำหรับผู้ป่วย
วรากร สุขสวัสดิ์ประธานชมรมกระต่ายอาสาพุทธมณฑลจันทบุรี เล่าถึงจุดเริ่มต้นของชมรมว่า
“ผมเป็นพ่ออาสามาก่อน เป็นมาตั้งแต่ปี พ.ศ.2555 มันเป็นจุดเริ่มต้นที่หลายคนอาจงงนะ คือ ทั้งที่เราเป็นผู้ชาย แต่ต้องไปช่วยผู้หญิงในชุมชนที่ประสบปัญหาเรื่องการให้นมลูก ไปดูแลไปแนะนำวิธีการให้นม แล้วพอมันประสบความสำเร็จเราก็ภูมิใจ
จนมาเจอจุดเปลี่ยน ซึ่งเป็นคุณยายชาวไทยใหญ่รายหนึ่ง ไม่รู้พลัดหลงมาจากไหน แต่อาศัยตัวคนเดียว ตั้งโต๊ะตัวเดียวนอน มีมุ้งผุ ๆ แขวนกลางสวน เราเข้าไปเจอก็ช่วยนำส่งโรงพยาบาล เอาแรงไปตีชายคาอย่างง่ายให้ คือรู้สึกว่า โอ้โห ชีวิตเขาลำบากมากเลยนะ เราเลยทำหน้าที่จัดหาอาหารให้ทาน เอาแพมเพิร์สไปเปลี่ยนให้ ทิ้งโทรศัพท์ที่โทรเข้าออกได้ไว้เพื่อติดต่อกัน วันหนึ่งแกโทรหาเราว่า แพมเพิร์สหมด อย่าลืมเอามาให้นะ แต่บังเอิญเราประชุมอยู่อีกที่ เลยรับปากไว้ แต่พอเย็นนั้นแวะเข้าไปหา ก็เห็นแกในสภาพไม่มีลมหายใจแล้ว”
การจากไปของสตรีที่ไม่มีรากเหง้าเดียวกัน ไม่แม้แต่จะเคยรู้จักกันมาก่อนในชีวิต เป็นจุดพลิกผันให้วรากร มีมุมมองกับผู้ป่วยติดเตียง ไร้สภาวะในการดูแลตัวเองเปลี่ยนไป จากนั้นเขานับรวมการดูแลผู้ป่วยในชุมชนเป็นอีกหนึ่งงาน จนกระทั่งการเดินทางมาถึงของความสูญเสียครั้งที่สอง ของผู้สูงอายุในชุมชนซึ่งเขาเป็นผู้ดูแล
“วันหนึ่ง ญาติของผู้ป่วยที่เราเป็นอาสาสมัครดูแล พ่อของเขาเสีย แล้วเขาบอกว่า คุณวรากร ผมขอมอบเตียงผู้ป่วยให้ เราก็มานั่งคิดว่า ไอ้ห่าเอ้ย เตียงหนึ่งหลังจะทำยังไงดี ถ้าเอามาให้คนอื่นยืมต่อ เขาจะมองยังไง คนไทยอ่ะ ถ้ามายืมเตียงคนตาย เขาจะถือไหม แล้วถ้าให้ยืมแล้วเราก็หมดไปเลยนะ แต่ก็เอาวะใครจะว่ายังไงไม่สนละ มีสมุดเล่มเดียว แล้วก็ไปบอกชาวบ้านเลย ว่ามีเตียงให้ยืมนะ มาเอาไปใช้ได้เลย
จากเตียงหลังแรกที่ได้รับใน ปี พ.ศ. 2557 พอขยับมากลางปี คนอื่นเห็นเราทำงาน ก็เอามาช่วยเติมจนเป็น 7 หลัง มาพร้อมพวกอุปกรณ์ต่าง ๆ กับข้าว มาม่า ปลากระป๋อง ด้วยนะ เราก็ตัดสินใจเดินเข้ามาคุยกับท่านเจ้าคุณวัด เขาก็ชี้มาที่นี่บอกว่า ให้เรามาทำจุดบริการตรงนี้เลยถ้าคุณตั้งใจทำจริง ๆ วันแรกเข้ามาก็ตัวคนเดียวพร้อมกับลูกชายอีกคนพากันเก็บขยะ กวาดขี้นก จนกลายมาเป็นศูนย์กลางที่ทั้งรับบริจาค และให้ยืมอุปกรณ์ที่จำเป็นสำหรับผู้ป่วยโดยไม่คิดค่าใช้จ่าย”
ประธานชมรมกระต่ายอาสาพุทธมณฑลจันทบุรี แนะนำรอบ ๆ ห้อง พร้อมเล่ากระบวนการมาขอยืมอุปกรณ์ต่าง ๆ ให้ฟัง ว่าเพียงแค่มากรอกเอกสาร ระบุของที่ตนอยากได้ แล้วก็นำเอาไปได้เลย
“เราไม่ได้เลือกว่าคนป่วยจะเป็นใคร หรือมีสัญชาติอะไร เราให้ยืมหมด อย่างน้อยนี่จะเป็นฐานข้อมูลให้หน่วยบริการทราบถึงจำนวนประชากรแฝงนะ หน้าผลไม้บ้านเรามีแรงงานข้ามชาติมาเก็บเงาะสอยทุเรียนกัน ตกต้นไม้เจ็บป่วยติดเตียงก็มาก เขาก็ไม่กล้าจะไปโรงพยาบาล บางคนมาหาเรา ก็จะสอบถามว่าอยู่พื้นที่ไหนอย่างไร แล้วก็จะไปแจ้งกับอนามัยให้มาช่วยดูแลต่อเนื่อง
ข้าวของที่เห็นทั้งหมดนี่ เวลามีคนเขาญาติพี่น้องเสีย หรือหายป่วย เขาก็เอามาบริจาคเรา เราก็จะทำทะเบียนพร้อมติดสติ๊กเกอร์ไว้ เพื่อให้คนได้รับเขารู้ด้วยว่า สิ่งที่คุณยืมมันมาจากไหน คือแม้ผู้เคยใช้อาจจะตายไปแล้ว แต่ชื่อเสียงและคุณความดีของเขายังอยู่”
เมื่อถามถึงความต้องการ และปริมาณของผู้ป่วยที่มีความจำเป็นต้องหยิบยืมอุปกรณ์ทางการแพทย์ วรากรใช้เวลาเปิดสมุดบันทึกคู่ใจ ซึ่งเขาเน้นคำอย่างภาคภูมิใจว่านั่นเป็นเล่มใหม่ ในขณะที่เล่มเก่าและเล่มแรกที่ใช้จดบันทึกด้วยมือก็เก็บไว้ พร้อมข้อมูลทั้งหมดโดยไม่ทิ้งไปไหน...เขาพลิกไปพลิกมาหน้ากระดาษก่อนตอบให้ฟังลอบถอนหายใจยาว
“หนึ่งปีที่ผ่านมา มีคนป่วยที่ต้องใช้เตียงแล้วมายืมกับเราเพิ่มขึ้นกว่าสามร้อยคน ผมใช้คำว่าเพิ่มขึ้นนะ ส่วนถ้านับปริมาณผู้ป่วยที่มายืมอุปกรณ์ของเราก่อนหน้านี้ รวมแล้วก็มากกว่า 1,400 คน”
ขณะที่ ณัฐพิมพ์ แก้ววิเชียร หญิงสูงวัยที่ยังดูคล่องแคล่ว แต่ต้องใส่ชุดกระชับแผ่นหลังผู้เป็นหนึ่งในสมาชิกชมรมฯ ร่วมให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า
“ฉันเริ่มจากเป็นคนมายืมของนี่แหละ ตั้งแต่ปี พ.ศ.2563 เอาไปให้แม่ที่บ้าน จำได้ดีว่ายืมเตียง ที่นอนลม เครื่องให้อาหารทางสายยางไป เราก็คนทำงานรับจ้างเนอะ จะให้ไปซื้อมาใช้ก็ตายก่อนพอดี ตอนนั้นเขาให้ยืมแล้วยังไม่มีปัญญามาขนไปเลย ต้องมีเจ้าหน้าที่เขาเอาของไปส่ง พอมันไม่จำเป็นต้องใช้แล้วเอามาคืน เราเลยคิดกับตัวเองว่าเขาก็ช่วยเราได้มาก ถ้ายังพอเหลือกำลังน่าจะต้องมาช่วยงานเท่าที่ทำได้
แล้วพอมาอยู่ตรงนี้เราก็เห็นว่าคนเดือดร้อนมีทุกวัน ช่วงโควิดฯมาเนี่ย ไม่ต้องพูดถึง ทุกอย่างให้ยืมไม่ทันเลย ระยะหลังอย่างเมื่อวานก็มีให้ยืมเตียงไป 3 หลัง ที่นอนลม ถังออกซิเจนอีก 4 ถัง ... ของแบบนี้พอออกไปแล้วมันก็ได้คืนมายาก ไม่ใช่เขาไม่อยากคืนกันนะ แต่ว่าของมันต้องใช้ต่อเนื่อง จะคืนคือไม่ตอนหายก็ตายแล้ว บางช่วงของที่จะให้ยืมมันก็ขาดแคลนนะ”
ในระหว่างการพูดคุยกับชาวกระต่ายอาสาพุทธมณฑลจันทบุรี มีผู้คนเข้าออกมาเพื่อขอยืมของใช้จำเป็นในการดูแลผู้ป่วยอย่างต่อเนื่อง กลุ่มแรกเป็นสองหญิงวัยกลางคนที่ขอยืมเตียงลม และเตียงที่ปรับความสูงได้ เพื่อไปรองรับพ่อวัยกว่าร้อยปีที่กำลังจะออกจากโรงพยาบาลในวันรุ่งขึ้น
รายต่อมา เป็นชายในชุดกางเกงยีนส์พับขาสวมเสื้อปกตั้ง ใบหน้านั้นดูมีแววกังวล เขาก้าวขาลงจากรถกระบะตอนเดียวสีเขียวกลางเก่ากลางใหม่มาพูดคุย จนสังเกตได้ว่า หลังจากได้สิ่งที่ต้องการใบหน้าของเขาดูคลายกังวลลง
เมื่อได้สอบถามถึงที่มาที่ไปจึงได้ความว่า “วันนี้มายืมเตียงผู้ป่วย เครื่องผลิตออกซิเจน ถังออกซิเจน แล้วก็เก้าอี้นั่งถ่าย ตอนแรกไปที่เทศบาล แล้วเขาก็แนะนำให้มายืมอุปกรณ์ที่นี่ พอดีภรรยากำลังจะออกจากโรงพยาบาล น่าจะต้องติดเตียงสักระยะ เพราะเขาเป็นไตวายระยะสาม กับเส้นเลือดในสมองร้าว ... คือการมีที่แบบนี้ช่วยเราได้มาก ถ้าต้องใช้ถังออกซิเจนก็คงต้องกู้เงินมาซื้อ เพราะไปถามมาแค่เริ่มต้นก็ 4,500 บาท แล้ว ว่ากันตรง ๆ ก็คงไม่อยากให้มีคนเจ็บคนป่วยในบ้านหรอก แต่เมื่อมันเกิดขึ้นแล้วเราไม่รู้จะไปหาใคร ก็ต้องมาที่นี่ ไม่คิดด้วยซ้ำว่าเขาจะพร้อมช่วยเราขนาดนี้”
แม้วันนี้กระต่ายอาสาฯ จะเป็นหนึ่งในภาคประชาสังคมที่แข็งขันดำเนินงานตามความถนัดของพวกเขาอย่างต่อเนื่อง แต่จากประสบการณ์ในฐานะประธานชมรม วรากร สุขสวัสดิ์ ย้ำถึงสิ่งสำคัญเพื่อบอกว่า การทำงานทุกอย่างโดยเฉพาะงานเพื่อสังคมนั้น การมีหัวใจอย่างเดียวไม่เพียงพอ จำเป็นต้องมีเพื่อนพ้อง เครือข่ายอย่างรอบด้านด้วย
“การทำงานด้านสังคมแบบนี้ทำคนเดียวไม่ได้ เราต้องมีเพื่อนนะ อย่างของชมรมเราคือการให้ยืมอุปกรณ์ของใช้จำเป็นสำหรับผู้ป่วย ถ้าเกิดว่าเตียงมันชำรุดทรุดโทรม ผมไม่มีทักษะเรื่องช่างเลย จะให้ไปนั่งอ็อกนั่งเชื่อมเองก็ไม่ได้ ตอนนี้เราเลยมีทางสถาบันการศึกษาสายอาชีวะมาช่วย หรือถ้าเรื่องทุนทำงาน เราก็กำลังอยู่ระหว่างหารือกับภาคเอกชน ร้านค้าในจังหวัดจันทบุรี เพื่อตั้งจุดรับบริจาคอย่างน้อย 300 จุด ในการระดมทุนมาเพื่อซ่อม ซื้อ และดำเนินการต่าง ๆ ในอนาคต
แล้วสิ่งที่เราจะปฏิเสธไม่ได้ก็คือ เพื่อนในหน่วยงานรัฐ เพราะเขาเป็นผู้กำกับนโยบายมีทรัพยากร มีเครื่องไม้เครื่องมือ บางครั้งก็สามารถช่วยกันติดตามผู้ป่วยให้เราภายใต้เครือข่ายอาสาสมัครสาธารณสุข ในพื้นที่ที่ไกลออกไปจากเราได้ รวมทั้งอาจช่วยแก้ไขปัญหารายกรณีให้เราด้วย”