22 มกราคม 2024

เตรียมตัวตายดี ที่ไม่ได้หมายถึงชวนกันไปตาย

ตอนที่ 1 : PEACEFUL DEATH กับการทำงานเพื่อความหมายของทุกลมหายใจ

มากกว่า 590,000 จาก 71 ล้านคน คือจำนวนการ ‘ตาย’ ของประชากรไทยในปี พ.ศ.2566 แต่สถิติจากกระทรวงสาธารณสุขไม่มีบันทึกยืนยันว่า ผู้คนเหล่านั้นจากไปอย่างสงบ ทิ้งไว้เพียงร่องรอยข้อมูลของสาเหตุการตาย เช่น โรคร้าย วัยชรา อุบัติเหตุจากการคมนาคม ...และแม้จะเป็นสัจธรรมแต่การทำความเข้าใจเรื่องความตายกลายเป็นดินแดนซึ่งไม่มีใครพร้อมจะก้าวล่วง แต่ในวันนี้ที่ประเทศไทยเริ่มให้ความสนใจกับสิทธิการตาย รวมไปถึงการดูแลแบบประคับประคองผู้ป่วยระยะสุดท้าย (Palliative Care) ก็ได้มีภาคประชาสังคมจำนวนไม่น้อย ที่พร้อมร่วมเป็นผู้ถือคบไฟในความหมายอันแสนมืดเมื่อใครก็ตามพูดถึงความตายซึ่ง PEACEFUL DEATH เป็นหนึ่งในนั้น

หากค้นหาชื่อ PEACEFUL DEATH ในสื่อออนไลน์เราจะเห็นประโยคห้อยท้ายด้วยข้อความว่า ‘เรียนรู้ความตาย เข้าใจชีวิต’ ซึ่ง เอกภพ สิทธิวรรณธนะ หนึ่งในผู้ร่วมก่อตั้งให้นิยามการทำงานของพวกเขาเพิ่มเติมว่า “คือการพูดคุยเรื่องความตาย เพื่อทำให้เกิดสิ่งดีต่อชีวิตที่อยู่และกำลังจะจากไป เพราะการพูดคุยจะนำไปสู่การตายดี ซึ่งหมายถึง การไม่เจ็บปวด การที่ทุกความสัมพันธ์คลี่คลาย ไม่ต้องมีใครแบกปัญหาคาราคาซังไปโลกหน้า รวมทั้งการจากไปแบบเข้าใจชีวิต เข้าใจความเจ็บป่วย เพราะการตายดีจะช่วยลดค่าใช้จ่ายทั้งทางเศรษฐกิจและจิตใจ ไปพร้อมกับเตรียมตัวตายโดยไม่มุ่งยื้อชีวิตเพียงอย่างเดียว”

โดยหนึ่งบทบาทที่ทำให้งานของ PEACEFUL DEATH ไม่กลายเป็นเพียงเรื่องการสั่งเสียคือ การผลิตเครื่องมือเพื่ออำนวยความสะดวกสำหรับพูดคุยเรื่องความตาย ซึ่งมีทั้งสมุดเบาใจ เกมไพ่ไขชีวิต ซึ่งเมื่อเปิดเกมจะมีการพูดคุย โดยเฉพาะในเรื่อง “ความรู้สึก” กับ “ความต้องการ” ลักษณะการทำงานแบบนี้ เอกภพ บอกว่า

มันเป็นจุดเริ่มต้นบนเส้นทางเพื่อทบทวนชีวิตที่ผ่านมา และให้รับรู้ - ตระหนักถึงวินาทีต่อไปของชีวิต หากเป็นในทางพุทธศาสนาจะเรียกกระบวนการนี้ว่ามรณานุสติ คือการค่อย ๆ ตัดสิ่งไม่จำเป็นในชีวิตออกไปและใช้ชีวิตแบบมีสติมากขึ้น พร้อมกับใช้การระลึกถึงสิ่งดีในช่วงเวลาที่ผ่านไปของชีวิตเพื่อเยียวยาจิตใจในปัจจุบัน

หนึ่งในรูปธรรมความสำเร็จของงานฝั่งชุมชนที่ PEACEFUL DEATH ได้ลงมือทำ คือ มีกระบวนกรผ่านการอบรมฝึกฝนจนเรียกได้ว่า สามารถกลับไปเป็นผู้ดูแลคนในชุมชนมากกว่า 400 คน หรือนับเป็น 20 - 30 พื้นที่ทั่วประเทศ เช่น เชียงราย ลำปาง สงขลา พะตง ฯลฯ พร้อมกันนี้การทำงานร่วมกับหน่วยบริการหลายระดับก็ทำให้เห็นความก้าวหน้าของบริการด้านสาธารณสุข ที่ให้ความสำคัญจนเกิดนโยบายสนับสนุนชีวาภิบาล ซึ่งมุ่งเน้นการดูแลผู้ป่วยภาวะพึ่งพิง ผู้ป่วยระยะท้าย รวมถึงผู้สูงอายุติดบ้าน ติดเตียง ให้ได้รับการดูแลครอบคลุมทั้งมิติ กาย จิตใจ อารมณ์ สังคม และจิตวิญญาณตลอดจนการมีมาตรา 12 ของ พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ ที่บัญญัติไว้ว่า บุคคลมีสิทธิทำหนังสือแสดงเจตนาไม่ประสงค์จะรับบริการสาธารณสุข ที่เป็นไปเพียงเพื่อยืดการตายในวาระสุดท้ายของชีวิตตน หรือเพื่อยุติการทรมานจากการเจ็บป่วย สอดคล้องกับกิจกรรมของ PEACEFUL DEATH ในการชวนคนเขียนเจตนา ความปรารถนาวาระสุดท้าย หรือ Living Will

แม้การพูดคุยเรื่องความตาย จะไม่ได้หมายถึงการชวนกันไปตาย แต่ไม่ใช่ทุกคน ทุกบ้านจะรับมือกับการพูดคุยวาระท้าย ๆ เช่นนี้ได้ โดยหนึ่งในผู้ร่วมก่อตั้งภาคประชาสังคมเรื่องความตาย ให้ความเห็นอย่างเป็นธรรมชาติว่า

“ครอบครัวที่ไม่พร้อมจะเริ่มมีความพร้อมในวันหนึ่ง เพราะข้อเท็จจริงคือ ทุกชีวิตล้วนมีวันตาย เมื่อเวลาผ่านไปคนหนุ่มเริ่มแก่ คนแก่เริ่มเข้าสู่บั้นปลาย มันต้องมีสักช่วงเวลาที่ทำให้นึกถึงการจากไปอย่างสงบ เมื่อนั้นแปลว่าจิตใจของพวกเขาเริ่มเปิดรับและอยากคุยเรื่องการเตรียมความพร้อมเพื่อตาย และวาระความตายเป็นโอกาสดี ที่คนจะมาเจอกัน มาทำงานอาสาสมัคร มาช่วยกันลดความทุกข์ทรมาน หรือเป็นพื้นที่แห่งการปลุกเร้าความกรุณา ซึ่งไม่ได้หมายถึงแค่มาปลอบประโลมหัวใจซึ่งกันและกัน แต่มันยังหมายถึงพื้นที่แห่งการคลี่คลายปัญหาในพื้นที่ระดับชุมชนด้วย เราเจอว่ามีหลายปัญหาถูกแก้ไขในวาระการตายของใครบางคน พูดให้เห็นเป็นรูปธรรมคือ หากเราเริ่มต้นจากการพูดเรื่องความตายมันอาจขยายเป็นเรื่องสิ่งแวดล้อม เรื่องปัญหาคุณภาพชีวิตในชุมชน คือชุมชนเข้มแข็ง จะช่วยดูแลการตายกันได้ หรือถ้าคุณดูแลการตายกันได้ ก็เป็นโอกาสให้ชุมชนเข้มแข็ง”

แต่แม้จะสนใจ การเริ่มต้นพูดคุยเรื่องความตายในระดับปัจเจกอาจไม่เพียงพอ เมื่อได้พูดคุยกับเอกภพ สิทธิวรรณธนะ ชี้ให้เห็นว่า ปัจจุบันยังมีจุดที่ระบบบริการขาดอยู่ คือ การให้บริการด้านจิตใจ ที่ไม่ใช่มุ่งเพียงแต่การรักษาในระบบปฐมภูมิ รวมทั้งการส่งเสริมกลุ่มดูแลกันในชุมชน เพราะในหลายพื้นที่ระบบบริการสาธารณสุขไม่ได้อยู่ใกล้ชุมชนมากนัก จึงต้องมีภาคประชาสังคมหรือหน่วยงานระดับอาสาชุมชน ลุกขึ้นมาชวนชุมชนทำงานดูแลแบบประคับประคองและชวนรู้จักการเตรียมตัวตาย

สำหรับผู้สนใจสามารถสนับสนุน เครื่องมือเพื่ออำนวยความสะดวกในการพูดคุยเรื่องความตาย ซึ่งจัดทำโดย PEACEFUL DEATH ได้ที่หน้าร้าน “เบาใจ” หรือค้นหาเพิ่มเติมที่เว็บไซต์ https://peacefuldeath.co และในตอนหน้ากับวันพุธจุดชนวน SE จะพาไปรู้จักกับสินค้า/บริการ ภายใต้แนวคิดธุรกิจเพื่อสังคมของ PEACEFUL DEATH



เนื้อหาอื่นๆ

14 มิถุนายน 2021
13 กันยายน 2020
01 มีนาคม 2020

Copyright © 2013 THETHAIACT