3 ข้อเท็จจริงเรื่อง “กำแพงกันคลื่น
: พร้อมนับถอยหลัง เพื่อร่วมทวงคืนชายหาดกับ Beach for Life
1.กำแพงกันคลื่นระบาด แต่ไม่สามารถแก้ไขปัญหากัดเซาะชายฝั่งได้จริง
ปัจจุบัน ประเทศไทยมีแผนสร้างกำแพงกันคลื่น ทั้งที่ดำเนินการแล้ว และรอดำเนินการมากกว่า 125 โครงการ รวมระยะทางไม่น้อยกว่า 100 กิโลเมตร ภายใต้งบประมาณกว่า 8,000 ล้านบาท (ต้นทุนการก่อสร้างกำแพงกันคลื่น กิโลเมตรละ 120 ล้านบาท) โดยมีการให้อำนาจแก่กรมโยธาธิการและผังเมืองดำเนินการก่อสร้าง ภายใต้การอ้างว่าจะแก้ปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งจากจำเลยที่ชื่อ “คลื่น” และ “ลม” เพื่อไม่ให้พื้นที่หลังแนวการก่อสร้างหายไป ด้วยความเชื่ออย่างสนิทใจ หรือเหตุผลอื่นใดไม่อาจทราบแต่หน่วยงานเจ้าภาพดูมีท่าทีมั่นใจว่า กำแพงกันคลื่น และการก่อสร้างถาวรวัตถุตามหลักวิศวกรรมจะเป็นพระเอก ที่ช่วยหยุดยั้งการกัดเซาะชายฝั่งของประเทศไทยได้
ขณะที่ อภิศักดิ์ ทัศนี จากกลุ่ม Beach for Life ในฐานะประชาชนผู้เฝ้าจับตาการสร้างกำแพงกันคลื่นมากว่า 10 ปี จนได้มีการตั้งกลุ่มขึ้นมาเฝ้าระวังและติดตามเรื่องนี้ ออกปากได้ทันทีว่าวิธีการนี้ ไม่ช่วยแก้ปัญหาให้ประชาชน และช่วยกันคลื่นไม่ได้จริง
“ด้วยการพัฒนาที่ขยายตัว ทำให้ชุมชนเริ่มขยับเข้าใกล้ชายฝั่ง รวมถึงการมีสิ่งปลูกสร้าง ถนน โรงแรมใกล้ชายฝั่ง จึงทำให้เราสังเกตเห็นการกัดเซาะของชายฝั่งมากขึ้น ทั้งที่สิ่งนี้เป็นปรากฏการณ์ธรรมชาติ ... เมื่อมนุษย์เข้าไปอยู่ใกล้และเห็นการเปลี่ยนแปลงของชายหาด มันจึงกลายเป็นว่าเรื่องนี้คือปัญหา”
ผู้ก่อตั้งกลุ่ม Beach for Life ย้ำผลกระทบสำคัญของการสร้างกำแพงกันคลื่นว่า กำแพงจะทำให้ชายหาดหายไป เศรษฐกิจของชุมชนหรือพื้นรอบชายหหาดถูกตัดตอน เพราะแทบไม่หลงเหลือหาดให้เกิดการท่องเที่ยว ในต่างประเทศมีการขนาดนามชายหาดหลังแนวของกำแพงประเภทนี้ว่า Death Beach หรือ หาดที่ตายแล้ว เพราะการมีกำแพงกันคลื่นไม่สามารถแก้ไขปัญหาคลื่นซัด กัดเซาะได้จริง เมื่อท้ายที่สุดคลื่นก็สามารถโถมกระโจนข้ามกำแพงที่ฝ่ากั้นได้อยู่ดี ... และที่มากไปกว่านั้น จากการติดตามโครงการก่อสร้างกำแพงกันคลื่นที่เสร็จแล้ว จุดสิ้นสุดของการก่อสร้างก็จะทำให้เกิดปัญหากัดเซาะชายฝั่งอย่างรุนแรง ส่งผลกระทบกับชุมชนอื่นตามมา
2.เพิกถอนการสร้างกำแพงกันคลื่นจาก EIA
นับจากประกาศแนบท้ายของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ในปี 2556 ที่ระบุให้ เพิกถอนกำแพงกันคลื่นออกจากกิจการหรือโครงการที่ต้องทำการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม(EIA) สำทับด้วยมติคณะรัฐมนตรีโบราณนานมาตั้งแต่ปี พ.ศ.2539 ที่มอบอำนาจให้กรมโยธาธิการและผังเมือง ในการแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่ง
สิ่งที่เกิดขึ้นนั้นกลายเป็นการตัดขาดประชาชน ชุมชน ภาคประชาสังคมออกจากการมีส่วนร่วมในการดูแลทรัพยากรชายฝั่ง เลยเถิดทำให้บางหาดที่มีกลุ่มประมงพื้นบ้านสูญเสียพื้นที่จอดเรือ เพียงเพราะรัฐมั่นใจในหน่วยงานภายใต้การกำกับดูแลของตน จนไม่จำเป็นต้อง “ศึกษาผลกระทบ” และเมื่อหากเกิดผลกระทบก็จะปราศจากผู้รับผิดชอบ
นอกจากการเพิกถอนการสร้างกำแพงกันคลื่นจาก EIA จะเป็นช่องว่างให้มีการเพิ่มพูนราวกับแพร่ระบาดของกำแพงกันคลื่นแล้ว ยังอาจเป็นอีกหนทางนำไปสู่การแสวงหาผลประโยชน์ร่วมกันระหว่างหน่วยงานท้องถิ่น และผู้มีส่วนเกี่ยวข้องด้วย
ในเรื่องนี้อภิศักดิ์ ทัศนี ตั้งข้อสังเกตว่า การไม่ต้องทำ EIA นั้นทำให้ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องดูสนใจ และอยากสร้างกำแพงกันคลื่นให้มากที่สุดใช่หรือไม่
“ผมยกตัวอย่างความย้อนแย้ง ที่กรมโยธาฯดูจะกระเหี้ยนกระหือรือในการใช้งบประมาณไปกับการทำลายชายหาด เพราะอยากสร้างกำแพงกันคลื่นให้ฟัง เช่น ที่หาดแม่รำพึง มีมติคณะรัฐมนตรี พ่วงด้วยมติคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติกำหนดให้เป็นหาดสมดุล แต่กรมโยธาฯก็ไปสร้างกำแพงกันคลื่น ซึ่งขัดแย้งกันเองอย่างชัดเจน...ผมต้องบอกก่อนว่ากำแพงกันคลื่นไม่ใช่ของเลวร้าย อาจจำเป็นในหลายพื้นที่ด้วย แต่การไปอยู่ในความดูแลของหน่วยงานที่ขาดวิธีคิดอย่างรอบด้านในการแก้ไขปัญหาจึงทำให้นอกจากไม่แก้ปัญหาแล้ว ยังเพิ่มปัญหาอื่นตามมา”
3.มาร่วมเป็นปากเสียง เพื่อหยุดความตายของชายหาด - หยุดกำแพงกันคลื่น
เมื่อวันที่ 25 พฤศจิกายน 2565 ที่ผ่านมา กลุ่ม Beach for life และ เครือข่ายประชาชนทวงคืนหาดทราย เข้ายื่นหนังสือต่อสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี เพื่อให้รัฐบาลดำเนินการตาม 3 ข้อเรียกร้อง คือ
1. ยกเลิกมติคณะรัฐมนตรี ที่ให้อำนาจกรมโยธาธิการฯ ในการป้องกันชายฝั่ง
2. กำแพงกันคลื่นต้องกลับมาเป็นโครงการที่ต้องทำการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม(EIA)
3. ต้องฟื้นฟูชายหาดที่เสียหายจากกำแพงกันคลื่น โดยเฉพาะหาดท่องเที่ยวสำคัญของประเทศไทย เพื่อฟื้นฟูชายหาดให้กลับมาดังเดิม และส่งเสริมการท่องเที่ยว
ท้ายที่สุด อภิศักดิ์ ทัศนี เชิญชวนให้ทุกคนร่วมติดตาม จับตา และเป็นส่วนหนึ่งในการหยุดยั้งความตายของชายหาดร่วมกับพวกเขา
“นี่เป็นเรื่องของคนทั้งประเทศ ไม่ใช่คนที่อยู่ใกล้หาด ถ้าคุณอยากเก็บชายหาดไว้ให้กับลูกหลาน จำเป็นต้องมาร่วมทวงคืนชายหาดกับเรา ข้อเรียกร้องที่เรายื่นให้กับนายกรัฐมนตรีทั้ง 3 ข้อ จำเป็นต้องได้รับการแก้ไขอย่างเร่งด่วน และเรามีเวลาให้รัฐบาลเพียง 10 วัน ในการพิจารณา ในวันที่ 6 ธันวาคม เราจะกลับไปติดตามข้อเรียกร้องของเราที่สำนักนายกรัฐมนตรี ... และถ้าปัญหานี้ไม่สำคัญพอให้รัฐบาลได้เหลียวแล เราจะเคลื่อนขบวนเป็นตัวแทนในนามของเม็ดทรายทุกเม็ดบนชายหาด ไปทวงถามกับนายกรัฐมนตรีที่หน้าทำเนียบรัฐบาล”
สำหรับท่านที่มีหัวใจรักชายหาด และอยากติดตามเรื่องราวเหล่านี้ให้มากขึ้นสามารถติดตามได้ที่แฟนเพจ เฟซบุ๊ก Beach for life หรือเว็บไซต์ Beachforlife.org