จากผู้ลี้ภัย กลายเป็นภาคประชาสังคมผู้ยืนหยัดทำงานในประเทศไทย
สัมภาษณ์ เมียน เวย์
ปัจจุบันประเทศไทยกำลังอยู่ระหว่างการบริหารจัดการแรงงานต่างด้าวให้เป็นไปอย่างสงบเรียบร้อย ตามนโยบายของรัฐบาล แต่ทว่าเนิ่นนานมาแล้วที่ได้มีกลุ่มคนที่รวมตัวกันเป็นภาคประชาสังคมในนาม มูลนิธิร่วมมิตรไทย-พม่า ที่ได้เริ่มต้นทำงานด้านการศึกษา และยังเปิดโณงเรียนสอนหนังสือให้แรงงานต่างด้าวในกรุงเทพมหานครทุก ๆ วันอาทิตย์ ท่ามกลางกระแสการพัฒนาที่ถาโถมและประเทศไทยยังได้มีแรงงานข้ามชาติเข้ามาอาศัยนับล้านคน วันนี้ขอเชิญร่วมทำความรู้จักกับ คุณ เมียน เวย์ รองผู้อำนวยการมูลนิธิร่วมมิตรไทย-พม่า ผู้จะมาเปิดประสบการณ์ 20 ปี ในการพัฒนาคุณภาพชีวิตแรงงานข้ามชาติในประเทศไทย
ทำไมคนที่ไม่ได้มีสัญชาติไทย อย่างคุณ เมียน เวย์ ถึงมาทำงานภาคประชาสังคมในประเทศไทยได้ ?
ต้องเล่าก่อน ว่าเหตุผลที่เข้ามาอยู่อาศัยในประเทศไทยของผมเนื่องมาจากต้องลี้ภัยทางการเมืองจากประเทศพม่า ครั้งแรกที่หนีจากกาญจนบุรี มาอยู่ที่ปริมณฑล แถว ๆ มหาชัย พวกเราก็คิดกันว่า โอ้โห ! คนงานพม่าที่มาทำงานแถวสมุทรปราการ มหาชัย หรือสมุทรสงครามนี่เยอะมากนะ ทำไมเราถึงไม่มีโอกาสในการได้รวมตัวพูดคุยกันเลย ช่วงแรก ๆ ต้องบอกอย่างตรงไปตรงมา ว่ามันเป็นเรื่องความคาดหวังทางการเมือง เป็นการรวมตัวเพื่อแผยแพร่สถานการณ์การเมืองที่รุนแรงในประเทศพม่าสมัยนั้น โดยตัวผม ได้รับคำสั่งจากกรรมการที่ลี้ภัยมาด้วยกัน ว่าให้เตรียมตัว มีเวลาครึ่งปีนี่แหละให้เร่งทำศูนย์ข้อมูล แล้วก็ตอบโต้กับรัฐบาลพม่าสมัยนั้น
เราก็เริ่มจากการเรียนการสอนภาษาทุกวันอาทิตย์ก่อน ตอนแรกเริ่ม เวลาทำงานจริง ค่อนข้างยากมาก เพราะสถานการณ์ในเมืองไทยเองก็ใช่ว่าจะดี มีทั้งถูกรังเกียจกีดกัน มีการถูกข่มขู่โดยนายจ้าง เพราะไม่มีใครอยากให้ลูกน้องรู้เยอะ หรือพอเจอคนแปลกหน้าเข้ามาในพื้นที่ก็ไล่ยิงบ้าง ทำกันไปทำกันมาจนล่วงมาเป็นปี ก็เลยคิดกันจริงจัง ว่าควรทำการสอนวิชาความรู้ทักษะต่าง ๆ ให้คนพม่าในเมืองไทยจริง ๆ จึงเริ่มก่อตั้งเป็นโรงเรียนสอนวันอาทิตย์ เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ปี 1997 การเป็นแรงงานที่มาเรียนกับเรานี่ลำบากมาก เพราะแรงงานต้องทำงานกลางคืนจะว่างวันอาทิตย์เพียงวันเดียว มาเรียนก็โดนตำรวจไถตังค์บ้าง บางคนถูกจับส่งกลับบ้างก็ไม่อยากเรียน สอนกันอยู่สองสามเดือนก็มีปัญหา ทหารโทรมาบอกว่าพวกเราซ่องสุมกัน พอวันจะเรียนทหารโทรมาแจ้งว่า ตอนนี้จับนักเรียนของเราส่งกลับไปหมดแล้ว เหลือเข้ามาคุยกับพวกครู พวกอาสาสมัครนะ ทำอะไรกันไม่ถูกเลยตอนนั้น แต่ทางการไทยก็เสนอแนวทางการจัดการต่าง ๆ ให้ ให้คำปรึกษาว่าควรทำเป็นโรงเรียนสอนเด็กวันอาทิตย์ ไม่ใช่มาสอนกันแบบไม่ขออนุญาตแบบนี้ หลังจากนั้นก็แอบสอน เปิดห้องเรียนกันในวัดบ้าง หรือไม่ก็ตามลานปลาที่เถ้าแก่ไม่อยู่ โดนไล่เป็นหมูเป็นหมาแต่ว่าเราก็ทำให้การเรียนการสอนมันง่ายกับแรงงาน ย้ายครูย้ายอาสาสมัครผู้ทำการสอนไปในที่ที่แรงงานเข้าถึงสะดวก
ทำกันแบบนี้มาเป็นปี แล้วก็เริ่มมีหน่วยงานด้านสาธารณสุขมาร่วมสอนเรื่องสุขภาพบ้าง เรื่องโรคติดต่อบ้าง ต่อมาก็ได้รับสนับสนุนจากแหล่งทุนต่างประเทศ สนับสนุนรถมาให้เอาไว้ส่งคนป่วย ส่งนักเรียน ส่งคุณครูอาสา เริ่มจากนักเรียน 3 - 4 คนเป็น 70 - 80 คน ทำมาจนถึง วันนี้ มีนักเรียนที่มาเรียนกับเรากว่า 700 คน ส่วนใหญ่จะเรียนกันในวันอาทิตย์ แต่บางส่วนก็เรียนวันพุธกับวันศุกร์ด้วย แล้วบุคลากรครูส่วนใหญ่เป็นอาสาสมัคร ไม่ได้จัดจ้าง โดยการดูแลกันเองด้วยระบบแกนนำ มีเข้ามาร่วมพัฒนาการเรียนการสอนประมาณ 20 – 30 คน
แล้วถ้าอยากมาเรียนที่นี่ต้องทำยังไง ?
การมาเรียนที่นี่มีสิ่งสำคัญคือทุกคนต้องยอมรับกฏกติกาของโรงเรียน จะบอกว่าตัวเองไม่ใช่เชื้อสายเมียนมาร์ แต่ว่าเป็นไทยใหญ่ เป็นกะเหรี่ยงเป็นรัฐฉาน สิ่งที่คุณต้องเป็นหากว่าต้องการจะเรียนที่นี่ คือเป็นนักเรียน เราสอนภาษาพม่า ภาษาอังกฤษ ภาษาไทย คอมพิวเตอร์ เราให้เท่ากันนักเรียนก็ต้องมีสถานะเท่ากันไม่รังเกียจกีดกันแบ่งชั้น แบ่งศาสนาจะพุทธ คริสต์ อิสลาม ต้องสวมยูนิฟอร์มสีขาวที่เหมือนกัน เรียนร่วมกันได้ เหตุผลที่ทำไมเราจึงให้นักเรียนแต่งชุดเหมือนกันเพราะด้วยภาพลักษณ์ของแรงงานต่างด้าว เมื่อเจ้าของประเทศมองเข้ามาก็จะมีแต่ภาพว่าพวกเรานี่มันสกปรก ไม่มีระเบียบไร้วินัย มาทำงานหนักมาทำงานใช้แรงงาน แต่การได้แสดงให้เห็นว่าพวกเราก็สามารถอยู่ในกฏ อยู่ในระเบียบ อยู่ในวินัยได้มันเป็นเหมือนกระดาษคำตอบที่เราส่งคุณครูเหมือนกัน ซึ่งคุณครูของเรานั้นคือคนไทยทั้งประเทศและสังคมโลก การมาเรียนที่นี่ อย่างน้อยผู้สมัคร หรือตัวแรงงานเอง ต้องมีเอกสารรับรองการเข้าเมืองอย่างถูกต้อง ไม่ว่าจะเป็นบัตรชมพู(บัตรประจำตัวคนซึ่งไม่มีสัญชาติไทย) พาสปอร์ต หรือ MOU เพราะว่าเราไม่อยากเสี่ยง แล้วพอคนเยอะ ๆ เราก็ช่วยเหลือไม่ได้ แต่เรื่องแรงงานที่เข้าเมืองผิดกฏหมาย สมัยนี้เองก็ได้รับการแก้ไขคลี่คลายไปมากแล้ว
คำถามที่คนไทยส่วนใหญ่จะต้องถาม คือถ้าแรงงานเมียนมาร์มีความรู้มากขึ้น จะเกิดประโยชน์อะไรกับประเทศไทย ?
ในกรุงเทพไม่มีนายจ้างถูกลูกจ้างเมียนมาร์ฆ่าตัดคอ ไม่เชื่อลองดูสถิติจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ผมจะตอบแค่นี้แหละ ที่เห็นภาพได้มากที่สุด เอาเข้าจริงเราอยากพัฒาให้แรงงานบ้านเราที่เข้ามาทำงานมีความรู้มากขึ้น อย่างน้อยก็รู้เรื่องการสื่อสาร เรื่อง อย่างน้อยสื่อสารกับคนอื่นได้สื่อสารกับนายจ้างได้ ก็จะสามารถทำงานตอบแทนนายจ้างได้อย่างตรงไปตรงมาไม่ใช่สั่งให้ไปทางซ้ายดันไปทางขวา แล้วสมมติใช้ให้ลูกจ้างขึ้นไปทำฝ้าเพดานแล้วไม่ระมัดระวังตกลงมาคอหัก ขาหักแขนหัก การเรียนรู้ทั้งภาษา ทักษะการเอาตัวรอดจึงเป็นเรื่องสำคัญ จะมีนายจ้างที่ไหนอยากได้ลูกจ้างที่คุยไม่รู้เรื่อง ดังนั้นถ้าอยากให้งานตัวเอง หรือกิจการพัฒนา ก็ต้องเปิดโอกาสให้ลูกน้องได้เรียนรู้เพิ่มเติม ขี้หมูขี้หมาไม่ได้อะไรคนพวกนี้จะได้สื่อสารเรื่องงานกับนายจ้างได้ แล้วอีกอย่างคือว่าถ้าหากแรงงานกลับบ้านไป ก็สามารถเอาความรู้กลับบ้านไปได้ พวกเขาไม่เหมือนคนไทยที่มีระบบการศึกษานอกโรงเรียน พวกเขาไม่มีโอกาสกลับไปเรียนหนังสือที่ประเทศต้นทางได้ ถ้าหากว่าอายุเกินจากเกณฑ์ไปแล้ว เราคงไม่อยากให้ชาติบ้านเมืองเต็มไปด้วยคนไม่รู้หนังสือ คนที่สื่อสารกับชาวบ้านไม่รู้เรื่อง อีกเรื่องคือการที่ถ้าคนทำงานรู้ภาษา ก็จะสามารถป้องกันตัวเองไม่ให้ตกเป็นเหยื่อของการเอารัดเอาเปรียบ หรือกระบวนการค้ามนุษย์ได้
อุปสรรคสำคัญที่พบ แล้วความต้องการ การช่วยเหลือในอนาคต ?
จริง ๆ เราเคยปิดตัวนะ เรียนกันจนมาถึงจุดหนึ่ง ซึ่งแรงงานหลายคนบอกว่าอยากมาเรียน แต่สถานการณ์เริ่มไม่อำนวยแล้ว ก็เลยยุติการทำงานไปครั้งหนึ่งเพราะเราดูแลไม่ไหว ไหนจะถูกจับกุม ไหนจะนายจ้าง ไหนจะคนงานเองมีหลายระดับความรู้ มาเรียนรวมกัน ก็ตามกันไม่ทัน มันวุ่นวายไปหมดจนเราต้องยุติ เพื่อทบทวนใหม่ แล้วก็เริ่มทำการเรียนการสอนอย่างเป็นระบบ ตอนนี้นะ เรามีกองทุนที่รวบรวมจากนักเรียนของเรา ตั้งไว้เป็นเงินช่วยเหลือผู้ประสบภัยหรือคนที่เดือดร้อน ตั้งไว้ให้คนที่เรียนดีอยากเรียนต่อแต่ไม่มีทุน แล้วการช่วยเหลือทำโดยไม่เลือกว่ าเป็นคนไทยหรือเมียนมาร์ เช่นว่าตอนที่น้ำท่วมที่ภาคใต้ เราก็เอาเงินไปร่วมบริจาค ถ้ามีโรงเรียนที่ทางเมียนมาร์แจ้งมาว่า ต้องซ่อมแซมตรงนั้นตรงนี้ เราก็ใช้เงินกองทุนบริหารจัดการให้การช่วยเหลือ เงินส่วนมากมาจากนักเรียนปัจจุบันบ้าง ศิษย์เก่าที่ทำงานเก่ง ๆ แล้วพัฒนาตัวเองจนไปเป็นคนใหญ่คนโตได้บ้าง มีนักเรียนที่เรียนกับเราตอนนี้ ได้เป็นล่ามในสถานฑูตไทยที่เนปิดอว์ ได้เป็นครูอาจารย์ในมหาวิทยาลัยบ้าง บางคนเรียนเก่งขยันทำงานแต่ไม่มีเงินก็เรียนจนจบปริญญาได้เพราะเขาเห็นความสำคัญของการศึกษา แล้วถ้าถามถึงความต้องการ จะบอกว่า ปัจจุบันประเทศไทยมีนโยบายการบริหารจัดการแรงงานต่างด้าวที่ค่อนข้างดีแล้ว ทรรศนคติของคนไทยต่อแรงงานเองก็ดีขึ้นกว่าเมื่อก่อนเยอะมาก แต่จากการทำงานของเราสิ่งที่เป็นอุปสรรค คือว่าต่อให้นโยบายดียังไง แต่ผู้ปฏิบัติงานไม่ปฏิบัติตามนโยบายมันก็เหมือนเดิม จริง ๆ แล้วคนที่อยู่ในระดับปฎิบัติการเองอาจขาดความรู้ความเข้าใจเรื่องการบริหารจัดการ การทำงานกับแรงงานต่างด้าวเลยไม่ได้ทำตามนโยบาย อีกเรื่องที่สำคัญ คือรัฐไทยไม่ได้ให้ความสำคัญจริง ๆ ในการพัฒนาความรู้ความสามารถของคนเหล่านี้ รวมทั้งมองปัญหาเรื่องแรงงานต่างด้าวเป็นเรื่องความมั่นคง ไม่ได้มองมิติการพัฒนาประเทศ