ดีได้ แต่ก็ร้ายนักนะ
สมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชน แถลงรายงานสถานการณ์ด้านสิทธิมนุษยชน 10 เด่น ก้าวหน้า10 ถดถอย ประจำปี พ.ศ. 2565
วันที่ 9 ธันวาคม 2565 แฟนเพจสมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชน (สสส.) ถ่ายทอดสดการแถลงข่าวสถานการณ์ด้านสิทธิมนุษยชน ประจำปี พ.ศ.2565 จากสำนักกลางนักเรียนคริสเตียน บริเวณสะพานหัวช้าง โดยมี นายศราวุฒิ ประทุมราช นางสาวลัดดาวัลย์ ตันติวิทยาพิทักษ์ ประธานกรรมการและรองประธานกรรมการสมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชน นางสุนทรี หัตถี เซ่งกิ่ง จากมูลนิธิเพื่อการพัฒนาแรงงานและอาชีพ พร้อมด้วย นายวรภัทร วีรพัฒนคุปต์ คณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย ร่วมให้ข้อมูล
เริ่มต้นจากการที่ นางสาวลัดดาวัลย์ ตันติวิทยาพิทักษ์ กล่าวว่า “การแถลงข่าวครั้งนี้ เป็นการรวบรวมสถานการณ์ในรอบปีที่เครือข่ายองค์กรด้านสิทธิมนุษยชน และสมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชน ได้มีการร่วมจับตา ติดตามการทำงานของรัฐบาล ผ่านการกำหนดนโยบายสาธารณะ และการใช้อำนาจบริหารจัดการประเทศ จนรวบรวมเป็นรายงานขึ้นมาเพื่อเผยแพร่ และเราตั้งใจที่จะทำอย่างต่อเนื่องทุกปี ซึ่งการแถลงข่าวครั้งนี้ไม่ได้เรียงลำดับความก้าวหน้า หรือล้าหลังแต่อย่างใด”
โดย 10 เรื่องเด่นที่ถูกพูดถึงและนำเสนอ ส่วนใหญ่เป็นความโดดเด่นที่เกิดจากรากฐานความเคลื่อนไหวของภาคประชาสังคม เช่น การมีกฎหมายเพื่อคุ้มครองสิทธิมนุษยชนของประชาชนในการป้องกันปราบปรามการทรมาน, การเข้าถึงการเยียวยาผู้เสียหายในคดีอาญาของแรงงานข้ามชาติ, สิทธิในการยุติการตั้งครรภ์ที่ปลอดภัย ตามพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา ฉบับที่ 28 พ.ศ. 2564 ที่แก้ไขให้สิทธิในการยุติการตั้งครรภ์ (หรือทำแท้ง) แก่ผู้หญิงที่อายุครรภ์ไม่เกิน 12 สัปดาห์ ไว้ในมาตรา 301 ของประมวลกฎหมายอาญา, การมีพระราชบัญญัติคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. 2565 ซึ่งแม้จะถูกเลื่อนแต่ก็มีผลบังคับใช้เป็นที่เรียบร้อยแล้ว
แม้จะมีความก้าวหน้า แต่ในวาระเดียวกันรัฐบาลไทยก็ถูกพิจารณาว่า ล้าหลังและถดถอยจากหลายกรณี โดยเฉพาะการจำกัดเสรีภาพในการแสดงออก ของประชาชน การคุกคามผู้ที่เห็นต่างจากรัฐบาลอย่างต่อเนื่อง เช่น
การสลายการชุมนุมของกลุ่ม “ราษฎรหยุด APEC 2022” ซึ่งเป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายและไม่ได้สัดส่วนจนส่งผลให้มีผู้ได้รับความบาดเจ็บ และสร้างความเสียหายแก่ทรัพย์สิน โดยการสลายการชุมนุมนั้นไม่ได้ดำเนินการตามขั้นตอนของพระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะ พ.ศ. 2558
การดำเนินคดีต่อผู้ร่วมชุมนุมประท้วงรัฐบาล อ้างอิงจากรายงานของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ที่ระบุว่าตลอดปี 2565 มีจำนวนประชาชน นิสิตนักศึกษา นักเรียน และนักกิจกรรมทางสังคมถูกคุกคามโดยเจ้าหน้าที่รัฐรวมอย่างน้อย 224 คน ในจำนวนนี้เป็นเด็กและเยาวชนจำนวน 20 คน
ซึ่งสภาพการณ์ดังกล่าว เกิดขึ้นสืบเนื่องตั้งแต่เริ่มการชุมนุมของ “เยาวชนปลดแอก” เมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม 2563 จนถึงวันที่ 30 พฤศจิกายน 2565 โดยรวมแล้วมีประชาชนที่ถูกดำเนินคดีจากสถานการณ์ชุมนุมแล้วอย่างน้อย 1,860 คน ในจำนวน 1,139 คดี นอกจากนี้ การดำเนินคดีต่อผู้ชุมนุมที่เป็นเด็กอายุต่ำกว่า 18 ปี ยังใช้การคุมขังในเรือนจำ ซึ่งเป็นการละเมิดต่อหลักการสันนิษฐานว่าเป็นผู้บริสุทธิ์ก่อนมีคำพิพากษาด้วย
ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ที่กระทบสิทธิมนุษยชน ข้อหามาตรา 112 แห่งประมวลกฎหมายอาญา หรือความผิดฐานหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ (หรือบางครั้งเรียก หมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์) ถูกนำกลับมาบังคับใช้อีกครั้ง หลังจากงดการบังคับใช้มา 2 ปี
ข้อมูลจนถึงวันที่ 30 พฤศจิกายน 2565 มีประชาชนที่ถูกดำเนินคดีมาตรา 112 ไม่น้อยกว่า 221 คดี รวมจำนวน 239 คน ซึ่งผู้ถูกดำเนินคดีต้องเผชิญกับอุปสรรคในการปล่อยตัวระหว่างดำเนินคดี หลายรายยื่นขอปล่อยชั่วคราวหลายครั้ง และเมื่อมีการอนุญาต ก็มักมีการเรียกหลักประกันในอัตราที่สูง โดยเฉลี่ยนคดีละ 1 แสนบาทต่อราย พร้อมกำหนดเงื่อนไขต่าง ๆ เพิ่มเติม ซึ่งการพิจารณาโทษของคดีนี้ถือว่ามีอัตราโทษสูง และไม่ได้สัดส่วนเมื่อเทียบกับลักษณะของการกระทำความผิด ตัวอย่างเช่น หญิงรายหนึ่งถูกศาลพิพากษาจำคุกมากถึง 87 ปี ฐานแชร์วิดีโอคลิปบนโลกออนไลน์ที่ถูกตัดสินว่าเป็นการหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ ถึง 29 กรรม แม้ท้ายที่สุดจะได้รับการลดโทษเหลือ 43 ปี 6 เดือน จากการรับสารภาพ แต่ยังคงเป็นโทษที่สูงอยู่ดี
นอกจากนั้น การแถลงข่าว รายงานสถานการณ์ด้านสิทธิมนุษยชน 10 เด่น ก้าวหน้า 10 ถดถอย ประจำปี พ.ศ.2565 ของสมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชน ยังได้รวบรวมสถานการณ์อื่น ๆ เอาไว้ด้วย เช่น สิทธิในชีวิต กรณีหนองบัวลำภู, สิทธิในกระบวนการยุติธรรม การนำตัวผู้ต้องหามาแถลงข่าวและทำแผนประกอบคำรับสารภาพ, การที่รัฐคุกคามผู้ที่เห็นต่างอย่างต่อเนื่องโดยใช้สปายแวร์ รวมถึงสิทธิของผู้ลี้ภัย ที่รัฐไทยผลักดันกลับ
สำหรับผู้สนใจสามารถอ่านรายละเอียด ในรายงานสถานการณ์ด้านสิทธิมนุษยชน 10 เด่น ก้าวหน้า 10 ถดถอย ประจำปี พ.ศ.2565 ได้แล้วตั้งแต่วันนี้(คลิกที่นี่เพื่อดาวน์โหลด)หรือร่วมติดตามการแถลงข่าวย้อนหลังได้ที่ แฟนเพจสมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชน (สสส.)