กลุ่มประชากรเฉพาะ บนความแตกต่างที่รัฐละเลยและหลงลืมพัฒนา
ถอดความจากเสวนา "เก็บตกสถานการณ์สิทธิมนุษยชนปี 2565"
สมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชน(สสส.) จัดรายการ สสส.เสวนาทัศนะ ตอนพิเศษส่งท้ายปี “เก็บตกสถานการณ์สิทธิมนุษยชนปี 2565” ดำเนินรายการโดยศราวุฒิ ประทุมราช และวรภัทร วีรพัฒนคุปต์ รายการแบ่งออกเป็น 2 ช่วง ช่วงแรกเก็บตกประเด็นสถานการณ์สิทธิเด็ก ผู้หญิง ผู้มีความหลากหลายทางเพศ และผู้พิการ แขกรับเชิญประกอบด้วย สุเพ็ญศรี พึ่งโคกสูง ผู้อำนวยการมูลนิธิส่งเสริมความเสมอภาคทางสังคม, เสาวลักษณ์ ทองก๊วย กรรมการว่าด้วยสิทธิคนพิการแห่งสหประชาชาติ และ ส.รัตนมณี พลกล้า ผู้อำนวยการมูลนิธิศูนย์ข้อมูลชุมชน ส่วนช่วงที่ 2 เป็นการเก็บตกสถานการณ์สิทธิมนุษยชนในพื้นที่ชายแดนภาคใต้ แขกรับเชิญประกอบด้วยนวลน้อย ธรรมเสถียร สื่อมวลชนอิสระ และรอมฎอน ปันจอร์ จากศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ (Deep South Watch)
ช่วงแรกของรายการ เสาวลักษณ์ ทองก๊วย กรรมการว่าด้วยสิทธิคนพิการแห่งสหประชาชาติ ได้ชี้ให้เห็นว่า วันนี้ปัญหาที่ยังพบคือ การให้ความสำคัญกับประเด็นเด็กเกี่ยวกับเด็ก และเพศสภาพของผู้พิการ แม้กฎหมายปรับแก้ไขมาหลายครั้ง แต่ก็มิได้ใส่ประเด็นเด็กพิการ สตรีพิการ หรือผู้พิการที่มีเป็นผู้มีความหลากหลายทางเพศเข้าไป ปัญหาของคนพิการที่เกี่ยวเนื่องกับเรื่องความเป็นเด็กหรือเพศสภาพจึงไม่ได้ถูกแก้ไขให้เป็นรูปธรรม ส่งผลต่อปัญหาการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมในกรณีการถูกกระทำความรุนแรง การล่วงละเมิดทางเพศ ทั้งยังมีกรณีการถูกละเมิดสิทธิด้านสุขภาพและอนามัยเจริญพันธุ์อย่างการนำเด็กพิการเฉพาะที่เป็นเพศหญิงเข้ารับการตัดมดลูกเพื่อเป็นการทำหมัน นอกจากนี้ก็ยังไม่เห็นความพยายามของกระทรวงศึกษาธิการในการจัดการศึกษาร่วมระหว่างเด็กทั่วไปกับเด็กพิการอย่างเป็นรูปธรรม การจัดสิ่งอำนวยความสะดวกแก่คนพิการก็ยังไม่มาตรฐาน กฎหมายป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยก็ยังแทบไม่มีรายละเอียดแผน กลไกที่เกี่ยวข้องกับการดูแลช่วยเหลือผู้พิการ นอกจากนี้สิทธิการเข้าถึงอาชีพของคนพิการยังคงเป็นปัญหา การจ้างงานคนพิการตามกฎหมายโดยคำนึงเสรีภาพในการประกอบอาชีพและทักษะวิชาชีพที่แท้จริงของผู้พิการยังมีน้อยมาก สถานประกอบการส่วนใหญ่มักใช้รูปแบบการจ้างคนพิการทำงานสาธารณะประโยชน์เช่นทำความสะอาดสวนสาธารณะ เพื่อเป็นการยกเว้นข้อกฎหมายที่กำหนดให้จ้างคนพิการหรือจ่ายเงินสมทบกองทุนส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ (กรณีไม่ต้องการจ้างคนพิการ)
สุเพ็ญศรี พึ่งโคกสูง ผู้อำนวยการมูลนิธิส่งเสริมความเสมอภาคทางสังคม ได้นำเสนอสถานการณ์เกี่ยวกับสตรี ว่ายังมีเรื่องการกีดกันด้ายอาชีพด้วยเหตุแห่งเพศ อย่างการยกเลิกรับนักเรียนนายร้อยตำรวจที่เป็นเพศหญิง ซึ่งส่งผลถึงปัญหาเรื่องการมีพนักงานสอบสวนหญิงอย่างเพียงพอแก่การดูแลคดีการล่วงละเมิดทางเพศ พนักงานสอบสวนหญิงที่มีอยู่ปัจจุบันก็มีกรณีการถูกดูหมิ่นว่าไร้ความสามารถ ก้าวหน้าโดย “ใช้เต้าไต่” ทั้งมีพนักงานสอบสวนหญิงที่สอบเป็นผู้กำกับการได้ กำลังจะได้เป็นผู้กำกับสถานีตำรวจ แต่ก็ถูกกีดกันโดยนโยบายจากระดับบริหาร ส่วนเรื่องความรุนแรงที่มีต่อผู้หญิงก็มีสูงขึ้นเรื่อยๆ ในปี2565 มีผู้หญิงถูกกระทำความรุนแรงในครอบครัวถึง 3.1 หมื่นกว่าราย(ข้อมูลจากศูนย์OSCC กระทรวงสาธารณสุข) ส่วนเรื่องกฎหมายคุ้มครองผู้ถูกกระทำความรุนแรงในครอบครัว สิทธิของผู้ถูกกระทำความรุนแรงตามกฎหมายนี้ หากตนเกรงว่าเมื่อแจ้งความแล้ว อาจไม่ปลอดภัย อาจถูกกระทำความรุนแรงซ้ำ สามารถร้องขอเจ้าพนักงานออกมาตรการเพื่อคุ้มครองตามมาตรา10ของกฎหมายดังกล่าวได้ ทั้งในเรื่องการห้ามผู้กระทำเข้าใกล้ผู้ถูกกระทำ ให้ผู้กระทำเข้ารับกระบวนการบำบัด รวมถึงกำหนดวิธีการดูแลบุตร แต่15ปีผ่านมาหลังจากมีกฎหมายนี้ กลไกมาตรา10ก็ยังใช้ไม่ค่อยได้ผลจริงในทางปฏิบัติ ส่วนหนึ่งมาจากปัญหาเรื่องความเข้าใจกฎหมายของเจ้าพนักงานต่างๆที่เกี่ยวข้องด้วย
ส่วน ส.รัตนมณี พลกล้า ผู้อำนวยการมูลนิธิศูนย์ข้อมูลชุมชน ได้นำเสนอถึงปัญหาของการที่ปัจจุบันแม้มีกฎหมายเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมอยู่มากมาย ที่ระบุถึงสิทธิของชุมชนในการมีส่วนร่วมขั้นตอนกระบวนการดำเนินโครงการต่างๆที่จะส่งผลต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของชุมชน แต่ในทางปฏิบัติกระบวนการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนมักจะเป็นเพียงพิธีการที่ไม่ได้ถูกนำมาใช้ประกอบการตัดสินใจในการดำเนินโครงการอย่างแท้จริง ทั้งยังมีปัญหาจากการที่รัฐได้ยกเลิกโครงการบางประเภทเช่น โครงการสร้างแนวกำแพงกันคลื่นแก้ปัญหาการกัดเซาะชายฝั่ง ออกจากกประเภทโครงการที่ต้องทำรายงานการประเมินผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม(EIA) ทำให้โครงการลักษณะนี้เกิดขึ้นมาจำนวนมากโดยที่ชุมชนไม่ได้ต้องการ ทั้งยังเป็นการสิ้นเปลืองงบประมาณโดยสูญเปล่า รัฐไม่เคยสรุปบทเรียนว่า กำแพงกันคลื่นไม่ได้ช่วยแก้ปัญหาอะไรได้เลย ในความเป็นจริงการที่คลื่นทะเลกัดเซาะชายฝั่ง เป็นสิ่งที่เกิดตามฤดูกาล ชายหาดจะสามารถกลับคืนสู่สภาพปกติได้เอง หลายชุมชนก็มีภูมิปัญญาในการบรรเทาการกัดเซาะชายฝั่งได้โดยไม่ต้องอาศัยโครงการกำแพงกันคลื่น และ ส.รัตนมณี ยังได้กล่าวถึงประเด็นเรื่องปัญหาชาวบ้านที่อยู่อาศัยบนที่ดินเขตป่าสงวนว่า แม้ต่อให้มีหลักฐานพิสูจน์การถือครองที่ดินกันมาก่อนการประกาศให้พื้นที่ที่อยู่อาศัยกลายเป็นเขตป่าสงวนได้ หรือแม้กระทั่งต่อให้เป็นที่ดินที่มีเอกสารสิทธิอย่างถูกต้อง มีโฉนด สุดท้ายเมื่อขึ้นศาล ชาวบ้านสู้ด้วยข้อมูลหลักฐานเหล่านี้ กลับยังเป็นฝ่ายแพ้คดีอยู่เสมอ ทั้งยังได้กล่าวถึงแผนปฏิบัติการระดับชาติด้านธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน (National Action Plan on Business and Human Rights: NAP) ซึ่งปี2565นี้ เป็นปีที่ครบกำหนดระยะที่1ของแผนแล้ว(ปี2562-2565) แต่แผนดังกล่าวก็ยังไม่เกิดผลจริงกับเรื่องสิทธิชุมชนอย่างเป็นรูปธรรม
ช่วงที่ 2 ของรายการ นวลน้อย ธรรมเสถียร สื่อมวลชนอิสระ ได้กล่าวถึงสถานการณ์สิทธิมนุษยชนจังหวัดชายแดนใต้ โดยแสดงข้อกังวลถึงการที่พื้นที่3จังหวัดชายแดนภาคใต้อยู่ภายใต้การประกาศใช้กฎหมายกฎอัยการศึกและกฎหมายควบคุมการบริหารราชการแผ่นดินในสถานการณ์ฉุกเฉินมากว่า17ปี ทำให้ในกระบวนการการควบคุมผู้ต้องหาหรือผู้ต้องสงสัยว่าเกี่ยวข้องกับเหตุความไม่สงบต่างๆ ดำเนินไปในลักษณะที่มีความลักลั่นและสุ่มเสี่ยงต่อการที่ผู้ถูกควบคุมตัวจะถูกกระทำทรมาน ทารุณกรรม ทั้งระยะเวลาควบคุมตัวยังมีการใช้กฎหมายซ้ำซ้อนกัน ด้วยการที่เริ่มการควบคุมตัวด้วยกฎอัยการศึก พอครบกำหนดระยะเวลาที่กำหนด ก็ยังควบคุมตัวบุคคลต่อไปอีกโดยกฎหมายสถานการณ์ฉุกเฉิน ตามด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา จนเป็นคำที่เรียกกันในหมู่คนทำงานด้านสิทธิมนุษยชนในพื้นที่ว่าเป็น “37 วันอันตราย” นอกจากนี้นวลน้อยยังได้กล่าวถึงการที่รัฐควรสอบสวนเหตุการณ์การวิสามัญฆาตรกรรมผู้ก่อเหตุในคดีต่างๆด้วยว่า เจ้าหน้าที่รัฐได้กระทำเกินกว่าเหตุหรือไม่ ทั้งยังควรยกระดับความสำคัญของกระบวนการ “เจรจาสันติภาพ” ให้มีความหมายเชิงเจตนารมณ์มากกว่าเพียงเป็นพิธีการ
ด้านรอมฎอน ปันจอร์ จากศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้(Deep South Watch) ได้กล่าวถึงปัญหาการที่รัฐคุกคามเสรีภาพของประชาชนในพื้นที่ ดังที่เกิดกรณีการยึดบอร์ดเกมส์ Patani Colonial Territory จากกร้านกาแฟแห่งหนึ่งในจังหวัดยะลา โดยอ้างเหตุผลว่าบอร์ดเกมส์ดังกล่าวมีเนื้อหาเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ที่บิดเบือนอันอาจทำให้คนในพื้นที่มีทัศนคติที่ไม่ดีต่อรัฐไทย อันจะเป็นภัยความมั่นคง ซึ่งเรื่องประวัติศาสตร์นั้น ควรเป็นเสรีภาพที่สามารถนำมาถกเถียงกันได้นอกเหนือจากชุดตำราเรียนที่ผลิตโดยรัฐไทย รอมฎอนยังได้แสดงความกังวลในเรื่องสิทธิทางวัฒนธรรมของพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ ซึ่งมักมีกรณีการที่ฝ่ายความมั่นคงในพื้นที่เข้าไปในโรงเรียนตาดีกา(สถาบันการศึกษาหลักจริยธรรมตามแบบแผนอิสลาม)เพื่อขอแทรกวิชาที่ปลูกฝังชุดความคิดเกี่ยวกับความรักชาติตามมุมมองของรัฐไทย รวมถึงการที่ฝ่ายความมั่นคงจับตาดู เฝ้าระวังการแสดงออกของเยาวชนที่รวมตัวกันแต่งกายชุดมลายูในวันฮารีรายอ อีดิลฟิตรี ที่จะมีบางหมู่บ้านใช้พื้นที่ประเพณีนี้ในการแสดงออกทางการเมือง ซึ่งฝ่ายความมั่นคงควรเข้าใจว่าสิทธิทางวัฒนธรรมและสิทธิการแสดงออกทางการเมือง เป็นสิ่งจำเป็นที่รัฐควรรับรองให้มีในพื้นที่ลักษณะนี้มากกว่าที่จะไปควบคุมด้วยความหวาดระแวง ซึ่งจะเป็นปัจจัยสำคัญที่นำไปสู่ผลสัมฤทธิ์ของกระบวนการเจรจาสันติภาพด้วย
ท่านที่สนใจ สามารถรับชมย้อนหลังได้ที่ สมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชน (สสส.)