สิทธิมนุษยชนในพม่าใกล้ตัวคนไทยกว่าที่คิด
มูลนิธิศักยภาพชุมชนพอใจ พาสื่อลงพื้นที่ชายแดนไทยพม่า เพื่อหวังให้คนไทยสนใจผลกระทบรัฐประหารในพม่าที่เป็นเรื่องใกล้ตัวแต่ถูกมองข้าม ย้ำสังคมเศรษฐกิจไทยมีชาวพม่าเป็นส่วนประกอบ ระบุทำงานอีกฝั่งยากและท้าทายจากภัยสงคราม แจงช่วยชนกลุ่มน้อย เป็นเรื่องมนุษยธรรมตามหลักกฎหมายสากลไม่ใช่การเข้าข้าง
ระหว่างวันที่ 23 - 27 มีนาคม 2566 มูลนิธิศักยภาพชุมชนนำคณะสื่อมวลชนจากกรุงเทพฯ ไปสำรวจและแลกเปลี่ยนข้อมูลกับคนกลุ่มต่าง ๆ บริเวณชายแดนไทยพม่า ที่ จ.ตาก และ จ.แม่ฮ่องสอน ในประเด็นรัฐประหาร สู้รบ พลัดถิ่น และอนาคตของพม่า ดังรายละเอียดในบทความ "สำรวจผู้เคลื่อนไหวไม่เอารัฐประหารพม่าเลียบแนวชายแดน"
ดนย์ ทาเจริญศักดิ์ นักวิจัยและเจ้าหน้าที่โครงการ มูลนิธิศักยภาพชุมชน ถอดบทเรียนโครงการชวนสื่อมวลชนแลกเปลี่ยนข้อมูล ณ ชายแดนไทยพม่าว่า ตั้งแต่รัฐประหารในพม่า เมื่อ 1 กุมภาพันธ์ 2564 เกิดปัญหาสิทธิมนุษยชนบริเวณชายแดนจำนวนมาก มูลนิธิศักยภาพชุมชุนได้ไปช่วยเหลือคนกลุ่มดังกล่าว ทำให้พบอีกปัญหาหนึ่งคือ คนไทยยังไม่ค่อยรับรู้เรื่องของประเทศพม่าเท่าไหร่ ทั้งที่พรมแดนไทยติดกับพม่ายาวที่สุด คนไทยจึงควรตื่นตระหนกกับเรื่องเหล่านี้ จากเหตุการณ์ดังกล่าว ดนย์จึงอยากให้สื่อมวลชนไทยมีความสัมพันธ์กับองค์กรในพม่าและสื่อมวลชนพม่าเพื่อหาความร่วมมือทำประเด็นสันติภาพในพม่าต่อไป
Q : การทำงานของมูลนิธิฯ ที่ฝั่งไทยกับฝั่งพม่าแตกต่างกันอย่างไร
“ต้องบอกว่าพรมแดนหนึ่งเส้นที่เป็นแม่น้ำ (แม่น้ำเมย และแม่น้ำสาลวินกั้นไทยกับพม่า) การข้ามไปฝั่งนู้นกับอยู่ฝั่งไทย มีมิติทางการเมืองต่างกันมาก แทบจะคนละเรื่อง ที่เรารู้สึกก็คือ ฝั่งไทยถึงจะมีปัญหาบ้างในการทำงานด้านมนุษยธรรม รัฐบาลอาจจะไม่เปิดช่องทาง (ให้ความช่วยเหลือ) ที่ชัดเจน แต่ก็ยังสามารถทำงานได้มากกว่า (อีกฝั่ง) ถึงแม้จะยาก
แต่ฝั่งพม่ามันเป็นภาวะที่ไม่เหมือนกับบ้านเราคือ เป็นภาวะสงคราม เพราะฉะนั้นจริง ๆ ถ้าบอกว่ายากไหม ยากกว่าฝั่งนี้เยอะ แล้วฝั่งพม่าพูดตรง ๆ ว่า ไม่สามารถหาการสนับสนุนจากภายในได้ในหลายเรื่อง เช่น เรื่องที่เกี่ยวกับการแพทย์ต้องพึ่งฝั่งไทยเท่านั้นในการช่วยเหลือ เพราะฉะนั้นจึงมีความท้าทายค่อนข้างมาก
เรื่องข้ามแดนก็มีเรื่องความมั่นคงอีกว่าจะข้ามไปยังไง เราจะทำงานยังไงที่เกี่ยวกับความมั่นคงของทั้ง 2 รัฐ คือ เราก็ต้องระวังมากที่สุด แต่องค์กรเราก็ต้องมีจุดประสงค์หลักว่าเราทำงานเพื่ออะไร เรื่องมนุษยธรรม เรื่องสิทธิมนุษยชน เราก็ต้องพยายามทำให้ได้ แม้จะเสี่ยงก็ต้องพยายามหาการเชื่อมโยงระหว่างพม่ากับไทยให้ได้”
Q : อาจมีคนบอกว่าทำแบบนี้คือการช่วยเหลือชนกลุ่มน้อยบางกลุ่มที่ต่อสู้กับรัฐบาลพม่าอยู่ จะอธิบายอย่างไร
“ต้องบอกก่อนว่า เรื่องมนุษยธรรมเป็นหลักการทางจารีต และตามหลักการสากลมีอนุสัญญาอยู่แล้วคือ International humanitarian law (กฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศ)หลักมนุษยธรรมขั้นพื้นฐานคือหลักการระหว่างทำสงคราม ที่ระบุว่า มีคนกลุ่มไหนบ้างที่ต้องได้รับการปกป้องและต้องไม่ถูกโจมตี ภาวะสงครามมีผู้ได้รับผลกระทบโดยตรงและโดยอ้อม คนกลุ่มนี้ต้องได้รับการดูแลและให้ความช่วยเหลือตามหลักมนุษยธรรมที่ประชาคมโลกร่วมสร้างข้อตกลงกันมา การทำลายข้อตกลงนี้จึงเหมือนการทำลายความเชื่อของคนทั้งโลกในเรื่องหลักมนุษยธรรม เรื่องนี้เป็นเรื่องที่ทุกคนควรจะยึดถือ และควรที่จะให้ความสำคัญ
ที่จริงเรื่องนี้ (กฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศ) ครอบคลุมถึงขนาดที่ว่า ฝั่งเอและฝั่งบีถือปืนกัน ฝั่งเอแพ้แล้ว เมื่อไหร่ที่ฝั่งเอวางอาวุธยอมแพ้ ตามหลักมนุษยธรรมไม่สามารถที่จะไปกระทำความรุนแรงต่อเขา (ฝั่งเอ) ได้ ไม่สามารถที่จะยิงปืนได้ หรือจะเอามาทรมานได้ เมื่อไรที่เขาวางอาวุธ เขาต้องถูกปกป้องจากกฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศ ซึ่งกฎหมายครอบคลุมมาก เพียงแต่คนอาจจะยังไม่เข้าใจ”
Q : คนไทยอาจจะเข้าใจว่าเป็นเรื่องของคนพม่า เราต้องไปยุ่งด้วยเหรอ จะอธิบายยังไง
“อย่าลืมว่าชายแดนไทยกับพม่าติดกัน อย่าลืมประวัติศาสตร์ ผมพูดเลยว่า คนเจนนี้เกิดมา (เจเนอเรชั่น - คนที่เกิดและอาศัยอยู่ในเวลาเดียวกัน อาทิ คน Gen Z คือคนเกิดระหว่างปี 2538-2552) ทุกคนต้องมีความสัมพันธ์กับคนพม่า เราต้องเห็นคนใกล้ตัวมีแม่บ้านเป็นคนพม่า เด็กบางคนถูกคนพม่าเลี้ยงมา”
Q : สร้างตึกสร้างอาคาร
“ถูกต้อง...ดีไม่ดี ทรัพย์สินทุกอย่างที่ถูกผลิตในประเทศไทย จนถึงทุกวันนี้ทุกอย่างที่เราจับต้อง มีแรงงานของคนพม่าอยู่ เพราะฉะนั้นในเชิงปฏิสัมพันธ์แล้ว (ความสัมพันธ์ระหว่างกัน) เราแทบขาดกันไม่ได้ เราอาจจะมองไม่เห็นตัวตนของเขา หรือ เราไม่ให้ความสำคัญกับตัวตนของเขาแต่จริง ๆ แล้วเขาอยู่กับสังคมเรามาตลอด ถ้าเกิดถามว่าทำไมเราต้องสนใจกับประเด็นทางนู้น”
Q : มันเป็นเรื่องของเขาไม่ใช่เรื่องของเรา
“ต้องพูดก่อนว่าเราเป็นมนุษย์ สิ่งหนึ่งที่เชื่อมโยงคือความเป็นมนุษย์ หลักสิทธิมนุษยชนคือเราเป็นมนุษย์ด้วยกัน คือหลักการที่จะพูดว่า มนุษย์ทุกคนควรปฏิบัติต่อกันยังไง ผมให้คำถามง่าย ๆ ถ้าเรามองว่าเราเป็นมนุษย์ เด็กฝั่งพม่าที่อดข้าว เด็กพวกนี้ควรจะต้องอดข้าวไหม ควรจะไม่มีข้าวกินไหม เด็กวัยนี้ควรจะได้รับอาหารที่ดี ควรมีที่อยู่ที่ปลอดภัยไหม ควรได้รับการศึกษาไหม ควรได้รับสิทธิขั้นพื้นฐานไหม ได้รับวัคซีน ยารักษาโรค เท่ากับเด็กทั่วไปในโลกไหม คำถามมันง่าย ๆ แค่นี้เอง ที่เราจะมองว่าสิ่งนี้เป็นปัญหาของ มนุษย์ร่วมกัน เราควรจะช่วยกันแก้ และหาทางออก”
Q : คิดว่าทริปนี้น่าประสบความสําเร็จในการทําให้สื่อเข้าใจมากขึ้น แล้วไปเผยแพร่ได้มากขึ้น
"ถ้าผมมองประสบความสำเร็จ ผมรู้สึกว่า สื่อที่มาด้วยกันตื่นตัวมากขึ้น แม้จะไม่เข้าใจทั้งหมด และคิดว่าอนาคตจะมีความร่วมมือระหว่างกันที่มีการแลกเปลี่ยนข้อมูลแล้วคนไทยจะได้รับข้อมูลที่มาจากภาคพื้นสนามจริง ๆ จากสำนักข่าวของพม่า และจากนักข่าวอาสาของพม่า คนทำงานภาคสนาม คนเก็บข้อมูล ที่ไม่รู้ว่าเขาได้รับค่าตอบแทนเท่าไหร่หรือไม่ แต่พวกเขามีความเสี่ยงเยอะเวลารายงานข่าว และยังไม่สามารถอ้างชื่อตนเองได้ (เพื่อความปลอดภัยขอนักข่าว) งานข่าวเผยแพร่ไปทั่วโลก แต่เขาไม่มีผลงาน คนที่เสียสละตรงนี้ไม่ได้อะไรจากตรงนี้เท่าไหร่คือ ยอมเสียสละเพื่อชาติ เพื่อประเทศ เพื่อพี่น้องของตัวเอง ผมคิดว่าจิตใจเขาใหญ่นะ น่านับถือนะ”
Q : ถ้ามีโอกาสพูดกับคนไทย จะพูดยังไงเกี่ยวกับประเด็นพม่า
“เหมือนตั้งคําถามสั้น ๆ ดีกว่าว่า เราทนเห็นภาพเพื่อนมนุษย์ด้วยกันถูกฆ่าตายได้ไหม เราทนเห็นเพื่อนมนุษย์อดข้าวได้ไหม มีเพื่อนมนุษย์ที่ไม่รับการรักษาพยาบาลได้ไหม ไม่มีบ้านอยู่ได้ไหม เป็นโรคระบาดได้ไหม ผมว่ามันเป็นคำถามง่าย ๆ ไม่ต้องอธิบายอะไร ถ้ามนุษย์ด้วยกันไม่มีความเข้าใจกัน ผมคงคิดอะไรมากกว่านี้ไม่ได้แล้ว สิ่งพี่น้องพม่าประสบตอนนี้ เขาต้องการแค่สิทธิขั้นพื้นฐาน ไม่ต้องการอะไรมากไปกว่านี้ อยากเห็นคนไทยตื่นตัว แล้วก็พยายามช่วยเท่าที่ทำได้” ดนย์ ทาเจริญศักดิ์ นักวิจัยและเจ้าหน้าที่โครงการ มูลนิธิศักยภาพชุมชน กล่าวทิ้งท้าย