30 มกราคม 2023

มโหรีที่ไม่มีตอนจบ ?

กับโรงไฟฟ้าฯเก้าอี้ดนตรีที่จังหวัดลำพูน

ตลอดระยะเวลา 8 ปีที่ผ่านมา หากใครมีโอกาสผ่านไปจังหวัดลำพูน ท่านอาจพบว่า นอกจากโรงงานอุตสาหกรรมมากมาย ขึ้นทั้งแทรกและแซมบนแผนที่สลับกับทิวแถวแนวต้นไม้ ซึ่งนับเป็นโรงงานอุตสาหกรรมทั่วไปได้มากกว่า 98 แห่ง ท่านอาจประหลาดใจกับป้ายหลากหลายข้อความที่ถูกแขวนหน้าบ้านประชาชน อาทิ

“หยุด ! ไฟฟ้าขยะ” / “เราไม่เอาโรงไฟฟ้าขยะ” / “ทำไมเอาขยะพิษร้ายมาไว้ในบ้านเรา” และ “คัดค้านการสร้างโรงไฟฟ้าขยะ”

เหล่านี้เป็นผลจากโครงการบริหารจัดการขยะมูลฝอย เพื่อแปรสภาพเป็นพลังงานไฟฟ้า โดยมีความมุ่งมั่นตั้งใจจะเบิกฤกษ์สร้างโรงไฟฟ้าขยะให้ได้ในจังหวัดลำพูน ... เริ่มตั้งแต่การสำรวจพื้นที่รอบตำบลแม่ลอบ ตำบลทาสบเส้า อำเภอแม่ทา ตำบลมะเขือแจ้ ตำบลศรีบัวบาน อำเภอเมือง และล่าสุดย้ายมาพยักหน้ากับตำบลทาขุมเงิน ซึ่งการสำรวจและแผนจะดำเนินการก่อสร้างนั้นวนไปเรื่อย ๆ แต่เมื่อมีประชาชน องค์กรภาคประชาสังคม และผู้มีส่วนเกี่ยวข้องจากท้องถิ่นไม่เห็นด้วย จากจุดหนึ่ง ก็ยกโขยงวนไปอีกแห่ง วนไปวนมาไม่มีทีท่าจะถอนโครงการดังกล่าวออกจากแผนการพัฒนาจังหวัด เหมือนประชาชนจากหลากหลายตำบลของพื้นที่จังหวัดลำพูนต้องมาร่วมเป็นผู้เล่นในเกมส์เก้าอี้ดนตรีของหน่วยงานรัฐท้องถิ่น

ขณะที่ข้อเท็จจริงจากการสำรวจและรวบรวมข้อมูลในปัจจุบันของมูลนิธิบูรณนิเวศ ได้ข้อสรุปชัดเจนว่า ทุกการใช้ขยะเพื่อเป็นเชื้อเพลิงในโรงไฟฟ้า มีโอกาสนำมาซึ่งมลพิษทางอากาศ ด้วยขี้เถ้ามหาศาล รวมทั้งยังเสี่ยงเกิดการปนเปื้อนในแหล่งดินและแหล่งน้ำอีกมหาศาล รวมทั้งก่อนหน้านี้ คุณเพ็ญโฉม แซ่ตั้ง ผู้อำนวยการมูลนิธิฯ ได้เปิดเผยข้อมูลน่าสนใจผ่านกิจกรรม Ted Talk สิ่งแวดล้อม ประจำปี 2565 ว่า

“ปัจจุบันมีอย่างน้อย 65,000 โรงงาน ในประเทศที่ยังไม่มีรายงานเรื่องปริมาณกากอุตสาหกรรมอันตราย ทำให้มีกากอุตสาหกรรมอันตรายมีโอกาสหลุดรอดออกจากระบบในแต่ละปีมากกว่า 1 ล้านตัน”

ประกอบกับตัวแทนจากกลุ่มรักษ์แม่ทาฯ ซึ่งเปิดหน้าชัดเจนเป็นแนวร่วมคัดค้านโรงไฟฟ้าขยะได้เคยตั้งข้อสังเกตว่า “จังหวัดลำพูนมีขยะเหลือทิ้งวันละ 280 ตัน แยกเป็นอินทรีย์รีไซเคิลแล้วจะเหลือเพียง 144 ตัน แต่การสร้างโรงไฟฟ้าขยะจำเป็นต้องใช้ขยะมาเป็นเชื้อเพลิงในปริมาณ 500 ตัน/วัน ... ดังนั้น ปริมาณขยะซึ่งมากกว่าพื้นที่มีได้จะนำมาจากไหน และผ่านการลำเลียง ขนส่งอย่างไรที่ไม่กระทบกับชุมชน”

วันนี้ มโหรีที่โหมบรรเลงโดยหน่วยงานรัฐ เพื่อจัดเก้าอี้ดนตรีโรงไฟฟ้าฯยังไม่มีทีท่าจะจบ และไม่มีใครทราบว่า “พื้นที่สุดท้าย” ซึ่งจะได้ครองเก้าอี้เดียวชื่อโรงไฟฟ้าขยะที่ประชาชนอย่างน้อย 6 ตำบลไม่ต้องการนี้จะเป็นใคร แต่ในฐานะเครือข่ายเฝ้าระวังสิ่งแวดล้อมและสุขภาพจังหวัดลำพูน พวกเขาได้ส่งเสียง เปิดสาส์นถึงผู้ว่าราชการจังหวัดลำพูน (ไม่ว่าจะวนเวียนมาเป็นชื่ออะไร) โดยมีข้อเสนอชัดเจน 3 ข้อ ดังนี้

1. ให้หน่วยงานทบทวนเพื่อยุติโครงการนี้ ในพื้นที่จังหวัดลำพูน

2 .ให้จังหวัดเปิดพื้นที่การมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วนในการหาทางออกในการจัดการขยะของจังหวัดลำพูนร่วมกัน ทั้งภาครัฐ ภาคประชาชน ภาคธุรกิจ และให้เรื่องนี้ให้เป็นวาระสำคัญของจังหวัด

3. ส่งเสริมและยกระดับองค์ความรู้ ในเรื่องจังหวัดสะอาด และชุมชนต้นแบบในการจัดการขยะให้ครอบคลุมทุกตำบลหมู่บ้าน

ทั้งนี้ ท่านที่สนใจสามารถอ่านรายละเอียดหนังสือ เอกสารขอให้ทบทวน เพื่อยุติโครงการโรงไฟฟ้าขยะฯ และประมวลเหตุผลการคัดค้านโครงการ (คลิก) หรือติดตามความคืบหน้าเรื่องราวเหล่านี้ได้ที่แฟนเพจกลุ่มรักษ์แม่ทา ติดตามโรงไฟฟ้าขยะลำพูน

เนื้อหาอื่นๆ

30 มกราคม 2023
21 มีนาคม 2020
09 มีนาคม 2021

Copyright © 2013 THETHAIACT