ยุติโลกที่ประกอบสร้างด้วยความรุนแรง
สรุปความจากกิจกรรม ทำงาน สุขใจ ไร้ความรุนแรง - Ending violence in the world of work
: กรณีศึกษาความรุนแรงในโลกของการทำงาน โดยเฉพาะกับกลุ่มลูกจ้างทำงานบ้านหญิง
หากโลกประกอบด้วยน้ำ 3 ส่วน และ ดิน 1 ส่วน ก็คงไม่ใช่เรื่องเหนือจริงหากบอกว่าแรงงานนอกระบบเป็นสิ่งประกอบสร้างสำคัญของประเทศไทย ด้วยตัวเลขปริมาณที่มากกว่า 20.2 ล้านคน โดยที่กว่า 60% นั้นเป็นผู้หญิงแต่สิ่งที่แรงงานนอกระบบต้องพบเจอทุกวันนั้น ไม่ใช่การช่วยปกป้อง อนุรักษ์ ฟื้นฟูดูแล เพราะแม้แต่ในทุกวันของการทำงานยังต้องเผชิญกับสภาพแวดล้อมที่รุนแรงทั้งความรุนแรงทางกาย จิตใจ และความรุนแรงทางเศรษฐกิจกับสังคมที่ “มองไม่เห็นหัว”และไม่มีสวัสดิการถ้วนทั่วเมื่อรัฐใช้การพิสูจน์ความยากจนเป็นเกณฑ์ในการเข้าถึงสวัสดิการต่าง ๆ
เมื่อวันที่ 10 ธันวาคม 2566 ที่ผ่านมามูลนิธิเพื่อการพัฒนาแรงงานและอาชีพ ร่วมกับภาคีเครือข่ายหน่วยงานรัฐและภาคประชาสังคมได้จัดงาน ทำงาน สุขใจ ไร้ความรุนแรง - Ending violence in the world of work ณ ห้องออดิทอเรียม ศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบ อาคารไปรษณีย์กลางบางรัก ซึ่งตลอดกิจกรรมได้มีการแสดงละคร การแลกเปลี่ยนพูดคุยถึงสถานการณ์ของแรงงานนอกระบบ โดยมีกิจกรรมสำคัญคือ การเสวนา “เพื่อยุติความรุนแรงในโลกของการทำงาน ทุกคนทำได้” ขึ้นเพื่อขยายภาพให้ผู้ร่วมกิจกรรมได้เห็นถึงความรุนแรงที่เกิดขึ้นโดยเฉพาะกับกลุ่มลูกจ้างทำงานบ้าน
ในช่วงต้น มาลี สอบเหล็ก รองประธานเครือข่ายลูกจ้างทำงานบ้านในประเทศไทย ได้ร่วมให้ข้อมูลสถานการณ์ว่า “ความรุนแรงที่เกิดกับกลุ่มลูกจ้างทำงานบ้านมีหลายมิติ หลากบทบาท เกิดขึ้นกับหลายนายจ้าง ตั้งแต่การเผชิญกับคำพูดดูถูกเหยียดหยาม หรือกระทั่งการกระทำชีกอที่เป็นลักษณะของการล่วงละเมิด ซึ่งสิ่งที่เกิดขึ้นหากเป็นลูกจ้างผู้หญิงก็จะไม่กล้าบอกกับคนอื่น ไม่กล้าแจ้งความ แล้วสถานะของแรงงานที่ทำงานในบ้านกระทรวงแรงงานก็จะมองไม่เห็น ตำรวจก็เข้าไปช่วยเหลือให้การคุ้มครองไม่ถึง แล้วยิ่งหากเป็นลูกจ้างทำงานบ้านที่มีสถานะแรงงานข้ามชาติ ลักษณะการทำงานในบ้านจะเสี่ยงมากกว่าหากถูกยึดเอกสาร ถูกนายจ้างแจ้งว่าจะเก็บเงินเดือนเอาไว้ให้ เรื่องเหล่านี้มีโอกาสเกิดขึ้นกับแรงงานหญิงที่เป็นลูกจ้างทำงานในบ้านทุกคน การรวมตัวกันของลูกจ้างทำงานบ้านจึงเป็นสิ่งสำคัญที่ต้องเกิดขึ้นในวันนี้ อย่างน้อยก็เพื่อดูแลกันเมื่อเกิดปัญหา”
ขณะที่ กนกวรรณ ด้วงเงิน จากสมาคมเครือข่ายแรงงานนอกระบบ ประเทศไทย หนึ่งในผู้ร่วมเสวนาก็ร่วมสำทับว่า “ความรุนแรงทางสังคมเป็นเรื่องหลักแน่นอน แต่สิ่งที่จะไม่พูดถึงไม่ได้เลยคือ ความรุนแรงทางเศรษฐกิจ เพราะการทำมาหากินของลูกจ้างที่รับงานมาทำที่บ้าน มักเผชิญกับการมีรายได้ที่ไม่เพียงพอ ค่าแรงที่ได้ต่ำกว่ามาตรฐาน แรงงานเองก็อยู่ในสภาวะต้องจำยอมไม่เช่นนั้นอาจไม่มีงานทำ สิ่งเหล่านี้เป็นต้นตอของการทะเลาะวิวาท ใช้ความรุนแรงในครอบครัว เพราะรายได้ที่เกิดดูแลลูกผัวไม่ทั่วถึง ซึ่งอาจซึมซับทำให้ลูกหลานเห็นความรุนแรงจนกลายเป็นเรื่องปกติ ไม่นับรวมถึงความรุนแรงจากผลกระทบทางสุขภาพที่เกิดขึ้นจากการทำงาน ... สุดท้ายอยากฝากเรื่องสำคัญคือ เรื่องการผลักดันให้สถานบริการและสถานที่ทำงานมีศูนย์เลี้ยงเด็ก หากภาครัฐสามารถทำให้เกิดศูนย์เลี้ยงเด็กในชุมชนได้ ก็จะช่วยลูกจ้างทำงานบ้านโดยเฉพาะผู้หญิงไปได้มาก”
จากปากคำของผู้ร่วมเสวนานั้น สอดคล้องกับข้อเท็จจริงของประเทศไทยที่เกิดขึ้นตลอด เมื่อเทียบเคียงกับข่าวหลายกรณีที่เกิดกับลูกจ้างทำงานบ้าน อาทิ เมื่อปี พ.ศ. 2545 มาซู เด็กสาวชาวพม่าเสียชีวิตจาการถูกนายจ้างทำร้ายร่างกายและสาดน้ำมันแล้วจุดไฟเผา พ.ศ. 2549 หญิงสาวชาวพม่า 2 คนถูกนายจ้างทำร้ายร่างกายและล่วงละเมิดทางเพศ พ.ศ. 2553 เด็กสาวชาวพม่าถูกนายจ้างหลอกไปขายบริการทางเพศ พ.ศ. 2556 เด็กหญิงชาวกระเหรี่ยงถูกหลอกไปใช้แรงงานและทำร้ายร่างกาย ปี พ.ศ. 2562 ก็มีข่าวของเด็กหญิงชาวลาว วัย 14 ปี ถูกนายจ้างทำร้ายร่างกายและถูกล่อลวงไปล่วงละเมิดทางเพศ ไม่นับรวมถึงปัจจุบันที่เกิดข่าวความรุนแรงต่อลูกจ้างทำงานบ้านในรายการสนทนาระดับประเทศถึง 3 ครั้ง และทุกครั้งจะเจอว่าผู้ได้รับความเสียหายล้วนเป็นลูกจ้าง
ข่าวคราวที่เกิดขึ้นนั้น เป็นไปในทิศทางเดียวกับผลการสำรวจของ มูลนิธิเพื่อการพัฒนาเด็ก (มพด.) ซึ่งพบว่าเด็กผู้หญิงอายุต่ำกว่า 18 ปี ในประเทศไทยโดยเฉพาะที่มีภูมิลำเนาจากภาคตะวันออกเฉียงเหนือ คือกลุ่มแรงงานทำงานบ้านที่มีจำนวนมากที่สุด เด็กจำนวนมากเหล่านั้นต้องทำงานในสภาพที่ถูกเอาเปรียบ แรงงานเด็กและผู้หญิงทำงานบ้านมักถูกใช้ให้ทำงานเป็นเวลานานโดยไม่มีเวลาหยุดพัก และต้องทำงานในสภาพแวดล้อมที่เสี่ยงอันตราย เด็กจำนวนมากถูกกระทำทารุณทั้งร่ายกายและจิตใจ ความรุนแรงที่เด็กทำงานบ้านเผชิญได้แก่ ความรุนแรงทางร่ายกาย วาจา ทางอารมณ์ และการละเมิดทางเพศ
ซึ่งสภาพการทำงานของลูกจ้างทำงานบ้านทั่วไปนั้น ชั่วโมงทำงานในแต่ละวันจะอยู่ระหว่าง 7-15 ชั่วโมง ส่วนใหญ่ไม่ได้มีข้อตกลงกับนายจ้างเรื่องชั่วโมงการทำงานที่แน่นอน รวมทั้งไม่มีการกำหนดวันหยุดประจำสัปดาห์และวันหยุดตามประเพณี ลูกจ้างทำงานบ้านบางคนได้รับอนุญาตให้ลากลับบ้านช่วงเทศกาลได้ แต่ไม่ใช่ลูกจ้างทั้งหมดได้รับสิทธิ...
และจากภาพรวมสถานการณ์ที่เกิดขึ้น เรืองรวี พิชัยกุล ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยบทบาทหญิงชายและการพัฒนา ผู้ร่วมเสวนาเพื่อยุติความรุนแรงในโลกของการทำงาน ทุกคนทำได้ ก็เริ่มต้นช่วงเวลาการพูดคุยของตนเองด้วยการสารภาพว่า “ก่อนอื่นในฐานะคนเป็นนายจ้างของลูกจ้างทำงานในบ้านหญิงด้วย อยากสารภาพว่าที่ผ่านมารู้สึกเหมือนขโมยชีวิตของแม่บ้านที่ทำงานกับเราเหมือนกัน เพราะแม่บ้านของดิฉันที่อยู่ด้วยกันมา 33 ปี เธออยู่มาตั้งแต่อายุตั้งแต่ 15 ปี ตั้งแต่ช่วยเลี้ยงลูกคนที่สองจนมาถึงปัจจุบัน นอกจากเรื่องค่าตอบแทนซึ่งเราก็ยอมรับว่าตั้งแต่วันแรกเธอก็ได้ค่าจ้างต่ำมาก เพราะเราสามารถจ่ายได้เท่านั้น ซึ่งเราเองก็คิดว่ามันปกติใครก็จ่ายเท่านี้ พอได้รู้เรื่องของสิทธิของลูกจ้างทำงานบ้านแล้วเราก็เลยปรับตัวตามสิทธิที่เขาพึงมีพึงได้ อันนี้เราขอเริ่มจากการสารภาพเรื่องส่วนตัวแต่ทั้งนี้ขอฝากเรื่องสวัสดิการทางสังคม เพราะนายจ้างแบบเราไม่สามารถทำประกันสังคมให้ลูกจ้างได้ ทั้งที่เป็นนายจ้างเหมือนกัน มันทำให้เสียโอกาสของลูกจ้างเองแม้เราจะอยากทำให้มากแค่ไหน ... ก็คงต้องฝากหน่วยงานไปปรับปรุงเรื่องนี้ให้ทันสมัย ด้วย”
ในท้ายที่สุดได้มีผู้แทนจากหน่วยงานคือ พรรณี รวมทรัพย์ ผู้อำนวยการกลุ่มงานส่งเสริมคุ้มครองแรงงานนอกระบบ ซึ่งร่วมในการเสวนา ได้พูดถึงเรื่องนี้โดยเฉพาะการเห็นควรที่จะแก้ไขในระดับนโยบายว่า
“ต้องเรียนก่อนว่างานของเราเป็นส่วนหนึ่งในกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน มีภารกิจในการคุ้มครองแรงงานนอกระบบตามที่กฎหมายกำหนด และประชาสัมพันธ์ทำให้ประชาชนเข้าถึงบริการต่าง ๆ ของรัฐ ซึ่งที่ผ่านมาก็อาจต้องยอมรับว่าเป็นไปได้ที่จะยังไม่สามารถดูแลสอดส่องได้ทุกบ้าน เข้าถึงทุกพื้นที่ แต่สิ่งที่รัฐจัดหาไว้นั้นก็พร้อม รวมทั้งหน่วยงานเองก็มีล่ามประจำ เพื่อช่วยเหลือแรงงานข้ามชาติด้วย ถึงแม้อาจจะไม่เป็นที่ทราบกัน
ส่วนสถานการณ์ระดับกฎหมายนโยบายที่กำลังจะเกิดขึ้น คือจะมีการแก้ไขกฎกระทรวงฉบับที่ 14 ทั้ง 11 ข้อ* ซึ่งต้องบอกว่าตอนนี้พอเปลี่ยนรัฐบาลใหม่เราก็ต้องรอคณะรัฐมนตรีชุดใหม่พิจารณา เรารู้ว่าแรงงานนอกระบบเป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนประเทศ กฎหมาย นโยบายต่าง ๆ ของเราจึงพยายามปรับปรุงให้สามารถคุ้มครองดูแลแรงงานได้ครอบคลุมทุกมิติมากที่สุด”
หมายเหตุ 1 - อ่านกฎกระทรวงฉบับที่ 14 คืออะไร...ทำไมภาคประชาสังคมจึงอยากให้ปรับปรุงแก้ไข เนื้อหาโดย My Fair and Happy Home
หมายเหตุ 2 - ท่านที่สนใจสามารถติดตามการเสวนาตลอดทั้งกิจกรรมที่เกิดขึ้นย้อนหลังได้ที่นี่