จอยเซ็นเตอร์ ศูนย์แบ่งปันความรู้ ความรัก ความหวังของพ่อแม่ที่มีลูกบกพร่องทางการเห็นวัย 0 ถึง 6 ปี
จากผู้ปกครองที่เกือบสิ้นหวัง สู่การรวมกันเป็นพลังเพื่อมอบ ดวงตาใหม่ให้กับลูก
ความบกพร่องทางการเห็น เกิดขึ้นได้กับคนในทุกช่วงวัย อาจมองไม่เห็นเลยเรียกว่าตาบอด หรือเห็นเพียงบางส่วน เรียกกันว่า สายตาเลือนราง
หากลูกหรือหลานของเรา ประสบปัญหาภาวะบกพร่องทางการเห็น ซึ่งอาจติดตัวมาแต่กำเนิด ไม่ว่าจะเป็นเพราะการคลอดก่อนกำหนด โรคทางพันธุกรรม โรคจอประสาทตาเสื่อมชนิดต่าง ๆ หรือจากโรคต้อกระจก ต้อหินในเด็ก เนื้องอกกดทับเส้นประสาทตา ทั้งที่เด็กในช่วงวัยแรกเกิดถึงหกขวบ ถือได้ว่าเป็นช่วงเวลาทอง ที่ลูกหรือหลานตัวน้อยของเรากำลังมีพัฒนาการต่าง ๆ ได้อย่างรวดเร็วทั้งทางร่างกายและจิตใจ ไม่ว่าจะเป็นทางระบบประสาทและสมอง ระบบกล้ามเนื้อและกระดูก และระบบอื่น ๆ ของร่างกาย รวมถึงอารมณ์และความรู้สึก เด็กที่ได้รับการส่งเสริมพัฒนาการให้สมบูรณ์ในช่วงนี้ เป็นพื้นฐานสำคัญอย่างยิ่งที่จะส่งผลต่อการพัฒนาทักษะความสามารถในด้านต่าง ๆ ได้ต่อไป เมื่อพวกเขาโตขึ้น ฉะนั้นถ้าเด็กไม่ได้รับการส่งเสริมพัฒนาการในช่วงนี้อย่างเหมาะสม และเลยวัยช่วงนี้ไปแล้ว โอกาสทองของพัฒนาการของเขาไม่อาจจะหวนคืนมาได้อีก
การประเมินทักษะพัฒนาการของเด็กตามวัย จะดูความสามารถหลักๆว่าเด็กคนนั้นทำทักษะได้ตามเกณฑ์อายุหรือไม่ อันประกอบด้วย พัฒนาการด้านการใช้กล้ามเนื้อมัดใหญ่ ซึ่งเกี่ยวข้องกับการทรงตัว การเคลื่อนไหวร่างกาย อาทิเช่น ตั้งศีรษะ การนั่ง ยืน เดิน กระโดด ซึ่งเป็นพื้นฐานสำคัญแรกในการนำไปสู่พัฒนาการในส่วนอื่นๆต่อ สำหรับพัฒนาการด้านการใช้กล้ามเนื้อมัดเล็ก จะเกี่ยวกับการทำงานประสานกัน ระหว่างกล้ามเนื้อขนาดเล็กที่ มือ นิ้วมือ เท้า นิ้วเท้า รอบดวงตา ปาก ในการจัดการกับของชิ้นเล็กๆ อาทิเช่น การหยิบจับ การระบายสี การติดกระดุม เขียนหนังสือ กลอกตา เคี้ยว ถัดมาจะเป็นพัฒนาการด้านสังคม และการช่วยเหลือตนเอง ซึ่งมีความเชื่อมโยงกับความสัมพันธ์กับบุคคลอื่น และการทำกิจวัตรประจำวัน เช่น โผเข้าหาคนคุ้นเคย เล่นกับเด็กคนอื่น และ นอนถือขวดนมได้ ดื่มน้ำจากแก้วเองได้ ใส่เสื้อผ้าเองได้ ใช้นิ้วจับอาหารใส่ปากเองได้ ต่อไปเป็นพัฒนาการด้านภาษา จะเกี่ยวโยงกับการได้ยิน การเข้าใจภาษาและการใช้ภาษารับรู้ต่อเสียงที่ได้ยิน อาทิเช่น หันศรีษะไปตามเสียงที่ได้ยิน เรียกคำสั้นๆได้ และพัฒนาการด้านสุดท้าย คือการใช้ปัญญาและการเตรียมความพร้อมทางวิชาการ เช่น รู้จักหาของที่ซ่อนไว้ ประกอบชิ้นส่วนของเล่น นับจำนวนสิ่งของได้ เป็นต้น
ด้วยเหตุที่ว่า มนุษย์เราเรียนรู้สิ่งต่างๆจากการมองเห็นเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งเป็นหนึ่งในระบบประสาทการรับรู้ทั้งห้าของมนุษย์ การเรียนรู้สิ่งต่างๆมาจากการรับรู้และเลียนแบบเป็นเบื้องต้น ทั้งนี้ ยิ่งช่วงวัยเด็กเป็นวัยของการเริ่มต้นเรียนรู้หรือทำตามคนอื่น อาทิเช่นเด็กสามารถเดินได้ หัวเราะได้ เคี้ยวได้ เพราะการเลียนแบบคนอื่นเพราะเห็นคนอื่นเดิน เห็นคนอื่นหัวเราะ เห็นคนอื่นเคี้ยว เด็กก็จะทำตาม แต่ถ้าเด็กมองไม่เห็น นั่นหมายความว่าการเลียนแบบจะไม่เกิดขึ้นเลย เด็กจะไม่รู้ว่าสิ่งต่างๆ ที่อยู่รอบตัวเป็นอย่างไร ซึ่งนับว่าเป็นปัญหาหลัก ที่ส่งผลต่อการพัฒนาการในทุกๆด้านของเด็ก
โดยปกติแล้ว เมื่อเรานำเอาของเล่นให้เด็กปรกติดู เด็กพวกนี้เขาจะสนใจ และก็จะคลานเข้าหา เอามือไปจับ หรือพยายามเคลื่อนตัวเข้าหา เพราะเด็กมีความอยากเล่น แต่เด็กที่มองไม่เห็นหรือเห็นได้น้อย จะไม่สนใจ เพราะขาดสิ่งที่มากระตุ้นหรือสิ่งเร้านั่นเอง จึงส่งผลให้เขาต้องอยู่เฉยๆ ไม่ค่อยได้ทำอะไร ด้วยเหตุนี้จึงส่งผลทำให้กล้ามเนื้อมัดใหญ่ ไม่มีพัฒนาการที่ดี ตั้งศีรษะไม่ได้ คลานไม่ได้ นั่งไม่ได้ แขน ขาไม่มีแรงแล้วส่งผลต่อไปยังกล้ามเนื้อมัดเล็ก ที่ไม่สามารถมีพัฒนาการตามมา รวมถึงพัฒนาการทุกด้านที่ไปต่อไม่ได้ เด็กมีพัฒนาการช้ากว่าวัย นอกจากนี้ยังส่งผลให้เด็กได้แต่นอนเล่นกับตัวเอง กดตาทำให้ตายุบลง ไม่ก็นั่งโยกเยกไปมา เป็นต้น ถ้าหากปัญหาเช่นนี้ไม่ได้รับการแก้ไข หรือฝึกให้แก่เด็กเหล่านี้จะทำให้พวกเขาเสียบุคลิกภาพ และส่งผลต่อการเข้าสังคมเมื่อเด็กโตขึ้น ดังนั้นพวกเขาต้องได้รับการกระตุ้นพัฒนาการ มีการช่วยเหลือในระยะแรกเริ่ม ปัญหาที่สำคัญอีกส่วนหนึ่งคือการขาดครูผู้เชี่ยวชาญการศึกษาพิเศษด้านตา มีไม่เพียงพอ ที่จะมาคอยช่วยกระตุ้นพัฒนาการหรือฝึกทักษะให้แก่เด็กในช่วงปฐมวัยเหล่านี้ ซึ่งปัญหาที่เกิดขึ้นมาทั้งหมดนี้อาจทำให้เด็กๆ เสียโอกาสในการพัฒนาศักยภาพที่มีอยู่ในตัวเขา ที่จะทำให้เขาดูแลตัวเอง และเป็นพลังขับเคลื่อนให้กับประเทศชาติต่อไปได้
นอกจากปัญหาที่เกิดกับเด็กแล้ว ปัญหาที่สำคัญไม่แพ้กัน คือตัวพ่อแม่เองก็ประสบปัญหา ไม่ว่าจะเป็นความเสียใจ ความเครียด ความกังวล จนส่งผลต่อภาวะจิตใจถึงขั้นสุขภาพจิตเสีย อันเนื่องมาจากพ่อแม่เด็ก ไม่รู้ว่าจะเลี้ยงลูกให้เขาเติบโต และมีพัฒนาการเหมือนเด็กทั่วไปได้อย่างไร ไม่รู้ว่าจะหาผู้ให้คำปรึกษาหรือชี้แนะ เป็นกำลังใจหรือเป็นการแลกเปลี่ยนการเลี้ยงดูลูกจากที่ไหนได้ หลังจากรู้ว่าลูกต้องมี “ความบกพร่องทางการเห็น” และยิ่งหากพ่อแม่ยังตอกย้ำตนเองอยู่กับ “ความโชคร้าย” และคำถามว่า “ทำไมต้องเป็นลูกเรา” ยิ่งจะทำให้จิตใจพ่อแม่เองเกิดความอ่อนแอ ท้อแท้ จนเกิดการบั่นทอนพลังใจ ผลเสียก็จะตกกับเด็กในช่วงเวลาที่สำคัญสำหรับเขา แต่หากพ่อแม่ยอมรับความจริง มีทัศนคติที่ถูกต้อง มีกำลังใจ ได้เร็วมากเท่าไหร่ โอกาสที่ลูกจะได้รับการฝึก การกระตุ้นพัฒนาการให้ได้ผลดีจะมีมากขึ้นเท่านั้น
เนื่องจากยังมีพ่อแม่ที่มีความไม่ยอมแพ้ และไม่ยอมสิ้นหวังนี่เอง ที่ศึกษาหาความรู้ว่า หากเด็กได้รับการกระตุ้นพัฒนาการทุกด้านเป็นอันดับแรก และกระตุ้นการมองเห็นให้แก่เขาตามหลักวิชาการควบคู่ไปด้วย โดยการใช้ไฟฉายทำเป็นลวดลายและสีต่างๆ ส่องไปมาจากซ้ายไปขวา ขวาไปซ้าย บนลงล่าง ล่างขึ้นบน เพื่อเป็นการกระตุ้นระบบประสาทตา และบริหารกล้ามเนื้อตา หรือจะให้เด็กนอนดูไฟกระพริบ หาตุ๊กตาสีสดใสมาห้อยไว้ การใช้กระดาษห่อของขวัญที่เป็นสีเงินสะท้อนแสงระยิบระยับอยู่ข้างหน้า ส่งผลให้เด็กเกิดการอยากมอง อยากจับหรือไขว่คว้าสิ่งตรงหน้าเขา นอกจากนี้เมื่อโตขึ้นหน่อย การตัดแว่นตาโดยผู้เชี่ยวชาญให้ใส่ ให้เห็นภาพที่ชัดขึ้น กระตุ้นการมองเห็นอีกทางหนึ่ง ซึ่งจะช่วยทำให้เด็กเกิดพัฒนาการควบคู่กันทุกด้านไปพร้อมกัน
ด้วยความรักลูกของพ่อแม่หลายคน ที่ได้ทำการศึกษาและเรียนรู้ จากการทดลองวิธีต่างๆ ไม่ว่าจะมาจากครูหรือจะเป็นผู้เชี่ยวชาญหลายสาขา หลากที่ จากผู้ปกครองด้วยกัน โดยการนำมาปฏิบัติ ผ่านการสังเกต และมีการตั้งสมมติฐาน แล้วจึงทดลองพร้อมทำการประเมินผล ที่ได้กับลูกของตนเองและลูกของคนอื่น ตลอดระยะเวลาหลายปีที่ผ่านมา ซึ่งก็คือประสบการณ์จริง และนี่คือองค์ประกอบหลักเพื่อแบ่งปันและเสริมกำลังใจให้กับครอบครัวอื่น
แล้วชมรมผู้ปกครองจอยเซ็นเตอร์ เพื่อเด็กบกพร่องทางการเห็นอายุ 0-6 ปี โดยเรียกกันสั้นๆ ว่า “จอยเซ็นเตอร์” ก็เริ่มขึ้น โดยเป็นการรวมกลุ่มของผู้ปกครองของเด็ก ที่มีความบกพร่องทางการเห็น ซึ่งได้ก่อตั้งขึ้นในปี พ.ศ. 2555 เพื่อเป็นศูนย์บริการช่วยเหลือระยะแรกเริ่มสำหรับเด็กบกพร่องทางการเห็น อายุ 0-6 ปี แม้จะเป็นเพียงกลุ่มสังคมเล็กๆ ที่มารวมกลุ่มแบ่งปันแบบเพื่อนช่วยเพื่อน แต่นับว่าเป็นการตอบโจทย์ที่ตรงกับปัญหา ต่อการส่งเสริมศักยภาพและคุณภาพชีวิตให้แก่ลูกหลานของเรา เพื่อที่จะให้พวกเขาเติบโตอย่างเต็มศักยภาพ และมีความสุขในสังคมได้อย่างเสมอภาค และยังเป็นศูนย์ที่ช่วยเติมเต็มกำลังใจให้แก่พ่อแม่ได้อีกทาง โดยมีคุณปัทมา สิริภัทรวณิช หรือคุณจอย เป็นประธานชมรมของศูนย์ฯ แห่งนี้
ด้วยวัตถุประสงค์ในการเป็นศูนย์ส่งเสริมพัฒนาการและกระตุ้นการมองเห็น และฝึกอบรมทักษะที่จำเป็นแก่เด็ก โดยทางศูนย์ฯ ไม่เก็บค่าบริการหรือค่าใช้จ่ายใดๆ ทั้งสิ้น ซึ่งงบประมาณดำเนินงานมาจากการบริจาคจากกลุ่มผู้ปกครองตามกำลังศรัทธา เพื่อเป็นศูนย์กลางในการแลกเปลี่ยนแบ่งปันความรู้ โดยมีครูการศึกษาพิเศษที่ชำนาญการคอยดูแล โดยจะเน้นเรื่องการกระตุ้นพัฒนาการเรียนรู้ของเด็กตามช่วงวัย และเป็นการอำนวยให้ทั้งเด็กและผู้ปกครองได้เรียนรู้ร่วมกันผ่านการฝึก ที่ออกแบบเป็นการเฉพาะเด็กแต่ละราย ที่มีพัฒนาการต่างกัน หรือเป็นกลุ่มกรณีที่ใกล้เคียงกัน จนกระทั่งเด็กมีการพัฒนาดีขึ้น เป็นลำดับตามเกณฑ์ประเมินด้านต่างๆ อาทิ นั่งได้กินข้าวเองได้ สามารถใส่เสื้อผ้าเองได้ หรือจะเข้าห้องน้ำเองได้ ฯลฯ ซึ่งถือว่าเด็กสามารถช่วยเหลือตัวเอ งและปรับตัวเข้ากับกลุ่มเพื่อนได้แล้วในระดับหนึ่ง ก่อนที่จะต้องเข้าเรียนต่อระดับประถม ไม่ว่าจะเป็นโรงเรียนเรียนร่วม หรือจะเป็นโรงเรียนสอนคนตาบอดก็ตาม ซึ่งศูนย์ฯ นี้จัดให้มีกิจกรรมต่างๆ ขึ้นทุกวันเสาร์ ส่วนวันธรรมดาจะเป็นศูนย์ให้คำแนะนำปรึกษาแบบเพื่อนช่วยเพื่อน
ด้วยเหตุที่จอยเซ็นเตอร์ ตระหนักเป็นอย่างยิ่ง ว่าวัยศูนย์ถึงหกปีเป็นช่วงที่ร่างกายและจิตใจ จะมีพัฒนาการได้อย่างรวดเร็ว ดังนั้นการให้การช่วยเหลือ หรือการกระตุ้นทักษะพัฒนาการทุกด้าน จึงมีความจำเป็นอย่างมาก แล้วทางศูนย์ฯเอง ก็ได้จัดให้มีกิจกรรมเสริมการกระตุ้นพัฒนาการต่างๆ ความรู้ ความสามารถ ควบคู่ไปด้วยอาทิ กิจกรรมแยกสีลูกปัด การระบายสี ทำอาหาร ปลูกต้นไม้ เล่นดนตรี ฝึกเดินไม้เท้าขาว อ่านเขียนอักษรเบรลล์ ฯลฯ และยังจัดกิจกรรมเข้าค่ายนอกสถานที่สำหรับเด็กวัยห้าถึงหกขวบ เพื่อให้เป็นไปตามความเหมาะสมแต่ละช่วงวัย
แน่นอนว่า หัวใจของจอยเซนเตอร์ตั้งแต่ต้นคือการสร้างเสริมความรู้ เติมเต็มกำลังใจ ให้ทั้งเด็กและผู้ปกครอง ด้วยความห่วงใยผ่านการแบ่งปันความรู้ ความรัก เพื่อเป็นการช่วยเหลือและแก้ไขปัญหาที่เกิดจากความบกพร่องทางการเห็นของลูก ซึ่งหากเด็กพิเศษทั้งหมดได้รับการดูแลด้วยความห่วงใย ใส่ใจอย่างถูกวิธี ย่อมจะเป็นการช่วยให้มีพัฒนาการที่ดี ซึ่งจะทำให้พวกเขาใช้ชีวิตได้อย่างมีความสุข ช่วยเหลือตนเองและสังคมได้นั่นเอง
เหนือสิ่งอื่นใด หากพวกเด็กๆ มีพ่อแม่และครอบครัว คอยจับมือกันเดินไปด้วยความรัก ความห่วงใยใส่ใจ และความเข้าใจ ไม่ว่าหลุมบ่อจะมีมากมายแค่ไหน แต่พวกเขาก็สามารถที่จะก้าวเดินไปด้วยกัน แม้บางจังหวะก้าวย่างจะไปอย่างช้าๆ หรือบางครั้ง ต้องเริ่มนับหนึ่งกันใหม่ก็ตาม แต่ในที่สุดก็ไปถึงปลายทางแห่งความสำเร็จอย่างมีความสุขได้ และหากพ่อแม่ทุกคนที่มีลูกเป็นเด็กพิเศษ หันมามองลูกด้วย “ดวงตาดวงใหม่” แล้วช่วยกันประคับประคองให้ลูกก้าวข้ามหลุมบ่อต่างๆ บนถนนชีวิตสายนี้ไปด้วยกัน แม้เราจะไม่รู้ว่าปลายทางแห่งความสำเร็จอยู่อีกไกลแค่ไหน แต่สิ่งที่เรารู้แน่ชัดก็คือ เราไม่ได้ยืนอยู่ที่เดิมและอยู่คนเดียวอีกต่อไป เป้าหมายอาจไม่สำคัญเท่ากับการได้เกี่ยวก้อยร้อยใจกันไปอย่างมีความสุขตลอดเส้นทาง และท้ายสุดทางศูนย์ฯ ปรารถนาที่จะเป็นแสงตะเกียงที่ช่วยส่องทาง…แล้วเราจะไปถึงปลายทางที่หวังไว้ด้วยกัน