สำรวจภูธร - เมืองพิกลสำหรับคนพิการ
สถานการณ์ด้านคนพิการจังหวัดสตูล และหน่วยงานช่วยเหลือในพื้นที่
ความพิการ คือ สภาวะที่อาจเกิดขึ้นได้กับทุกคน ไม่ใช่เรื่องเวรกรรมหรือชะตาลิขิต หากมีวินาทีที่ดำเนินชีวิตด้วยความประมาทหรือเกิดอุบัติเหตุ จากคนไม่เคยพิการก็อาจปรับสถานะตนเองเป็นคนพิการได้ หลายชีวิตพิการมาแต่กำเนิด แต่อีกจำนวนมากที่พิการหลังเกิดบางเรื่องราวขึ้นกับตน และเมื่อพิการแล้วจากสภาวะที่สามารถปรับเปลี่ยนได้ก็จะกลายเป็นสิ่งที่ดำรงคงอยู่ถาวร แม้อวัยวะบางชิ้นจะสามารถหา “สิ่งเทียม” มาทดแทนกันได้
ในประเทศไทย มีประชากรคนพิการมากกว่า 3.5 ล้านคน แตกต่างประเภทกันไป และแตกต่างถิ่นที่อาศัย...แต่กลายเป็นเรื่องให้ชวนตั้งข้อสงสัยบนฐานสิทธิในการดำรงชีวิต เมื่อสิ่งอำนวยความสะดวกที่ทันสมัยกระจุกอยู่แต่ในเมืองหลวง วันนี้ชวนฟังเสียงจากภูธรจังหวัดสตูล ที่มีคนพิการทุกประเภทในจังหวัดมากกว่า 12,000 คน ด้วยเรื่องราวสะท้อนผ่าน 3 บุคคล คือ คนตาบอด ครอบครัวคนพิการทางการเคลื่อนไหว และคู่ชีวิตคนพิการ
1. ไม่มีสิ่งอำนวยความสะดวกไม่เป็นไร แต่ขอได้ไหมให้สิทธิและสวัสดิการทั่วถึง?
วินาทีที่ สมมาด ขุนนา ได้รับเลือกเป็นนายกสมาคมคนตาบอดจังหวัดสตูล เขาก็บอกกับตัวเองว่า จะประทังแค่ชีวิตตนไม่ได้เสียแล้ว เพราะมีพวกพ้องอีกมากมายที่ต้องร่วมทุกข์ร่วมสุข และต้องได้รับการดูแล แม้สิ่งที่นายกสมาคมคนตาบอดคนนี้จะทำได้จะมีเพียงการร้องเพลง เป็นวณิพกตามแบบฉบับคนพิการทั่วไป แต่ในทุกครั้ง ทุกพื้นที่ ทุกตลาดนัดที่เขาไป เขาจะใช้เสียงของตัวเองประชาสัมพันธ์เรื่องสิทธิขั้นพื้นฐานของคนพิการให้ผู้คนฟัง
“คนตาบอดเราก็สามารถใช้ชีวิตร่วมกับคนอื่นในสังคมได้ หลายคนเข้าใจว่าพอเราตาบอดแล้วต้องนอนอยู่บ้าน ต้องรอการช่วยเหลือ เพราะออกมาใช้ชีวิตนั้นมันเสี่ยง แต่ต้องไม่ลืมว่าคุณค่าของคน มันอยู่ที่คนคนนั้นได้ทำอะไรเพื่อแสดงความรับผิดชอบต่อตัวเอง ต่อครอบครัว และเพื่อนร่วมสังคมบ้าง อันดับแรกเลยสำหรับคนพิการ เราสามารถให้เวลากับความเสียใจในสิ่งที่เป็นได้ แต่อย่านาน เพราะท่านต้องเริ่มเรียนรู้ที่จะใช้ชีวิตบนข้อจำกัดของตัวเอง เมื่อเรามั่นใจแล้วว่าเราสามารถอยู่ในครอบครัว อยู่ในสังคมได้ ก็เปิดโอกาสให้ตัวเองได้หาสิ่งที่เหมาะกับตัวเองทำ ตลอดปีที่ผ่านมานั้นสมาคมเราทำงานเพื่อส่งเสริมอาชีพให้คนตาบอด โดยประสานความช่วยเหลือจากภายนอกจนได้รับวัวมาแจกจ่ายให้เลี้ยง 64 ตัว ทำให้คนตาบอด 32 ครอบครัว สามารถใช้ชีวิตในภาคเกษตรได้ นอกจากนั้นความที่เราเป็นสมาคมก็ดูแลเรื่องซ่อมแซม ปรับปรุงสภาพแวดล้อมภายในที่พักอาศัย โดยเริ่มจากห้องน้ำ ... ของปีนี้เราปรับปรุงห้องน้ำไปแล้ว 4 บ้าน ทั้งบนฝั่งและตามเกาะที่มีสมาชิกคนพิการอาศัย”
แม้จะเปี่ยมด้วยความพยายาม แต่ สมมาด ขุนนา ยอมรับว่า ความเป็นคนพิการที่อยู่ห่างไกลศูนย์กลางการปกครอง มักทำให้พวกเขาเป็นบุคคลปลายน้ำเมื่อคราวต้องได้รับความช่วยเหลือ และการปรับปรุงสิ่งอำนวยความสะดวก เพราะทุกครั้งที่มีการสำรวจสิ่งใด คนพิการที่อยู่ห่างไกลมักไม่ถูกนับ และสำหรับนายกสมาคมคนตาบอดจังหวัดสตูล อุปสรรคสำคัญที่เจ้าตัวพบเจอกับตัวเองในทุกวันคือ อคติ และความไม่เชื่อมั่น หรือการหวังดีที่กีดขวางการพยายาม การทำตัวให้เป็น “ปกติ” ของคนพิการ จนส่งผลให้ขาดโอกาสในการเข้าถึงงาน ประกอบกับวิถีภาคเกษตรที่ต้องใช้แรงงาน คนพิการในท้องถิ่นจึงกลายเป็นแค่ “ส่วนเกิน” ที่ครอบครัวคิดว่าเป็นภาระต้องดูแล ซึ่งเขาทิ้งท้ายให้ฟังว่า “แม้เราจะทำงานกับคนพิการ แต่ไม่ใช่เพื่อประโยชน์ของคนพิการเท่านั้น ถ้าคนพิการสามารถดูแลตัวเอง เข้าถึงการทำงานที่เหมาะสมได้”
2. เมื่อสตูลมีคนพิการทางการเคลื่อนไหวมากกว่า 6,000 คน ทูตอารยสถาปัตย์จึงต้องเริ่มทำงานของตน
ยูโสป ชำนาญเพาะ เป็นคนพิการทางความเคลื่อนไหว ที่ใช้ชีวิตร่วมกับภรรยาที่เป็นคนพิการประเภทเดียวกัน นอกจากนั้นยังเป็น ทูตอารยสถาปัตย์ ผู้ทำหน้าที่สำรวจ ดูแลเรื่องสิ่งอำนวยความสะดวกขั้นพื้นฐานสำหรับคนพิการ ทั้งที่จอดรถ ห้องน้ำ ทางลาดในที่สาธารณะ ในที่พัก ตามแหล่งท่องเที่ยว และอาคารหน่วยงานรัฐซึ่งเจ้าตัวสะท้อนประสบการณ์จากการทำงานให้ฟังว่า
“แน่นอนว่าปัญหาหลักของบ้านเรา คือ เรื่องการขนส่งสาธารณะที่แตกต่างจากกรุงเทพ เพราะที่นี่คือไม่มีเลย ระบบขนส่งที่เอื้อต่อการใช้ชีวิต หากพิการมากหรือใครนั่งวีลแชร์ก็หมดโอกาสจะช่วยเหลือตัวเอง จะไปข้างนอก จะไปติดต่อราชการ ต้องพึ่งพาญาติพี่น้องตลอด เข็นออกไปนอกบ้านได้ก็ไปไหนต่อด้วยตัวเองไม่ได้…ส่วนคนพิการที่ยังพอเคลื่อนไหวได้ ออกไปก็เจอว่าบางสถานที่ไม่มีสิ่งอำนวยความสะดวก ยกตัวอย่างห้องน้ำตามปั๊มถ้ายิ่งห่างเมือง ก็จะยิ่งพื้นที่เล็กลง แล้วสิ่งที่เขาจะตัดออกก่อนคือห้องน้ำคนพิการ ความเป็นคนพิการในบ้านเมืองนักบุญของประเทศนี้หาข้าวกินง่ายกว่า หาห้องน้ำเข้าด้วยซ้ำ เพราะคนไม่พิการคิดว่าให้ทานดีกว่า ทำให้สถานะเราเท่าเทียมกัน”
นอกจากการสำรวจอารยสถาปัตย์แล้ว ยูโสป ยังเป็นหนึ่งในผู้ปฏิบัติงานของชมรมคนพิการจังหวัดสตูล โดยตลอดทั้งปีที่ผ่านมา ชมรมได้ให้ความช่วยเหลือให้เพื่อน ๆ คนพิการเข้าถึงตำแหน่งงานไปแล้วมากกว่า 70 ตำแหน่ง
3. คู่ชีวิตคนพิการที่ พระเจ้าประทานบททดสอบมาให้เพื่อไม่ยอมแพ้
ไมซาเร๊าะ ขุนรักษ์ หมานระเด็นเป็นทั้งนักวิชาการอิสระ นักคิดนักเขียน และสตรีที่มีบทบาทในการดำเนินงาน เพื่อคุ้มครองและพิทักษ์สิทธิสตรีมุสลิมที่ได้รับผลกระทบจากความรุนแรงในครอบครัว แต่นอกจากนั้นเธอยังเป็น “คู่ชีวิต” ที่ร่วมทุกข์ร่วมสุขกับสามีที่นิยามตนเองเป็นคนพิการซ้ำซ้อน
นั่นอาจเป็นลิขิตจากพระเจ้าในสายตาเธอ แต่บททดสอบชีวิตของการมีสามีพิการ อาจไม่ได้มาจากตัวเธอเอง เพราะคนรอบข้างและชุมชนที่ยังไม่เข้าใจในสภาวะความพิการมักก่อเรื่องกวนใจเธอได้มากกว่า
“ปัญหาสำคัญสำหรับเราคือเรื่องความไม่เข้าใจ บางคนบ้านเดียวกันยังไม่อยากกินข้าวด้วยกันกับคนพิการ สามีของเราต้องใช้ชีวิตอดทนกับการถูกแกล้ง ถูกล้อมาตั้งแต่เด็ก หนักสุดอาจเป็นเรื่องเบาสุดในสายตาคนอื่นเช่นการถูกจั๊กจี้ ที่เขาทรมานทางร่างกาย และไม่สามารถปัดป้องการถูกกระทำแบบนั้นได้ แต่ทางบ้านก็พากันสอนว่า ใครจะแกล้งต้องอดทน...แม้กระทั่งตอนแต่งงานใช้ชีวิตร่วมบ้านกันแล้ว เขาถูกตั้งคำถามกลางมัสยิดว่า สามารถมีเพศสัมพันธ์กับแฟนได้ไหม ซึ่งมันเป็นคำถามที่ไม่ควรเกิดขึ้นกับใคร จนได้มารู้ทั้งตัวเราเองและครอบครัวก็ต้องสื่อสารออกไปให้ชัดเจนว่า บ้านนี้ไม่อนุญาตให้สื่อสารกับสามีตนแบบนี้ และทุกครั้งที่เราต้องสื่อสารแทนคนพิการมักจะบอกชัดเจนว่า ไม่อนุญาตให้ใครเอาความพิการของผู้คนมาล้อเล่น และไม่ควรมีใครถูกตั้งคำถามแย่ ๆ เพียงเพราะเขาเป็นคนพิการ”
ปัจจุบัน สามีของเธอมีสถานะเป็นครูสอนอัลกุรอานที่ได้รับการยอมรับในชุมชนชาวไทยมุสลิมในพื้นที่ ขณะที่เจ้าตัวกำลังดำเนินงานเพื่อจัดตั้งศูนย์ดูแลผู้หญิงมุสลิม ที่ได้รับผลกระทบจากความรุนแรงในครอบครัว จังหวัดสตูล และให้การช่วยเหลือด้านส่งเสริมด้านอาชีพแก่ผู้หญิงมุสลิมที่ได้รับผลกระทบจากความรุนแรงในครอบครัวด้วย