รวมกันเราอยู่ แยกหมู่ก็ต้องอยู่ให้ได้ - เรื่องราวของกลุ่มเยาวชนผู้อยู่ร่วมกับเชื้อเอชไอวี(TNY+)
เพราะปัญหาจากทัศนคติของสังคม ที่เชื่อเอชไอวีในเด็กและเยาวชนเป็นเรื่องไกลตัว
เจ็ดล้านแปดหมื่นบาท (7,080,000) ต่อเดือน เป็นจำนวนเงินขั้นต่ำที่เด็กและเยาวชน 472 คน จะสามารถหาได้หากเติบโตขึ้นมามีอาชีพ มีหน้าที่การงานตามพื้นฐานครรลองการบริหารจัดการประเทศไทยในปัจจุบัน นอกจากเงินจำนวนนั้นที่พวกเขาหาได้แล้ว ยังมีผู้ได้รับประโยชน์จากพวกเขาอีกหลายกลุ่ม เช่น ครอบครัวของพวกเขาที่สามารถพึ่งพาอาศัยเงินจากการทำงาน องค์กรก็จะได้ประโยชน์จากคนทำงานตามบทบาทหน้าที่ สังคมก็จะได้ประโยชน์จากการที่เยาวชน 472 คน จะออกไปจับจ่ายใช้สอยในทุกวัน
แต่เรื่องเช่นนั้นจะไม่เกิด และรายได้ของเยาวชน 472 คน จะกลายเป็นศูนย์บาททันที ถ้าหากยังมีการปิดกั้นโอกาสของพวกเขา วันนี้ เครือข่ายเยาวชนที่อยู่ร่วมกับเอชไอวี (TNY+) มีสมาชิกซึ่งประกอบไปด้วยเด็กและเยาวชนจำนวน 472 คน พวกเขารวมกลุ่มกันเพื่อสนับสนุนให้เด็กและเยาวชนผู้ติดเชื้อเอชไอวีในเมืองไทยได้เข้ารับการรักษา และได้ใช้สอยสิทธิการรักษาที่มีอย่างต่อเนื่องเพื่อดูแลตัวเอง ส่งเสริมให้ผู้ติดเชื้อเอชไอวีกล้าออกมาใช้ชีวิตอย่างปกติสุข จนถึงปัจจุบันพวกเขาทำงานกันมากว่า 2 ปี และจำนวนสมาชิกมีแต่จะเพิ่มขึ้นตามตัวเลขของเด็กเยาวชนผู้ติดเชื้อฯ ในระบบบริการสาธารณสุขทั่วประเทศ
เอชไอวี กลายเป็นแผลเป็นของสังคมไทยที่เมื่อพบเจอว่าใครเป็นผู้ติดเชื้อฯ ก็น้อยนักที่จะได้รับโอกาสจากสังคม หรือแทบไม่ได้รับโอกาสนั้นเลย
“ครั้งแรกที่รู้ว่าตัวเองติดเชื้อ ไม่ได้มาจากปากพ่อแม่ด้วยซ้ำ รู้จากการที่เราโดนเพื่อนล้อทุกวันว่า อีเอดส์ อีเอดส์ บวกกับการที่เราต้องกินยาที่เราไม่รู้จักทุกวัน โดยที่พ่อแม่บังคับให้กินแล้วบอกว่ามันเป็นวิตามินบ้าง เป็นยาภูมิแพ้บ้าง ห้ามหยุดกินนะ” หนึ่งในแกนนำเยาวชนหญิงวัย 17 ปี เล่าให้ฟังถึงอดีตที่ผ่านมาในครอบครัว ซึ่งเธอได้รับเชื้อมาจากช่องทางแม่สู่ลูก กว่าเธอจะรู้ตัวว่าเป็นอะไร ก็ต้องพบเจอกับขี้ปากคนรอบข้างซึ่งล้อเลียนอย่างคึกคะนองจนเกินจะทนไหว
เรื่องราวเหล่านี้ยังคงมีและจะมีต่อไปคู่ฟ้าเมืองไทย จนตราบใดที่พระอาทิตย์ไม่ขึ้นทางทิศตะวันตกก็ยังจะคงมี มันแสดงให้เห็นว่าเรื่องละเอียดอ่อนของคนหนึ่งคน กลายเป็นเรื่องที่ถูกบอกต่ออย่างสนุกปาก ผู้ปกครองเพื่อนรู้เรื่อง ไปบอกลูกของเขา ลูกของเขาก็มาล้อเด็กเหล่านี้ซ้ำ ๆ ทุกวัน เหมือนลูกดอกของขี้ฟันพุ่งออกจากคันธนูตรงไปยังวงกลม ทิ่มแทงเป้าสีแดงโดยไม่มีวันจบ
“เราเสียเพื่อนแกนนำด้วยกัน เพียงเพราะเขาเป็นผู้ติดเชื้อแล้วเจอกับเรื่องแบบนี้ ไม่มีใครทำร้ายเขา แต่เขาตัดสินใจฆ่าตัวตาย…ที่ทำงานบังคับให้ออก ที่บ้านก็ไม่ได้ต้อนรับอย่างที่สมาชิกในครอบครัวคนหนึ่งควรจะเป็น” แกนนำกลุ่มผู้อยู่ร่วมกับเชื้อเอชไอวีอีกคนถอนหายใจยาว ก่อนเล่าเรื่องสำคัญ
“ปัญหาของเยาวชนและวัยรุ่นที่แตกต่างจากปัญหาของผู้ใหญ่ คือ ความคิดที่ซับซ้อน ไม่ยอมอยู่ในกรอบในพื้นที่ปลอดภัยซึ่งผู้ใหญ่กำหนดให้ ดังนั้นคนรอบข้าง ครอบครัวจึงเป็นด่านแรกที่จะต้องเข้าใจเยาวชนที่เป็นผู้ติดเชื้อ ต้องไม่เป็นสถาบันหลักในการทำให้สภาพแวดล้อมของพวกเขาแย่ลง ทำให้พวกเขาไม่รักตัวเอง ไม่เห็นคุณค่าตัวเอง”
ปัจจุบันการทำงานของกลุ่ม เป็นการทำงานร่วมกับสถานพยาบาล และผู้ให้บริการด้านสาธารณสุข โดยมีกระบวนการเริ่มจากการแนะนำการใช้ยารักษา การดูแลเรื่องสิทธิและการรับบริการ พวกเขาเน้นย้ำว่าสิ่งที่ต้องเฝ้าระวังมากที่สุดสำหรับสถานการณ์ของเยาวชนผู้ติดเชื้อเอชไอวีคือ ต้องระวังเรื่องด็ก เยาวชนอย่างพวกเขามีโอกาสจะหยุดรับยา เพราะไม่ได้มีภาวะในการจัดการตัวเองที่ดีพอ รวมถึงยังมีอีกมากมายที่ไม่กล้าแสดงตัวออกมาเพื่อเข้าสู่ระบบการรักษาพยาบาล
“ประสบการณ์ตรงจากเรื่องนี้นะ การไม่รู้ว่าตัวเองเป็นอะไรเป็นเรื่องใหญ่ เป็นอุปสรรคในการใช้ชีวิตของเด็กที่ติดเชื้อซึ่งกำลังจะเติบโต พ่อแม่บางคนเลือกจะปิดบังสถานะของพวกเขาเพราะกลัวลูกรับไม่ได้ กลายเป็นเรื่องพ่อแม่รังแกฉัน เมื่อวันหนึ่งเขาได้รู้ความจริงโดยที่ไม่มีภูมิคุ้มกันทางสังคม กลายเป็นคิดว่าตัวเองจะเป็นปัญหาของสังคมโดยที่ยังไม่ได้สร้างปัญหาให้ใครเลย” แกนนำเยาชนอยู่ร่วมกับเชื้อเอชไอวี ร่วมกันแสดงความคิดเห็น
หากมองไปที่ระบบการศึกษา สถาบันโรงเรียนเองก็แทบจะไม่สอนเรื่องนี้ให้กับนักเรียน ไล่มาตั้งแต่ประถม จนอุดมศึกษา กลายเป็นว่าผู้ติดเชื้อเอชไอวีเป็นพาหะนำโรคบนหน้ากระดาษ ชีวิตในวัยเรียนพวกเขาพบเจอการเรียนการสอนที่ไม่เข้าใจอยู่หลายบทเรียน โดยเฉพาะกับสิ่งที่พวกเขาเป็น
“พอเด็กไปอยู่ในระบบการศึกษาทั้ง ๆ ที่ไม่ได้รู้ตัวเองมาก่อนว่าติดเชื้อ ไปอ่านเจอหนังสือก็บอกว่าโรคพวกนี้เกิดจากความสำส่อน เกิดจากการมีคู่นอนไม่เลือก มีอาการน่ากลัว เป็นโรคน่ารังเกียจ พอเป็นแล้วต้องตาย มันเป็นการปลูกฝังที่มาจากการศึกษาผิด ๆ เห็นแบบนี้นอกจากกลัวสังคมแล้ว เยาวชนผู้ติดเชื้อฯ เหล่านั้นยังต้องกลัวตัวเองเข้าไปอีก”
นอกจากการสนับสนุนเยาวชนผู้ติดเชื้อฯ ให้เข้าสู่ระบบการรักษาแล้ว พวกเขายังเป็นส่วนหนึ่งในการให้กำลังใจเพื่อน ๆ ด้วยกัน ดังเช่นแกนนำจากจังหวัดลำปางออกปากว่า “นอกจากเราอยากให้เยาวชนที่อยู่ร่วมกับเชื้อมีสุขภาพแข็งแรง พร้อมจะเข้าสู่ระบบการรักษา เรายังต้องบอกพวกเขาอีกว่า คุณไม่ได้อยู่คนเดียว ดูพวกเราสิ พวกเราก็เป็น แถมพวกเรายังเติบโตขึ้นมาได้ในสังคมโดยไม่เดือดร้อนใคร ไม่ต้องรังเกียจตัวเอง พวกเรายังใช้ชีวิตปกติ ทำงานมีครอบครัวและทำประโยชน์เพื่อสังคมนี้ได้”
มีเชื้อเอชไอวี เรียนได้ ทำงานได้ เป็นข้อความรณรงค์หลักของผู้ปฏิบัติงานกับผู้ติดเชื้อเอชไอวีมานานกว่า 5 ปี แต่ข้อเท็จจริงที่ปรากฏในสังคมพบว่า ยังมีกรณีขอคำปรึกษาร้องเรียนเข้ามาที่สายด่วน 1663 และศูนย์รับเรื่องร้องเรียนของมูลนิธิศูนย์คุ้มครองสิทธิด้านเอดส์อยู่เป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะกรณีผู้ติดเชื้อเอชไอวีถูกบังคับให้ออกจากงาน
เรื่องนี้ แกนนำจากเครือข่ายเยาวชนที่อยู่ร่วมกับเอชไอวี (TNY+) เองก็เคยมีประสบการตรงเช่นกัน “หนูอยากเรียนพยาบาลเพื่อโตไปช่วยดูแลรักษาผู้ป่วย แต่หลังจากสอบติดแล้ว ก่อนการปฐมนิเทศนักศึกษา ก็เจอข้อกำหนดให้ต้องตรวจสุขภาพ และหากมีสถานะเป็นผู้ติดเชื้อฯ ก็กลายเป็นว่าไม่สามารถเข้าเรียนได้ด้วยเหตุผลว่า หากจบไปเป็นพยาบาลก็จะทำให้ผู้รับบริการวิตกกังวล และเพื่อป้องกันการติดต่อจากพยาบาลสู่ผู้รับบริการ ตอนนี้เลยต้องเปลี่ยนสาขามาเรียนสังคมสงเคราะห์แทน”
เมื่อความฝันของคนหนึ่งคนถูกบังคับให้ย้ายที่ โดยไม่ได้มีสาเหตุมาจากความอ่อนด้อยของศักยภาพ และความสามารถของการทำงาน นั่นแปลว่าสังคมของเรากำลังดำเนินไปอย่างถูกต้องตามนโยบาย “ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง” อยู่หรือไม่
จากสิ่งที่เกิดขึ้นตอนนี้ แต่ละจังหวัดในประเทศไทย ได้เริ่มมีแกนนำเด็กเยาวชนที่ทำงานกับกลุ่มเยาวชนผู้อยู่ร่วมกับเชื้อเอชไอวีบ้างแล้ว และพวกเขาหวังว่าจะขยายเครือข่ายออกไปให้ได้มากกว่า 700 คน ตามข้อมูลที่ปรากฏในระบบบริการสาธารณสุขให้ได้ ไม่มีใครบอกได้ว่าตัวเลขของกลุ่มคนทำงานภาคประชาสังคมกลุ่มนี้จะไปอยู่ตรงไหน แต่นั่นไม่ใช่ปัญหาของคนเพียง 472 หรือ 700 คนไม่ใช่หรือ เมื่อสภาพแวดล้อมที่เด็กและเยาวชนเหล่านี้จะเติบโต เราล้วนคือส่วนประกอบสำคัญด้วยกันทั้งสิ้น
หากเราเริ่มวันนี้ การยุติการเลือกปฏิบัติต่อกันในสังคมจะเริ่มหมดไป แล้ววันที่เด็กเยาวชนผู้ติดเชื้อจะได้พิสูจน์ตัวเองด้วยความสามารถอย่างแท้จริงจะมาถึงในเร็ววัน …ขอให้วันนั้นเป็นวันที่มีอยู่จริง