จากแสงเทียนสันติภาพเกาหลี ถึงพัฒนาการภาคประชาสังคมไทย
เก็บตกจากวงสนทนาจากภาคประชาสังคมเกาหลีใต้ ถึงประเทศไทย
แสงเทียนจากพลเมืองเกาหลีใต้นับล้านคน ที่รวมตัวกันขับไล่ประธานาธิบดี ปาร์ค กึน เฮ เมื่อปี. พ.ศ.2559 ยังคงส่องสว่างมาจนถึงช่วงเวลาสำคัญของโลก จนเมื่อเดือนเมษายน พ.ศ.2561 ได้เกิดข้อตกลงสันติภาพระหว่างสองเกาหลี หรือปฏิญญาปันมุนจอมเพื่อสันติภาพ ความรุ่งเรืองและการรวมชาติบนคาบสมุทรเกาหลี (Panmunjom Declaration for Peace, Prosperity and Unification on the Korean Peninsula) ขึ้นเป็นครั้งแรก ตลอดหลายทศวรรษที่รัฐบาลเกาหลีเหนือและเกาหลีใต้ไม่เผาผีกัน แต่หนึ่งในปัจจัยสำคัญที่มีส่วนร่วมในการทำให้สันติภาพและการ “ยุติการกระทำที่เป็นปฏิปักษ์ทั้งหมด” บนคาบสมุทรเกาหลีเกิดขึ้น มีกลุ่มคนหนึ่งที่จะหลีกเลี่ยงการถูกพูดถึงไม่ได้เลยนั้นคือ “ขบวนการภาคประชาสังคม” ในประเทศเกาหลีใต้
ในการเสวนาขบวนการภาคประชาสังคมกับการสร้างสรรค์สังคมโลก ที่จัดโดยสถาบันส่งเสริมภาคประชาสังคม ศ.ดร.ลี ซีแจ นายกสภาสิ่งแวดล้อมแห่งสหพันธรัฐเกาหลี หนึ่งในผู้ถือเทียนร่วมขบวนการภาคประชาสังคมเพื่อสันติภาพ เป็นตัวแทนในการถ่ายทอดประสบการณ์สำคัญครั้งนั้น
“ขบวนการภาคประชาสังคมในเกาหลีใต้ไม่ได้ก่อตั้งโดยรัฐบาล หรือองค์กรธุรกิจ พวกเราไม่ได้สนใจแค่เรื่องการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองเท่านั้น แต่เป็นกลุ่มประชาชนที่ก่อตั้งกันเอง จัดตั้งกันเอง ทุกคนต้องการเห็นการพัฒนาสังคมในทุกมิติ พวกเรามีกลุ่มคนที่ถนัดในจำเพาะวิชาชีพทั้งกลุ่มหมอ ทนายความ ทันตแพทย์ รวมไปถึงสมาคมศิลปินต่าง ๆ ที่ไม่ใช่นักเคลื่อนไหวอาชีพออกมารวมตัวกัน ทุกคนเป็นส่วนหนึ่งของการเคลื่อนไหว จนประสบความสำเร็จถึงขนาดรัฐบาลปัจจุบันให้ความสำคัญ และถูกขนานนามว่าเป็นรัฐบาลที่มาจากแสงเทียนของภาคประชาสังคม”
ศ.ดร.ลี ซีแจ ย้อนความถึงสถานการณ์ขบวนการภาคประชาสังคมในเกาหลีใต้ในยุคเริ่มต้น ว่าสามารถยืนหยัดอยู่ได้ด้วยการสนับสนุนกันเองผ่านการเก็บค่าบำรุงสมาชิก แต่หลังจากการพัฒนาเทคโนโลยีในปัจจุบัน ศ.ดร.ลี ซีแจยอมรับว่าการสนับสนุนทางการเงิน ด้วยรูปแบบอุดหนุนค่าบำรุงจากสมาชิกนั้นลดน้อยถอยลงไป แต่กลับพบว่าเจตนารมณ์ในการทำงานเพื่อพัฒนาสังคม โดยเฉพาะการใช้เทคโนโลยีเป็นเครื่องมือยังคงดำรงอยู่ ซึ่งพบเห็นได้จากการเคลื่อนไหวภายใต้สัญลักษณ์แห่งแสงเทียนยังคงมีอยู่เป็นระยะ จนพูดได้ว่าการประท้วงกลายเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมเกาหลีใต้ไปแล้วขณะเดียวกันขบวนการภาคประชาสังคมในประเทศเกาหลีใต้เอง ก็ได้มีการทำงานเชิงประเด็นมากขึ้น เช่น การเรียกร้องเพื่อความเท่าเทียมทางเพศ การเฝ้าระวังทุจริต ครั้งหนึ่งในการเลือกตั้งทั่วไปของเกาหลีใต้ ภาคประชาสังคมได้ทำการเปิดเผยรายชื่อนักการเมืองที่เข้าข่ายทุจริตให้กับผู้มีสิทธิเลือกตั้งได้รับทราบ จนสามารถสกัดกั้นนักการเมืองที่ภาคประชาสังคมเกาหลีใต้ตรวจสอบแล้วว่าฉ้อฉล เข้าสู่ตำแหน่งบริหารงานแผ่นดินได้ ซึ่งเรื่องราวเหล่านี้นับเป็นก้าวสำคัญของขบวนการภาคประชาสังคมเกาหลีใต้ อันนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในภูมิภาค คือ ข้อตกลงสันติภาพบนคาบสมุทรเกาหลี
ขณะที่ประเทศไทย ทรรศนะจากหน่วยงานรัฐเมื่อมองมายังภาคประชาสังคมกลับไม่เป็นไปในแบบ ‘ผู้มีส่วนร่วมในการพัฒนาประเทศ’ มากเท่าไหร่นัก โดย นายมณเฑียร บุญตัน สมาชิกวุฒิสภา และผู้ดำเนินงานในสมาคมสภาคนพิการทุกประเภทแห่งประเทศไทย แสดงความคิดเห็นว่า
“รัฐไทยไม่มีความเชื่อว่า ประชาชนของตัวเองจะมีน้ำยาออกมารวมตัวกันแบบมีธรรมาภิบาล เพื่อทำงานร่วมกับรัฐในการพัฒนาประเทศได้ แต่กลับมองขบวนการภาคประชาสังคมว่าเป็นการทำงานแบบมีเป้าหมายแอบแฝง เป็นลิ่วล้อรับใช้กลุ่มทุน นั่นทำให้ประเทศสูญเสียโอกาสที่จะได้ใช้ความรู้ความสามารถของภาคประชาสังคมในการทำงานพัฒนา”
เช่นเดียวกันกับ ผศ.ดร.นิธิ เนื่องจำนงค์ จากภาควิชารัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร วิทยากรร่วมในการเสวนาฯ ที่อธิบายความชัดเจนในเรื่องนี้เพิ่มเติมในรายละเอียดว่า “ต้องบอกก่อนว่าภาคประชาสังคมไม่ใช่ฮีโร่ ไม่ใช่ยาสารพัดนึก และภาคประชาสังคมเองก็มีความหลากหลาย ทั้งในประเด็นการทำงาน พื้นที่ทำงาน และความเห็นต่อการพัฒนาประเทศ ซึ่งในความหมายแท้จริง ยังกินความไปถึงกลุ่มคนที่รวมตัวกันแล้วใช้วิธีการรุนแรง วิธีการไม่ดี โดยเชื่อว่านั่นเป็นทิศทางในการพัฒนาสังคมไปสู่จุดที่ดียิ่งขึ้นด้วย แต่ในวันนี้ต้องยอมรับ ว่าภาคประชาสังคมมีส่วนสำคัญอย่างมากในการพัฒนาประเทศ จากการศึกษามีข้อค้นพบว่าหนึ่งปัจจัยสำคัญที่จะทำให้การทำงานและการเคลื่อนไหวของภาคประชาสังคมประสบความสำเร็จและได้รับการยอมรับมาก คือการเคลื่อนไหวที่ปราศจากความรุนแรง และไม่ได้มีการสั่งการแบบบนลงล่าง ไม่ได้มีการจัดตั้งอย่างเป็นรูปเป็นร่าง หรือกล่าวได้ว่าเป็นการเคลื่อนไหวของกลุ่มประชาชนที่มองเห็นปัญหา และอยากเห็นการพัฒนาจึงลุกขึ้นมามีส่วนร่วมกำหนดแนวทางการแก้ไขไปด้วยกัน”
จากความคิดเห็นนี้ นายภาคภูมิ วิธานติรวัฒน์ ประธานสมัชชาองค์กรเอกชนด้านการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ผู้ร่วมเสนาได้ร่วมเพิ่มเติมข้อมูลสำคัญว่า
“ภาคประชาสังคมไทย ไม่ได้ถูกออกแบบองค์กรมาให้ดูแลตัวเองได้ อาศัยเพียงการทำงานจากการสนับสนุนของแหล่งทุนที่หมุนเปลี่ยนเวียนไป คนทำงานภาคประชาสังคมจึงมีจำนวนลดลง ด้วยเหตุผลเรื่องความมั่นคงในอาชีพ แต่สิ่งสำคัญกว่าสำหรับสังคมไทยในปัจจุบัน คือการทำให้ทุกอาชีพมีหัวใจของความเป็นภาคประชาสังคม เป็นผู้มีส่วนร่วมในการพัฒนาประเทศ”
ไม่ว่าการสร้างสรรค์สังคมโลกจะดำเนินไปภายใต้กระแสสันติภาพ และการอยู่ร่วมกันอย่างเป็นสุขอย่างไร แต่ประชาชนทุกคนในฐานะ “ภาคประชาสังคม” ของพลเมืองโลก ถือเป็นปัจจัยและทรัพยากรสำคัญ ที่ต้องร่วมก้าวเข้ามามีบทบาทในการกำหนดทิศทางการแก้ปัญหา การพัฒนาสังคมของตน โดยปราศจากข้อจำกัดด้านอาชีพ เพศสภาพ สถานะ และการศึกษา เพราะในปัจจุบัน ภาคประชาสังคมได้เป็นเสมือนแสงจากเปลวเทียน ที่เมื่อรวมกันก็จะส่องสว่างได้แม้ในที่มืดมิด