พิทักษ์วัดไทร - ชวนสำรวจกลุ่มคนทำงานภาคประชาสังคมข้างบ้านคุณ
บทความร่วมประกวดสารคดี We are CSO ภาคประชาสังคม ใคร ๆ ก็เป็นได้ โดย พจน์ ณฐาภพ สังเกตุ
ลืมตาออกมาดูโลกได้ 24 ปี ผมใช้ชีวิตอยู่ในเมืองกรุง ที่ชื่อว่ากรุงเทพมหานคร พอพูดถึงคำว่า "ภาคประชาสังคม" ความคิดแรกที่นึกถึงคือ กลุ่มคนตามชนบท ที่รวมตัวกันขึ้นมาทำอะไรให้ชุมชนของตนเอง มันคงเป็นเพราะว่า สายตาที่ผมมีต่อเมืองกรุงแห่งนี้ เต็มไปความสับสน วุ่นวาย ตึกรามอาคารสูง มีหลายคนนิยามเมืองแห่งนี้ว่า เป็นเมืองของหุ่นยนต์
แต่หากมองให้ลึกลงไป กรุงเทพยังแฝงไปด้วยย่านชุมชนเก่ามากมาย ที่ซ่อนตัวอยู่หลังตึกสูงใหญ่ และใครจะรู้กันละ ว่าใกล้ ๆ บ้านผม จะมีการรวมกลุ่มกันทำกิจกรรมเพื่อชุมชน วันนี้ผมเลยถือโอกาสเปิดประตูบ้าน เดินออกมาเยี่ยมเยียน คุณลุงคุณป้า ที่รวมกลุ่มกันตั้งชมรม “พิทักษ์วัดไทร” เพื่อคงไว้ซึ่งความเป็นชุมชนวัดไทร ภายใต้ความเจริญก้าวหน้า ของย่านพระราม 3 ใจกลางเมืองกรุงฯ
ชมรมพิทักษ์วัดไทร ก่อตั้งเมื่อปี พ.ศ. 2556 เป็นเจตนารมณ์ของชาววัดไทร เพื่อรณรงค์ให้ประชาชนในพื้นที่เกิดความสามัคคี โดยเป็นศูนย์กลางส่งเสริมให้ประชาชนในพื้นที่ ได้มีส่วนร่วมในการพัฒนา และอนุรักษ์วัฒนธรรมประเพณีของชาววัดไทร โดยจัดให้มีกิจกรรมต่าง ๆ เช่น การสอนภาษาอังกฤษให้เด็กและบุคคลทั่วไป กิจกรรมฝึกอาชีพ การสวดมนต์ เจริญศีลภาวนา และการจัดกิจกรรมในวันประเพณีสำคัญต่าง ๆ
ผมมาถึงวัดไทรในช่วงเวลาเที่ยงวัน ภาพพระอุโบสถตั้งตระหง่าน มีแบล็คกราวเป็นคอนโดหรู หากใครยังจำกันได้ วัดไทรเคยเป็นข่าวโด่งดังเมื่อปี พ.ศ.2561 เมื่อมีคนจากคอนโดไปร้องเรียน เรื่องพระตีระฆังเสียงดัง ซึ่งหากไม่มีข่าวนี้ “วัดไทร” ถือว่าเป็นวัดที่เงียบสงบ เพราะที่นี่เท่าที่ผมสัมผัสมา จะไม่มีตลาดนัด, ขอหวย, ปลุกเสกของขลัง ซึ่งเมื่อเทียบกับวัดในระแวกบ้านผมแล้ว วัดไทรคือว่าเป็นสถานที่ ที่ผมสามารถเรียกว่า วัดได้อย่างเต็มปากที่สุด
ในทุก ๆ วันเสาร์-อาทิตย์ ทางชมรมพิทักษ์วัดไทร จะมีการจัดกิจกรรมทุกสัปดาห์ อย่างอาทิตย์นี้ มีน้อง ๆ จากวิทยาลัยดุสิตธานี มาสอนการทำขนมใส่ไส้ให้คนในชุมชน ซึ่งระหว่างการลงพื้นที่เก็บข้อมูล ผมก็รู้สึกได้ว่า บทความภาคประชาสังคมของผม จะเริ่มกลายเป็นรีวิวการทำขนมใส่ไส้ขึ้นไปทุกที และที่น่าตลกอีกหนึ่งสิ่ง คือไม่รู้ว่า เด็ก ๆ มาสอนป้า ๆ หรือป้า ๆ กันแน่ที่กำลังสอนเด็ก ๆ อยู่ แต่ที่จริงแล้วมันคงเป็นการแชร์ความรู้ซึ่งกันและกัน และขอคอนเฟริมเลยว่า ขนมใส่ไส้เวอร์ชั่น ป้าๆ feat. หลาน ๆ อร่อยที่สุดเท่าที่เคยทานมาเลยละ
ในระหว่างที่คลาสทำขนมกำลังดำเนินกันไปอย่างสนุกสนาน ภายในศาลา 3 เหล่าคนในชมรม ก็ได้แปรเปลี่ยนศาลาวัดให้กลายเป็นห้องเรียนภาษาอังกฤษ โดยป้าหนู ครูภาษาอังกฤษของเรา ภายในคลาสประกอบไปด้วยคนหลากหลายวัย ผมรู้สึกชื่นชมคุณป้าท่านหนึ่งที่มีอายุมากแล้ว แต่ก็ยังมาเรียน โดยคลาสการสอนภาษาอังกฤษ จะแบ่งเป็น 2 วันคือ วันเสาร์จะเป็นการเปิดสอนในเด็กระดับชั้น ประถม 3 และ 4 ซึ่งเปิดโอกาสให้จิตอาสาสามารถเข้ามาสอนกันได้ และวันอาทิตย์เปิดสอนให้แก่คนทั่วไป เวลา 13.00 - 15.00 น.
หากพูดกันตามตรง กิจกรรมหรือการรวมกลุ่มกันของ “ชมรมพิทักษ์วัดไทร” ไม่ใช่เป็นสิ่งแปลกใหม่ หรืออาจดูไม่ได้พิเศษ สำหรับคุณที่อ่านอยู่ก็ได้ เราสามารถเห็นภาพการรวมกลุ่มเช่นนี้ได้ตามชุมชนต่าง ๆ ในชนบท หรือแม้แต่ในกรุงเทพฯเอง ผมก็เชื่อว่า ยังมีอีกหลายชุมชนที่ยังหลงเหลือการรวมกลุ่มอย่างนี้อยู่ เพราะสุดท้ายแล้วมนุษย์ก็ยังคงต้องการพึ่งพาความสัมพันธ์ร่วมกัน ในรูปแบบของชุมชน หรือกลุ่มบุคคลร่วมกันอยู่ดี
แต่สิ่งที่อยากจะเน้นย้ำในบทความนี้ คืออยากให้พวกเราลองกลับมาสำรวจสิ่งใกล้ตัวเรา ทั้งระแวกบ้าน ที่ทำงาน ชุนชมใกล้ ๆ หรือพื้นที่สาธารณะต่าง ๆ ใกล้ตัวคุณ บางทีเราอาจจะพบเจอกับ พื้นที่เล็ก ๆ ทั้งที่เป็นการทำงานภาคประชาสังคม หรือไม่ใช่เองก็ตาม บางทีสถานที่ กลุ่มคนเหล่านี้ อาจจะพาเรากลับคืนสู่ความสัมพันธ์ เตือนบางความทรงจำที่เราอาจจะหลงลืมไปแล้วก็ได้ ว่าชุมชนเรามีสิ่งนี้อยู่ และโดยสำหรับคนเมือง จงอย่ายอมให้ ถนน ตึกสูง ห้างสรรพสินค้า หรือความเจริญอะไรก็ตามแต่ มาฝังกลบความเป็นชุมชน เพื่อนบ้าน และวัฒนธรรมดั้งเดิมของชุมชนคุณ เหมือนดั่งที่ ชมรมพิทักษ์วัดไทร ได้กำลังทำอยู่
แหงนดูนาฬิกาเป็นเวลา 4 โมงกว่า คงถึงเวลาที่ผมต้องรีบกลับไปเขียนบทควาามชิ้นนี้ส่ง ไทยแอ็ค ก่อนมันจะหมดเขตส่ง ผมบอกลาป้าหมู ป้าหนู ป้าแต๋ว ผู้ให้ความรู้ และโอกาสให้ผมได้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของชมรม… เสียงสวดมนต์ของคนชุมชนวัดไทรในบ่ายวันอาทิตย์ ลอยมาจากศาลาใหญ่ ไม่ไกลจากที่เราทำขนมกัน น่าเสียดายที่ผมอยู่ไม่ถึงตอนจบ เพราะปาร์ตี้ขนมใส่ไส้ที่กำลังจะทำเสร็จกัน คงสนุกและอร่อยน่าดู แต่วันนี้ก็อิ่มแล้ว อิ่มที่อย่างน้อยได้รู้ว่า ข้าง ๆ บ้านฉันยังมีกลุ่มคนทำงานภาคประชาสังคม แล้วข้าง ๆ บ้านคุณละ อย่าลืมลองไปสำรวจกันดูนะ
_____________________
เรื่องและภาพโดย พจน์ ณฐาภพ