07 พฤษภาคม 2020

น้ำกว๊านสีรุ้ง รวมคนหัวใจสีเดียวกัน ที่มุ่งมั่นช่วยเหลือกลุ่มประชากรเปราะบาง

เรื่องราวของภาคประชาสังคมที่ทำงานกับกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศ และพนักงานบริการ

จะสักกี่คนในสังคม ที่อยากทำงานร่วมกับผู้ติดเชื้อเอชไอวี ผู้มีความหลากหลายทางเพศ และพนักงานบริการทางเพศ ? เพราะหากมองด้วยสายตาแห่งศีลธรรมคำสอน นอกจากคำว่า “คนบาป” แล้ว กลุ่มคนเหล่านี้ ยังห่างไกลจากการได้รับการดูแลแก้ไขปัญหา และไม่ได้มีหน่วยงาน องค์กรใดภายใต้กฎหมาย ที่ถูกจัดตั้งขึ้นมาเพื่อให้การช่วยเหลือพวกเขาอย่างเป็นรูปธรรม

แต่กับกลุ่ม “น้ำกว๊านสีรุ้ง” จังหวัดพะเยา การทำงานเพื่อส่งเสริมให้กลุ่มผู้ติดเชื้อเอชไอวี ผู้มีความหลากหลายทางเพศ และพนักงานบริการทางเพศ เข้าถึงบริการด้านสาธารณสุข การดูแลสุขภาพ และได้รับสิทธิขั้นพื้นฐาน ถือเป็นงานประจำ ที่ทำมาอย่างต่อเนื่องนับตั้งแต่ ปี พ.ศ.2557 โดย คุณภัคนันท์ เครือแก้ว ผู้ประสานงานกลุ่มน้ำกว๊านสีรุ้ง จังหวัดพะเยา เล่าถึงที่มาที่ไปว่า

“กลุ่มของพวกเรามีกันสี่คน ช่วยกันทำงานเพื่อช่วยเหลือเพื่อน ๆ ของเราในตอนแรกเริ่ม ที่เลือกทำงานกับคนกลุ่มนี้ ส่วนหนึ่งมาจากการที่มีใจรัก ช่วงแรกเป็นการทำงานแบบประสานงาน เพื่อให้การช่วยเหลือผู้ที่ถูกละเมิดสิทธิ ถูกเลือกปฏิบัติ ในกลุ่มชายรักชายก่อน เช่น เมื่อก่อนจะมีปัญหากะเทยถูกซ้อม บังคับให้แต่งตัวตามเพศกำเนิดในบางอาชีพ ไปจนถึงปัญหาเวลามีการตรวจเลือด แล้วพวกเขาเป็นผู้อยู่ร่วมกับเชื้อเอชไอวี ก็จะไม่รับเข้าทำงาน”

หลังจากเริ่มรวมกลุ่มกัน ดำเนินงานให้การช่วยเหลือแบบเพื่อนช่วยเพื่อน กลุ่มน้ำกว๊านสีรุ้ง ก็เกิดขึ้น และเริ่มขยายขอบเขตการทำงาน เพื่อป้องกันการท้องไม่พร้อมในวัยรุ่นเพิ่มเข้าไปด้วย เมื่ออธิบายถึงวิธีการทำงาน ของพวกเขา จะเห็นว่า กลุ่มน้ำกว๊านสีรุ้ง มีบริการลงพื้นที่ชุมชน เข้าถึงกลุ่มเป้าหมายได้อย่างใกล้ชิด เพื่อสอนวิธีการปกป้อง ป้องกันตัวเอง และคอยเป็นกำลังสำคัญ ในการพาทุกคนออกไปใช้สิทธิ ตรวจหาเอชไอวีฟรีปีละสองครั้ง รวมถึงสนับสนุนการตรวจโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ และยังคอยช่วยเหลือ เยี่ยมบ้าน และร่วมแบ่งเบาการทำงานของบุคลากรด้านสาธารณสุข ด้วยการมีเวรออกติดตามพฤติกรรมการกินยา ในกลุ่มผู้ติดเชื้อเอชไอวีรายใหม่ รวมทั้งยังได้ร่วมงานกับสถาบันการศึกษา และโรงเรียนในจังหวัดพะเยา เพื่อออกหน่วยให้ความรู้สร้างความเข้าใจ จนพัฒนาเป็นการจัดตั้ง ศูนย์บริการที่เป็นมิตร เพื่อคอยให้คำปรึกษาแก่วัยรุ่น และกลุ่มเป้าหมาย ทั้ง 3 กลุ่ม อย่างครอบคลุมทุกปัญหาอีกด้วย

หนึ่งในความสำเร็จสำคัญของพวกเขา คือการมีส่วนร่วมทำให้จำนวนผู้ติดเชื้อเอชไอวีรายใหม่ของจังหวัดพะเยาลดลง ผู้ประสานงานกลุ่มน้ำกว๊านสีรุ้งอธิบายถึงเรื่องนี้ไว้ว่า

“ปีสองปีที่ผ่านมา จำนวนผู้ติดเชื้อเอชไอวีรายใหม่ในจังหวัดลดลง แต่ถ้าจะบอกว่าประสบความสำเร็จ คงยังไม่สามารถพูดได้ เพราะเราเจอว่า อายุเฉลี่ยของผู้ติดเชื้อในจังหวัดพะเยา ก็ลดลงด้วยเช่นกัน ตัวอย่างผู้ป่วยอายุ 15 ปี รายหนึ่ง มีเหตุให้เข้ารับการรักษาริดสีดวงทวารในโรงพยาบาล ซึ่งแพทย์ได้ทำการตรวจเลือดด้วย ก็พบว่าติดเชื้อเอชไอวี เมื่อมีการสอบประวัติโดยทีมสหวิชาชีพจึงรู้ว่า ได้รับเชื้อจากแม่สู่ลูก สุดท้ายผู้ป่วยรายนี้อดทนเรียนจนจบ ม.3 แต่ไม่ได้ไปต่อในชั้น ม.4 เพราะต้องเข้ารับการรักษาอาการริดสีดวงทวาร และเริ่มต้นรับยาต้านไวรัสเอชไอวี พออาการทุเลาก็ต้องพักทั้งกายและใจในการรักษาตัวอยู่เป็นปี ๆ จนร่างกายแข็งแรงดีขึ้นขึ้น เราจึงได้ร่วมกันวางแผนเรื่องการศึกษาต่อ พร้อมกับการดูแลร่างกาย และการใช้ชีวิตในสังคม ระหว่างนั้น ทางกลุ่มก็มีการรับยาแทนในบางช่วง (สำหรับผู้ป่วยที่ได้รับการประเมินจากแพทย์แล้วว่ามีสุขภาพดี ในระดับที่ให้คนอื่นรับยาแทนได้กลุ่มจะรับอาสาในกรณีที่ผู้ป่วยไม่สะดวกจริง ๆ ) ตลอดไปจนถึงการลงติดตามเยี่ยมบ้าน ไปดูเขากินยา เพราะยาต้านไวรัสต้องกินทุกวัน จนปัจจุบันกรณีนี้ ได้เข้ารับการศึกษาต่อ ได้รับการรักษาที่ถูกแนวทางอย่างปลอดภัย และสามารถอยู่ร่วมในสังคมได้อย่างปกติแล้ว”

จากข้อมูลของสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดพะเยา อายุเฉลี่ยของผู้ติดเชื้อเอชไอวีรายใหม่ในพื้นที่ คือระหว่าง 17-18 ปี และมีกว่า 40% ที่เป็นกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศ โดยเฉพาะชายที่มีเพศสัมพันธ์กับชาย แต่สิ่งที่น่าสนใจมากกว่านั้นคือ หน่วยบริการ จะเจอผู้ป่วยเหล่านี้ หลังจากที่มีอาการป่วยมาแล้วในระยะเวลาหนึ่ง จึงเป็นที่มา ที่ทำให้กลุ่มน้ำกว๊านสีรุ้ง ต้องออกปฏิบัติงานใกล้ชิดพื้นที่มากขึ้น ทั้งการลงพื้นที่สำรวจสถานบันเทิงและคาราโอเกะ ซึ่งมีอยู่มากกว่า 50 ร้าน ในตัวจังหวัด โดยการทำงาน จะเป็นไปในเชิงป้องกัน การให้ความรู้ และประเมินความเสี่ยงของกลุ่มเป้าหมาย หลังจากนั้น จะมีทีมพี่เลี้ยงพร้อมอาสาสมัครสาธารณสุข ลงไปเจาะเก็บตัวอย่างเลือดถึงพื้นที่ จากการทำงานรูปแบบนี้ พบว่าพวกเขาได้รับผลตอบรับในการร่วมมือมากถึง 80 เปอร์เซนต์จากผู้ประกอบการ

แต่การทำงานกับกลุ่มเป้าหมาย ที่ถูกตั้งค่าเป็น “สีเทา” อาจไม่ได้ราบรื่นเสมอไป ท้ายที่สุด ภัคนันท์ เครือแก้ว ทิ้งท้ายถึงประสบการณ์ไม่น่าจดจำครั้งหนึ่งว่า

“พวกเราไม่ได้ชอบทำงานแบบโชว์เดี่ยว หรืออวดว่าเก่งนะ จริง ๆ แล้ว ในฐานะภาคประชาสังคม เราอยากทำงานเพื่อให้เกิดประโยชน์กับกลุ่มเป้าหมายในพื้นที่ร่วมกับหน่วยงานรัฐตลอดแหละ แต่มันมีบางเรื่องที่เราก็ต้องระมัดระวัง เช่น ครั้งหนึ่งได้ร่วมมือกับสาธารณสุขจังหวัด ไปตรวจในสถานบริการที่ไม่มีใบอนุญาต พอพวกเราออกมาไม่ถึงชั่วโมงดี ก็มีเจ้าหน้าที่ตำรวจตามเข้ามาตรวจค้น จนพวกเราเองก”ม่ได้รับความไว้วางใจจากร้านนั้นอีกเลย เพราะถูกเข้าใจผิดว่าเป็นการล่อซื้อ ดังนั้น การจะส่งเสริมให้ประชาชนทุกกลุ่มเข้าถึงบริการด้านสาธารณสุข อย่างให้ประชากรของประเทศมีสุขภาพร่างกายที่ดี การให้ภาคประชาสังคมมีส่วนร่วมวางแผน ดำเนินงาน จึงเป็นเรื่องสำคัญ”

เนื้อหาอื่นๆ

31 สิงหาคม 2018
01 มีนาคม 2020
13 กุมภาพันธ์ 2023

Copyright © 2013 THETHAIACT