15 พฤษภาคม 2020

กำแพงกันคลื่น

กับคำถามที่ว่า เมื่อไรรัฐจะฟังเสียงของภาคประชาสังคม

14 พฤษภาคม 2563 ตัวแทนประชาชนชุมชนม่วงงามและผู้สนับสนุนมากกว่า 500 รายชื่อ ยื่นฟ้องคดีต่อศาลปกครองจังหวัดสงขลา ขอให้ยุติโครงการดำเนินการก่อสร้างเขื่อนป้องกันตลิ่งริมชายฝั่งทะเล พร้อมปรับปรุงภูมิทัศน์พื้นที่ชายฝั่ง เป็นการก่อสร้างเขื่อนกันคลื่นแบบขั้นบันได ในพื้นที่ หมู่ที่ 7 ต.ม่วงงาม อ.สิงหนคร จ.สงขลา ซึ่งโครงการแรกมีระยะทาง 710 เมตรและในระยะต่อมาอีก 1,955 เมตร

น้ำนิ่ง - อภิศักดิ์ ทัศนี จากชมรม Beach for life เล่าว่า "ก่อนหน้านี้ชาวบ้านชุมชนม่วงงามและใกล้เคียง ได้มีการรวมตัวกันที่ชายหาดม่วงงาม เพื่อคัดค้านการก่อสร้างกำแพงกันคลื่น พร้อมทั้งยื่นหนังสือถึงกรมโยธาธิการและผังเมืองเพื่อหาทางพูดคุยและสร้างกระบวนการมีส่วนร่วมกับชุมชน แต่ผลปรากฏว่าโครงการดังกล่าวยังคงดำเนินการต่อไป ซ้ำร้ายยังตอกเสาเข็มการก่อสร้างลงไปโดยไม่สนใจคำคัดค้านของชาวบ้านแม้แต่น้อย"

ภาพจากเฟซบุ๊ค แฟนเพจ : Beach for life

โดยชาวบ้านตั้งข้อสังเกตต่อโครงการก่อสร้างไว้ 3 กรณี ประการแรกคือการดำเนินการโครงการมีความบกพร่องในการให้ข้อมูลข่าวสารแก่ประชาชน และไม่มีกระบวนการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนในการตัดสินใจดำเนินโครงการอย่างเพียงพอ และรอบด้าน

“เขาบอกว่าจะรับฟังความเห็นอย่างรอบด้าน แต่ทางเราก็สงสัยว่าการเข้ามาถามความเห็น ในความเป็นจริงจะต้องมีทางเลือกให้และทางเลือกควรจะหลากหลาย เช่น หากใช้วิธีเติมทรายแล้วจะเป็นอย่างไร วางโครงสร้างกำแพงกันคลื่นเป็นยังไง ตั้งกองหินเป็นอย่างไร หรือหากไม่อะไรเลยจะส่งผลกระทบเป็นอย่างไร แต่เวทีที่เราเห็นโดยเฉพาะครั้งแรกกลับเป็นโครงสร้างกำแพงทั้งหมดเลย มีอีกหลายวิธีที่สามารถทำได้ แนวดักทราย กำแพงชะลอคลื่นนอกชายฝั่ง แม้ทั้งหมดมีผลกระทบแต่ก็ทำให้เห็นว่าหลากหลาย แต่นี่มีแต่โครงสร้างกำแพงกันคลื่นทั้งหมดเลย ชัดเจนเลยว่าตั้งใจปักธงว่าจะทำกำแพงกันคลื่นตั้งแต่แรก”

ต่อมาคือโครงการก่อสร้างเขื่อนป้องกันตลิ่งริมทะเล เข้าข่ายต้องประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ตามกฎหมาย เพราะมีลักษณะเป็นการสร้างโครงสร้างแข็งยื่นลงไปในทะเลที่อาจจะก่อให้เกิดความเสียหายต่อทะเล ชายหาด และส่งผลให้เกิดการกัดเซาะชายฝั่งอย่างรุนแรงตามมาเพราะก่อนหน้านี้สำนักงานนโยบายและแผนฯ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมได้มีการประกาศเพิกถอนการก่อสร้างกำแพงกันคลื่น ออกจากโครงการที่จะต้องจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) เนื่องจากอ้างว่าไม่สามารถช่วยเหลือประชาชนที่เดือนร้อนได้ทันท่วงที

ภาพจากเฟซบุ๊ค แฟนเพจ : Beach for life

“ปัญหาคือมันมีช่องว่างกฎหมายในประเทศไทย ในการที่รัฐสามารถดำเนินนโยบายได้อย่างง่าย คุณกำลังเอาความง่ายแลกกับผลกระทบที่กำลังจะเกิดขึ้น สิ่งที่คุณทำกำลังทำลายหลักการพึงระวังไว้ก่อนของข้อกฎหมายและการที่คุณเอา EIA ออกนั้นคือคุณกำลังทำลายการมีส่วนรวมของประชาชนไปเป็นที่เรียบร้อย ซึ่งเมื่อมีช่องว่างตรงนี้ทุกโครงการก่อสร้างที่เกิดขึ้นจึงใช้ชื่อว่ากำแพงกันคลื่นทั้งหมดเพราะมันไม่จำเป็นต้องทำ EIA”

สุดท้ายคือโครงการดังกล่าวนั้น มิได้ดำเนินการให้ถูกต้องในการขออนุญาตหรืออนุมัติตามกฎหมายต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องก่อนการดำเนินโครงการ อันได้แก่ การขออนุญาตเจ้าท่า เพื่อดำเนินการก่อสร้างสิ่งล่วงล้ำลำน้ำ และ การขออนุญาตเปลี่ยนแปลงสภาพที่ดินจากเทศบาลตำบลม่วงงาม “พอดำเนินโครงการแล้วมีประชาชนมาคัดค้าน เขาจึงจัดการประชุมฟังเสียงจากชาวบ้านขึ้นมา ในการประชุมครั้งนั้นประธานเทศบาล ยังไม่รับทราบเลยว่าโครงการนี้จะเกิดขึ้น มีผลกระทบอะไร เป็นนโยบายจากส่วนกลางแล้วลงมาส่วนท้องถิ่นกลับไม่รู้เรื่องถึงผลกระทบและปัญหาเลย”

น้ำนิ่งกล่าวทิ้งท้ายถึงต้นตอของปัญหาและสิ่งที่เขาเชื่อมาตลอดว่าทางออกต้องการเกิดจากการพูดคุยและเข้าใจกัน ของทั้งภาครัฐและภาคประชาสังคม

“ปัญหาเหล่านี้เกิดจากการที่ภาครัฐไม่ค่อยใส่ใจกับนโยบายแบบล่างขึ้นบน ซึ่งการให้ประชาชนคิดกันแล้วนำเสนอต่อเจ้าหน้าที่ภาครัฐไม่มีเลย ส่วนใหญ่เป็นแบบนโยบายแบบบนลงล่างเสียทั้งหมด ชายหาดหลายที่เผชิญกับนโยบายแบบนี้มาตลอด เราแสดงให้เห็นว่าชุมชนเข้มแข็งมากพอที่จะลุกขึ้นคัดค้านกับพวกคุณนะ ถ้าเมื่อใดที่คุณยัดเหยียดปัญหาแบบนี้ให้ ซึ่งการที่รัฐไม่สนใจฟังเสียงประชาชน แล้วให้ประชาชนออกมาต่อต้านมันเป็นภาพที่ไม่ดีกับรัฐเอง ทางที่ดีให้ชาวบ้านมีส่วนรวม ซึ่งรัฐต้องเปิดให้ประชาชนรับรู้ทุกด้านทั้งข้อดีและเสีย พร้อมให้เวลาพูดคุยอย่างเต็มที่”

______________________________

เรื่อง : อิสรากรณ์ ผู้กฤตยาคามี

ภาพ : เพจ beach for life

เนื้อหาอื่นๆ

27 กันยายน 2018
17 มกราคม 2020
13 ตุลาคม 2023

Copyright © 2013 THETHAIACT