ปฏิบัติการช่วยฟื้นคืนชีพในสวน
คุยกับแพทย์หญิง สาวิตรี พัฒโกวิท
ปฏิบัติการช่วยฟื้นคืนชีพ ในสวน ! เมื่อกลุ่มคนชุดขาวในนามบุคลากรด้านสาธารณสุข ทั้งหมอ พยาบาล รวมตัวกันในวันหยุดขอพบปะประชาชน เพื่อสอนการ "ช่วยฟื้นคืนชีพ" เบื้องต้น พวกเขาใช้เวลาในวันหยุดของตัวเองในการทำงานสาธารณะประโยชน์อย่างไม่เหน็ดเหนื่อย เหตุผลกลใดอะไรทำให้พวกเขามารวมกันในสวน มาสอนการ CPR วันนี้ขอเชิญมาพูดคุยกับหนึ่งในผู้ก่อการดี แพทย์หญิง สาวิตรี พัฒโกวิท จากโรงพยาบาลตรัง
CPR คืออะไร ? ทำไมเราต้องมาให้ความสำคัญด้วย ?
มันคือปฏิบัติการช่วยฟื้นคืนชีพ (Cardiopulmonary resuscitation : CPR) เป็นการช่วยเหลือผู้ที่หยุดหายใจหรือหัวใจหยุดเต้น ให้มีการหายใจและการไหลเวียนกลับคืนสู่สภาพเดิม ป้องกันเนื้อเยื่อได้รับอันตรายจากการขาดออกซิเจนอย่างถาวร ถ้าเอาตามสถิติของผู้ป่วยฉุกเฉินในปีที่ผ่านมา พบว่า มีประชาชนคนไทยขอใช้บริการผ่านสายด่วน 1669 ด้วยอาการทางโรคหัวใจมากถึง 130,942 คน โดยแบ่งเป็นอาการหายใจลำบาก ติดขัด มากที่สุด 99,052 คน รองลงมาคือ เจ็บแน่นทรวงอก 31,035 คน และหัวใจหยุดเต้น 855 คน ซึ่งผู้ป่วยเหล่านี้ต้องประสบกับภาวะหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลัน และอาจเป็นอันตรายถึงชีวิตได้ ดังนั้นหากประชากรในประเทศไทยมีความรู้และมีทักษะ ในการช่วยฟื้นคืนชีพ(CPR) ก็จะช่วยลดความเสี่ยงในการสูญเสียชีวิตได้มากขึ้น จะให้ความสำคัญไหม ก็อยู่ที่พวกเราว่าอยากเป็นคนช่วยแก้ไขปัญหา หรือไม่อยากช่วยเหลือไม่อยากยุ่งเกี่ยวกับปัญหาเลย
ทำไมหมอหรือพยาบาลไม่เอาเวลาไปทำอย่างอื่น วันหยุดก็น่าจะน้อย ?
เราอยากสอนให้คนรู้ และคนทั่วไปสามารถมีทักษะในการช่วยเหลือชีวิต โดยเฉพาะตามสวนสาธารณะ
หมออยากจะเห็นอะไรจากกิจกรรมเหล่านี้ ?
หวังให้ทุกคน "กล้า" ที่จะก้าวออกมาช่วยเหลือผู้อื่น รวมทั้ง การช่วยเหลือสังคมหรือช่วยชีวิตคน ก็จำเป็นต้องมีองค์ความรู้บางอย่าง เช่น การช่วยชีวิตแบบนี้ เราก็ต้องรู้เบอร์โทรฉุกเฉิน อย่าง 1669 ด้วยตอนนี้จากที่หมอพบเห็น เเม้กระทั้งเบอร์โทรฉุกเฉินพวกนี้ผู้คนยังไม่ค่อยรู้ หมอเชื่อว่าในตัวทุกคนมีความพร้อมและอยากจะทำความดีอยู่แล้ว ที่ผ่านมาในประเทศไทยมีเหตุการที่ผู้ป่วยหัวใจล้มเหลวเฉียบพลันเยอะขึ้น บางสถานการณ์ก็คิดว่าการทำ CPR ทำได้เฉพาะสถานการณ์คนจมน้ำเเต่จริง ๆ แล้วใช้ได้ทุกสถานการณ์ที่หัวใจหยุดเต้น ทั้งจมน้ำหัวใจหยุดเต้นกระทันหัน
การไม่มีการรับรอง หรือเอกสารรับรองว่าเราเป็นบุคลากรที่มีทักษาะในการช่วยชีวิต จะทำให้คนเชื่อถือได้หรือ ?
การกระทำดังกว่าคำพูดนะ การ CPR ไม่ได้ยากอย่างที่คิด ทุกคนสามารถฝึกกันได้ในเวลาสั้น ๆ แล้วคนที่มาช่วยฝึกก็ล้วนเป็นบุคคลากรทางการเเพทย์ การช่วยชีวิตทุกวันนี้ไม่จำเป็นต้องอยู่ที่โรงพยาบาลตลอดเวลา บางกรณีหากเราช่วย CPR ได้ก่อนถึงมือหมอ ก็จะเป็นเรื่องดีกับผู้ประสบเหตุเอง