เสี่ยวกัน เยาวชนกะเหรี่ยงที่จะชวนคุณบวชป่า และหวังว่าพวกเขาจะอนุรักษ์ทรัพยากรไว้ให้ลูกหลาน
ไทยแอ็คชวนทำความรู้จักเด็กและเยาวชนรักบ้านเกิดในจังหวัดลำพูน
ได้แก่ บ้านปงผาง แม่สะเเงะ ผาด่าน ป่าเลา ดอยยาว แม่ขนาด ดอยคำ บ้านโป่งและสบเมย ตลอดระยะเวลานับศตวรรษ ลุ่มน้ำสายนี้ทำหน้าที่หล่อเลี้ยงผลผลิตทางการเกษตร ให้ชีวิตชีวาแก่ปศุสัตว์รอบบริเวณโดยไม่ขาดตกบกพร่อง โดยมีหนึ่งสายตาช่วยยืนยันเป็นประจักษ์พยานได้ว่า พื้นที่ต้นน้ำใกล้บ้านพวกเขานั้นอุดมสมบูรณ์
“ย้อนไปตอนผม ม.2 ทุกครั้งที่ขึ้นไปตรงต้นน้ำก็เจอน้ำ เข้าป่าก็เห็นมีป่า ในน้ำยังมีปลา พอมาวันนี้ ทุกอย่างดูเหมือนไม่เคยเกิดขึ้น”
ภาสกร ป่างวิสัย หรือ แป่ว กะเหรี่ยงโพล่งวัยหนุ่มรูปร่างสันทัด ผู้ภูมิใจในความเป็นชนเผ่าพื้นเมืองและได้อาศัยพึ่งพิงกับลุ่มน้ำสายนี้มาเนิ่นนาน สะท้อนภาพที่กำลังเกิดขึ้นกับทรัพยากรธรรมชาติใกล้บ้าน
“การมีน้ำใช้มันส่งผลเรื่องวัฒนธรรมนะครับ เพราะถ้าเราสามารถทำเกษตรได้ การออกไปหางานทำต่างพื้นที่ก็ไม่จำเป็น เเต่การอยู่ในสังคม ต้องยอมรับว่าคนที่มาจากชนเผ่าพื้นเมือง หรือเป็นกะเหรี่ยงอย่างผม ไม่ได้รับการยอมรับมากนัก”
บ้านแม่ขนาด อำเภอแม่ทา จังหวัดลำพูน มีพรมแดนใกล้ชิดกับตัวเมืองของจังหวัดลำพูน ซึ่งคั่นพวกเขาไว้กับจังหวัดเชียงใหม่อีกที ดังนั้นคงยากจะเชื่อว่า ยังหลงเหลือพื้นที่บางแห่งของตำบลไม่มีไฟฟ้าและน้ำประปาใช้
“วิถีชีวิตของกะเหรี่ยง เป็นกลุ่มคนที่อยู่ง่ายกินง่ายตั้งแต่ไหนมา เวลาเข้าสังคมจึงกลายเป็นเหมือนกลุ่มคนสกปก เพราะมือเราเปื้อนจากการทำมาหากิน เสื้อผ้าเราเปื้อนดำจากฝุ่นดินเพราะเราเลี้ยงหมูแบบปล่อย นี่คงเป็นหนึ่งในหลายเหตุผลที่ใคร ๆ มองว่าเราเป็นชาวเขา”
ภาสกรในวัยหนุ่มและกลุ่มเพื่อน แตกต่างจากบรรพบุรุษตามที่เล่า เพราะพวกเขาได้รับการศึกษาจากโรงเรียน และเข้าถึงชั้นเรียนมหาวิทยาลัย ขณะเดียวกัน ความเจริญก็ปูพรมใกล้ถึงหน้าบ้านเข้าทุกวัน ภาสกรกับกลุ่มเพื่อนผู้ยังคงให้ความสำคัญ และเคารพในตัวตนความเป็นกะเหรี่ยง จึงได้ร่วมกันก่อตั้งกลุ่มเสี่ยวกันขึ้น
กลุ่มเสี่ยวกัน เป็นกลุ่มเยาวชนกะเหรี่ยงโพล่ง(หรือกะเหรี่ยงโปว์ )กว่าสิบคน ที่เริ่มรวมตัวกันมาตั้งแต่ปี พ.ศ.2561 ตั้งแต่เริ่มต้น พวกเขาเป็นตัวตั้งตัวตีในการช่วยงานหมู่บ้าน งานวัด งานชุมชน จนกระทั่งได้มีโอกาสฟื้นฟูพิธีแห่ฆ้องแห่กลอง เพื่ออนุรักษ์ดนตรีพื้นเมือง และชักชวนกันหันมาสวมใส่ชุดพื้นเมืองและชุดประจำเผ่า ซึ่งภาสกรอธิบายว่า การแต่งกายของแต่ละหมู่บ้าน แต่ละกลุ่มชาติพันธุ์นั้น จะมีจังหวะลวดลายและลักษณะการตัดเย็บผ้าต่างกัน การเริ่มต้นของพวกเขา ทำให้คนกะเหรี่ยงในหมู่บ้านเริ่มตื่นตัว และเริ่มต้นกิจกรรมอนุรักษ์ เช่น การทอผ้า การปรุงสุราอาหารท้องถิ่นขึ้นมาอีกครั้ง
หลังจากนั้น พวกเขาเริ่มหันมาสนใจเรื่องราวประวัติศาสตร์ชุมชน และทรัพยากรรอบบ้านตัวเอง จนได้มีโอกาสกลับขึ้นไปสำรวจป่าต้นน้ำห้วยผักหนามบนดอยนก พื้นที่แหล่งต้นน้ำแม่ขนาด ซึ่งเคยขึ้นไปวิ่งเล่นในวัยเด็ก จนได้พบกับความจริงว่า ภาพเบื้องหน้าไม่เหมือนกับอดีตอีกต่อไป
“น้ำในลุ่มแม่ขนาดแห้งมาก ยิ่งฤดูนี้นะ แทบไม่เหลือน้ำให้ทำเกษตรเลย พอพวกเราศึกษาก็เจอว่า สาเหตุสำคัญมาจากคน คือการที่ชาวบ้านตลอดลุ่มน้ำไม่ได้มีการสื่อสารพูดคุยกัน ต่างคนต่างใช้ประโยชน์ ไม่สนใจร่วมดูแล มันก็ไม่เหลือ ผมยกตัวอย่างแบบไม่ได้โทษเขานะ เช่น คนต้นน้ำเลี้ยงวัวเลี้ยงควาย ก็ปล่อยให้กินพืชผักหน้าดินลึกเข้าไปยันแหล่งต้นน้ำ ทำให้พื้นผิวดินที่กักเก็บน้ำไม่ได้ คนตัดไม้ก็ตัดเหี้ยน ไม่สนใจไม้เล็กไม้ใหญ่ คนหาของป่าก็หาอย่างเดียวไม่ช่วยดูแล แต่อย่างที่บอกครับ ปัญหามาจากคน ผมเชื่อว่าเป็นเพราะพวกเราไม่ได้มีการสื่อสารพูดคุยเรื่องการใช้ประโยชน์ร่วมกันมากกว่า การจัดกิจกรรมบวชป่า จึงเป็นแนวทางอนุรักษ์อย่างหนึ่ง ด้วยการชวนพระ ชวนผู้นำทางจิตวิญญาณมาเป็นศูนย์กลาง เพื่อให้เกิดการพูดคุยกัน หลังจากนั้นเมื่อมีการปรับตัว ปัญหาก็เริ่มจะคลี่คลายได้ ต้องบอกว่าการบวชป่า ทำให้พวกเราใกล้ชิดกัน ใกล้ชิดธรรมชาติมากขึ้น การทำเรื่องนี้อาจต้องใช้เวลาเป็นสิบปีซาวปี แต่อย่างน้อยในอนาคต มันคือการเก็บษ์ทรัพยากรไว้ให้ลูกหลานเรา”
การอนุรักษ์ป่าต้นน้ำห้วยผักหนาม บ้านแม่ขนาดของกลุ่มเสี่ยวกัน ตั้งเป้าหมายบวชป่าไว้ที่ 48,000 ต้น จนถึงปัจจุบัน พวกเขาทำสำเร็จไปแล้ว 5,500 ต้น และขยายผลด้วยการ ทำฝายชะลอน้ำ 4 จุด เพื่อเพิ่มความชุ่มชื้นให้พื้นที่ป่าโดยรอบ
นอกจากนี้กลุ่มเสี่ยวกันยังขยายผลทำงานพัฒนาบ้านเกิดอีกหลากหลายเรื่อง เริ่มจากการสำรวจ ติดตาม ให้การช่วยเหลือผู้สูงอายุ ผู้ป่วยติดเตียงในชุมชน และร่วมปฏิบัติงานกับชมรมผู้บริโภคจังหวัดลำพูนจัดทำสื่อภาษากะเหรี่ยง เพื่อสื่อสารเรื่องการคุ้มครองผู้บริโภค รวมไปถึงยังเป็นกระบอกเสียงสำคัญ ในการสื่อสารภูมิปัญญา อัตลักษณ์วิถีชีวิตของชาวเหรี่ยงโพล่งผ่านแฟนเพจ กะเหรี่ยงดอทคอม
แต่ความท้าทายของพวกเขาตอนนี้ คือการและขยายความร่วมมือในการทำงานไปถึงเพื่อน ๆ และเด็กเยาวชนกลุ่มชาติพันธุ์ด้วยกันเอง เพราะภาสกรทิ้งท้ายไว้อย่างกังวลว่า
“ไม่ว่าผมเองหรือคนอื่นที่เป็นวัยรุ่น ส่วนใหญ่พอเรียนจบมอปลาย ก็ต้องออกไปเรียนนอกหมู่บ้าน มีน้อยคนมาก ที่จะกลับมาทำงานพัฒนาบ้านเรา หลังจากนี้ได้แต่หวังว่า คนรุ่นเราและหลังจากเรา จะจัดสรรเวลามาร่วมดูแล สืบสาน พัฒนาบ้าน พัฒนาชุมชนของตัวเองกันเยอะ ๆ ตามแต่โอกาสครับ”