21 กรกฎาคม 2020

พนักงานบริการ

คนบนพื้นที่ชีวิตที่รัฐยังไม่เข้าใจ

พร้อมพัดพาเม็ดเงินเข้าสู่ประเทศจากกระเป๋านักท่องเที่ยวทั้งไทยและเทศ อาชีพบริการ จึงเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่สำคัญและหล่อเลี้ยงเส้นนี้มาโดยตลอด แต่ในช่วงเวลาวิกฤตโรคระบาดและภาวะเศรษฐกิจชะงัก ได้เปลี่ยนถนนแห่งแสงสีให้มืดบอดลงในพริบตา ความมืดคงมิได้กลืนกินเพียงสถานที่ แต่รวมถึงอีกหลายพันชีวิตที่หาแสงไฟไม่ได้ แสงไฟเลี้ยงชีวิตของเขาและเธอดับไปพร้อมกับความมืดของถนนสายนี้


แต่ใครจะรู้ ว่าในใจกลางความมืด กลับมีแสงของความช่วยเหลือจากกลุ่ม SWING หรือ มูลนิธิเพื่อนพนักงานบริการ ที่ก่อตั้งอย่างไม่เป็นทางการ ในปี 2545 โดยคุณสุรางค์ จันทร์แย้ม ที่คอยให้ความช่วยเหลือพี่น้องพนักงานบริการเรื่อยมา

ผู้ก่อตั้ง SWING เล่าให้ฟังว่า อาชีพบริการที่ทำงานในย่านนี้มีหลากหลาย แต่อาชีพหนึ่งที่ทุกวันนี้รัฐยังไม่ให้การยอมรับ คือพนักงานบริการ หรือผู้ขายบริการทางเพศ เมื่อรัฐไม่ยอมรับ จึงทำให้การเข้ามาช่วยเหลือคนกลุ่มนี้ทำได้ล่าช้าและติดขัดไปทุกด้าน มูลนิธิฯจึงเกิดขึ้น เพื่อช่วยเหลือพนักงานบริการ และเป็นปากเสียงให้รัฐและพนักงานบริการโคจรมาเจอกัน


“สิ่งแรกคือส่งเสริมการศึกษา เพราะการศึกษาคือสิ่งสำคัญที่จะทำให้เขาหรือเธอขยับออกจากอาชีพนี้เมื่อพร้อม ต่อมาส่งเสริมสุขภาพและตรวจโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์อย่างสม่ำเสมอ ซึ่งวิถีชีวิตของพี่น้องเราไม่เหมือนกับรัฐ คือเรานอนกลางวัน รัฐนอนกลางคืน ดังนั้นไม่มีทางเจอกันได้เลย เราหลับหมอตื่น และอีกด้านที่สำคัญไม่แพ้กัน คือการคุ้มครองสิทธิ สิทธิมนุษยชนที่ทุกคนควรได้ ทุกอย่างที่ไม่เป็นธรรม หรืออะไรที่เป็นความต้องการของพนักงานบริการ เราก็จะเป็นตัวกลางเรียกร้องให้รัฐได้ยิน”

สิ่งที่มูลนิธิฯพยายามขับเคลื่อนมาตลอดอีกประการคือ การเรียกร้องว่างานของพนักงานบริการก็คืองานชนิดหนึ่ง ที่มีมากกว่าการไปหลับนอนในช่วงเวลาสั้น ๆ “คำว่าโสเภณีพูดแล้วเจ็บ เจ็บเข้าไปในหัวใจเลย เรารู้ว่าเป็นคำที่กดทับพี่น้องเรามาตลอด หรือแม้แต่คำว่าผีขนุน ผีมะขาม ซึ่งผีไม่ใช่มนุษย์ เหมือนพยายามทำให้ตัวตนความเป็นมนุษย์เลือนหายไป คนทุกคนไม่ว่าจะอาชีพอะไร ก็มีศักดิ์ศรีเท่ากัน แต่เพียงเราเกิดมาไม่เท่ากัน ถ้าเรามีมากกว่า แล้วเราไม่ได้ช่วยเหลือหรือทำอะไรให้ก็อย่าไปเหยียบย่ำกันเลย เพียงเท่านี้พี่น้องเราก็พยายามไม่ตกเป็นภาระของสังคม ไม่ตกเป็นภาระของรัฐมากแล้ว”

ในวิกฤตการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ยังไม่คลี่คลาย ไม่เพียงแค่พนักงานบริการในถนนพัฒน์พงษ์เท่านั้นที่ได้รับผลกระทบ ยังมีพนักงานบริการในอีกหลายพื้นที่ในประเทศไทย ส่วนหนึ่งถูกลอยแพจากการทำงาน อีกส่วนไม่สามารถเข้าถึงทรัพยากรทางเศรษฐกิจที่รัฐจัดหาได้ และอีกไม่น้อย ที่จะต้องจัดการดูแลค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นเป็นเงาตามตัวจากการที่จะต้องดูแลตัวเองเพิ่มมากขึ้น

วันนี้เราจึงได้มีโอกาสติดตามรถมูลนิธิฯ ซึ่งนำของอุปโภคบริโภคไปช่วยเหลือแจกจ่ายให้พนักงานบริการตามพื้นทีต่าง ๆ ตัวรถค่อย ๆ เคลื่อนตัวออกจากถนนพัฒน์พงษ์ พร้อมกับพี่เจ้าหน้าที่เล่าให้ฟัง ถึงสาเหตุที่ทำให้หลายคนตัดสินใจเข้าสู่อาชีพนี้ และความเป็นจริงที่เกิดขึ้นในสถานการณ์เช่นนี้


“ปัญหาเศรษฐกิจคือเรื่องใหญ่ หลายคนพยายามหลายอย่างก็แล้ว รายได้อาจจะพอกับตัวเขาเพียงแค่คนเดียว แต่ไม่พอกับครอบครัวคนที่อยู่ข้างหลัง ดังนั้น จึงน่าจะมีอีกงานที่หาเงินได้ เศรษฐกิจเป็นตัวสำคัญมากที่จะชี้วัด ยิ่งในช่วงโควิดทำให้คนเข้ามาทำงานประเภทนี้มากขึ้น แค่ช่วงเดือนแรกที่เราลงไปแบ่งปันอาหารให้พี่น้องในพื้นที่ เราเจอเลยนะว่า มีผู้หญิงอายุเยอะมายืนทำงานเป็นครั้งแรก ทั้งที่ไม่เคยทำงานมาก่อนเลย ปกติสามีขับรถรับจ้าง แต่พอช่วงวิกฤตต้องออกจากงานไม่รู้จะหาเงินมาจากไหน บางคนยืนวันที่ 3 ยังไม่ได้ลูกค้าเลย เราเจอพี่น้องหน้าใหม่เข้าสู่อาชีพนี้มากขึ้น ทุกคนก็ต้องเริ่มพยายามที่จะดิ้นรนหาทางออกให้ตัวเองก่อน ถ้ารอรัฐ รับรองว่าตาย 5,000 บาท เขาก็ลงทะเบียนไม่ได้ เพราะอาชีพเราจะระบุยังไง”

เวลาบ่ายคล้อย แดดทำเอาเหงื่อไหลไคลย้อยไม่น้อย เราเดินทางกันมาถึงพื้นที่เขตพระนคร ในบริเวณนี้เป็นตรอกซอยกลางเมืองหลวง เพียงพริบตาที่เครื่องยนต์รถของมูลนิธิฯดับลง ผู้คนมากหน้าหลายตาต่างทยอยเข้ามารอรับอาหารและเครื่องใช้ที่จำเป็นต่าง ๆ เจ้าหน้าที่ที่มาด้วยคนหนึ่งกระซิบกับทีมงานว่า


“เกือบทุกคนที่มารับ คือพนักงานบริการ ที่ยังอยู่ในพื้นที่”

เมื่อมองตามไป ภาพที่เห็นกลับห่างจากสิ่งที่จินตนาการไว้มาก พนักงานบริการต่างมีอายุหลากหลาย ตั้งแต่เด็กสาวไปจนรุ่นใหญ่เลยวัยกลางคน ที่สะดุดตามากกว่านั้นคือ ไม่ได้มีเพียงผู้หญิงเท่านั้น ผู้อำนวยการมูลนิธิเพื่อนพนักงานบริการเล่าให้ฟังเพิ่มเติมว่า เวลาพูดถึงการค้าประเวณี ภาพของสังคมจะนึกออกแต่ภาพของผู้หญิง ภาพที่เป็นผู้ชายกับผู้มีความหลากหลายทางเพศ มันไม่มีในความรู้สึกเลย ซึ่งพวกเขาก็เดือดร้อนไม่ต่างกัน

ระหว่างที่แจกจ่ายของใช้และอาหาร พนักงานบริการในพื้นที่แห่งนั้นเข้ามาคุยกับทีมงาน เธอเรียกสรรพนามแทนตัวเองว่า "คุณแม่ดอกไม้" คงเป็นเพราะอายุของเธอที่กำลังจะผ่านวัยกลางคน


“แม่อยู่ที่นี่มาหลายปีแล้ว หลายคนที่ทำอาชีพเดียวกับแม่นี่อายุมีหลากหลายตั้งแต่ 20 – 70 ปี หลายคนทำอาชีพนี้ส่งลูกเรียนส่งหลานเรียนจนจบก็มี แม่ ๆ ที่มาทำงานตรงนี้แค่ 20 เปอร์เซ็นต์ ที่ครอบครัวจะรู้นะ บางคนไม่เปิดเผยเลย เพราะเขามีลูกหลานญาติพี่น้อง ก็กลัวว่าลูกหลานเขาจะอาย เศรษฐกิจและครอบครัวเป็น 2 เรื่องหลัก บางคนเป็นคุณแม่เลี้ยงเดี่ยว เลี้ยงลูก 3 คน 2 คน เลี้ยงพ่อแม่ต่างจังหวัดอีก ถ้าอาชีพนี้ถูกฎหมายคงเป็นสิ่งที่ดี จะให้จัดเป็นที่เป็นทางก็ยอมรับได้ เมื่อก่อนเขามีแนวทางให้จดทะเบียน แต่บางคนเขาไม่อยาก เพราะกลัวว่าถ้าจดแล้วจะมีปัญหาเวลาไปทำธุรกรรมมันยาก บางคนเขาจะเดินทางไปไหนมาไหนก็ลำบาก กลัวจะมีปัญหา เราต้องเข้าใจตรงนี้ด้วย แต่เอาจริง ๆ แม่ว่าสังคมเขายังไม่เปิดหรอกกับเรื่องแบบนี้ แต่ทำไงได้ เราอยากให้เขารู้ว่า แต่ละคนชีวิตไม่เหมือนกัน เราก็เป็นคนหาเงินไม่ต่างกับคนอื่น ๆ เราถือว่าเราต้องทำ เราถือว่าเราไม่ได้ลักขโมยของใครเขา เราถือว่าสิ่งที่เป็นอาชีพบริสุทธิ์ แต่ภาพสังคมมันคงเปลี่ยนแปลงไม่ได้ ถ้าเขาไม่เข้าใจเรา”

คุณแม่ดอกไม้ บอกเล่าสถานการณ์ให้ฟังเพิ่มเติมว่า ตั้งแต่เริ่มแรกเกิดสถานการณ์โควิด เมื่อมีข้าวปลาอาหารมาแจก ตำรวจจะตามมาจับเพื่อไม่ให้ดำเนินกิจกรรมดังกล่าว นอกจากนั้นยังอธิบายถึงอาชีพตัวเองว่า


“ใครจะว่าอาชีพเราง่ายก็ไม่ใช่นะ เราต้องดูคนด้วย ถ้าเขามาไม่ดีเราก็ไม่ไปนะ อาชีพเรามีมากกว่าไปนอนด้วยกัน หลายคนคิดว่าต้องเป็นแบบนั้น แต่การบริการเรามีตั้งแต่เป็นเพื่อนคุยด้วยให้สบายใจ พาไปเที่ยว ดูแล รอยยิ้มก็สำคัญ แต่ยิ้มเพราะงานนะ บางคนไม่ได้นอนด้วยกันก็มี แค่มาเพราะอยากหาที่ระบาย แต่อันนั้นคือเป็นแบบที่ดี ๆ นะ ไม่ดีเคยเจอบ้าง บางทีเคยทำงานแล้ว เราเองโดนจี้พาไปที่เปลี่ยว หรือกระชากกระเป๋าเงินไปเลย”

ตอนที่พวกเรานั่งอยู่ในสำนักงานมูลนิธิฯ คุณสุรางค์ จันทร์แย้ม พูดก่อนติดตามรถของพวกเขาออกมาแจกข้าวของว่า “ไม่มีใครฝันหรอกว่า ฉันเกิดมาจะทำอาชีพนี้ เพราะต่อให้อาชีพนี้อยู่ภายใต้กฏหมายแรงงาน ก็ไม่ได้เป็นตัวการันตีว่าจะไม่มีการเลือกปฏิบัติระหว่างกันอยู่ดี เพราะทัศนคติคนมันเป็ฯเรื่องภายใน กฎหมายก็เปลี่ยนอะไรไม่ได้ แต่อย่างน้อย เมื่อเกิดเหตุการณ์วิกฤตเช่นนี้ เขาควรจะได้รับการช่วยเหลือเหมือนคนอื่น ยกตัวอย่าง ถ้าคนอยู่ภายใต้กฎหมายแรงงาน พอมีวิกฤตโควิด เขาจะได้รับการเยียวยาช่วยเหลือจากประกันสังคม แต่พี่น้องเราไม่มีใครไม่มีอะไรเยียวยาเลย เพราะเม็ดเงินลงไปอยู่ใต้ดินหมด”

สำหรับแนวทางการแก้ไขนั้น คุณสุรางค์เปิดเผยว่าไม่ยาก "เพียงแค่เวลาเราทำงานกับใคร เราต้องฟังเสียงหัวใจเขา ว่าเขาต้องการอะไร แต่เราก็ไม่ได้ตอบสนองทั้งหมด แต่เราต้องหาช่องทางที่จะไปช่วยแก้ไขปัญหาของเขา หรือบางทีเขาอาจจะบอกไม่ได้ว่าความต้องการคืออะไร แต่เราต้องดูสิ่งที่เขาควรจะได้เหมือนคนอื่น หรือตามสิทธิขั้นพื้นฐาน ดังนั้นการแก้ไขปัญหาให้เขา การใช้กฎหมายมาจับมาปรับเหมือนว่าเขาเป็นใบไม้มาปัดมากวาด เอาไปทิ้ง มันไม่ได้แก้ปัญหา เพราะการจับและการกวาด ยิ่งเป็นการยืดอายุให้เขาอยู่ในอาชีพนี้นานยิ่งขึ้น เวลาไปจับเขาไปปรับเขา เขาต้องเสียเงิน งั้นหมายความว่า เขาต้องทำงานนานออกไปอีก เพราะรายได้ให้มาเลี้ยงครอบครัวหรืออะไรก็ตามต้องถูกเอาไปจ่ายให้ตำรวจ หรือต้องหยิบยืมมาใช้จ่ายอีก เห็น ๆ กันอยู่ว่า ปัญหามันไม่ได้ลดลงเลยแม้แต่นิดเดียว จากวิธีการเเก้ไขปัญหาแบบนี้"


แม้ว่าวันนี้ รัฐได้ปลดล็อคสถานบริการท่องเที่ยวยามค่ำคืน แสงไฟได้กลับมาคลอบคลุมพื้นที่ชีวิตแห่งนี้อีกครั้ง แต่คงจะดีไม่น้อย ถ้ารัฐมองเห็นอย่างตั้งใจ และเข้าใจพื้นที่ตรงนี้ด้วยหัวใจของความเป็นมนุษย์อย่างแท้จริง

________________________________________

เรื่อง : อิสรากรณ์ ผู้กฤตยาคามี

ภาพ : วิศรุต วีระโสภณ

เนื้อหาอื่นๆ

01 พฤศจิกายน 2023
06 มิถุนายน 2020
14 กรกฎาคม 2024

Copyright © 2013 THETHAIACT