ผู้ใช้ยาเสพติด เป็นผู้ป่วยที่อยู่ตรงไหนในนโยบายปราบปรามและ ขจัดสิ้นยาเสพติดของประเทศไทย
หากย้อนความไปทบทวนแนวทางการจัดการแก้ปัญหายาเสพติดของประเทศไทย จะพบว่าตลอดเวลาที่ผ่านมามีความพยายามมาแล้วในหลากหลายรูปแบบวิธีการ แต่ถ้าพูดถึงนโยบายหลัก คงหนีไม่พ้นการจับกุม ปราบปรามกระบวนการค้ายาเสพติด และการจับกุมผู้เสพเข้าสู่กระบวนการบำบัดรักษา จนเป็นที่มาของวลี ผู้เสพ คือผู้ป่วย ในยุครัฐบาลของ นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ขณะที่ทิศทางนโยบายภายหลังการเข้ายึดอำนาจของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ก็ได้มีความพยายามเปิดรับความคิดเห็นเรื่องกระบวนการทางเลือก ในการดำเนินคดีอาญากับผู้ใช้ยาเสพติด แต่ในท้ายที่สุดจนถึงปัจจุบัน ประเทศไทยยังก้าวไม่พ้นวังวนปัญหายาเสพติด จนเป็นที่มาของคดีดัง อดีตผู้กำกับโจ้ ที่มีการซ้อมทรมาน ผู้ต้องหาคดีค้ายาเสพติด
วันนี้ จึงอยากชวนทุกท่านกลับมาทบทวนนโยบายป้องกันและปราบปรามยาเสพติดทุกมิติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่เกี่ยวข้องกับ ผู้ใช้ยาเสพติด
ปัจจุบัน ในประเทศไทย ได้มีการรวมกลุ่มกันของอาสาสมัครที่เคยเป็นผู้ใช้ยาเสพติด บุคลากรในองค์กรภาคประชาสังคมในนามเครือข่ายผู้ใช้ยาแห่งประเทศไทย (Thai Drug Users Network) รวมไปถึงมีองค์กรพัฒนาเอกชน ที่ร่วมปฏิบัติงานเพื่อดูแลคุ้มครองสิทธิทางสุขภาพ ให้การช่วยเหลือทางกฎหมาย การส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้ใช้สารเสพติด รวมถึงการทำงานเพื่อสนับสนุนกระบวนการลดทอนอันตรายจากยาเสพติด (Harm Reduction) ซึ่งมีทั้งมูลนิธิโอโซน มูลนิธิรักษ์ไทย และ กลุ่มส่งเสริมการเข้าถึงการสนับสนุนด้านสุขภาพและสังคม (APASS)
โดยคุณสุพจน์ ตั้งเสรีทรัพย์หนึ่งในสมาชิกเครือข่ายผู้ใช้ยาแห่งประเทศไทย และเป็นผู้มีบทบาทสำคัญของกลุ่มส่งเสริมการเข้าถึงการสนับสนุนด้านสุขภาพและสังคม เล่าถึงสภาพการณ์ปัจจุบันของผู้ใช้ยาเสพติดให้ฟังว่า
สิ่งที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน ผู้ใช้ยาไม่มีสิทธิเลือก รัฐเลือกให้ทั้งหมด มันก็ขัดแย้งนะ เพราะในกฎหมายบ้านเรา ระบุมานานแล้วว่า ผู้ใช้ยา หรือผู้เสพ คือผู้ป่วย ลองหลับตาแล้วคิดตามผมนะ ถ้าวันนี้คุณป่วย คุณเลือกได้ ว่าคุณจะโทรไปหาเจ้านาย ขอลาป่วยแล้วนอนพักผ่อนอยู่ที่บ้าน หรือคุณจะเดินออกไปซื้อยาพาราฯ ที่ร้านมากิน หรือหนักสุดก็เเค่ไปหาหมอที่โรงพยาบาล แต่กรณีของผู้ใช้ยาเสพติด (ที่รัฐก็บอกว่าเป็นผู้ป่วยเหมือนกัน) กลายเป็นผู้ป่วยที่ ไม่มีสิทธิเลือกเส้นทางการรักษา หรือไม่มีโอกาสปฏิเสธรักษาด้วยตัวเอง แย่กว่านั้นคือ ถ้าเลือกจะบอกครอบครัวก็อาจทำให้บ้านแตก กลายเป็นไอ้ลูกไม่รักดี เลือกจะบอกเจ้านายก็คงถูกไล่ออก คือสุดท้ายมันก็ต้องใช้วิธีการแบบเดียว คือวิธีที่รัฐเลือกให้เท่านั้น
กรณีผู้ใช้ยาเสพติดนั้น ปัจจุบันประเทศไทยดำเนินนโยบายตามทฤษฎี "บังคับบำบัด" คือการจับกุม คัดกรอง แยกผู้ป่วยให้เข้าสู่กระบวนการบำบัด (ซึ่งมักได้ยินคำว่า โดยสมัครใจ ต่อท้าย) และเมื่อสิ้นสุดการบำบัด จะมีรายชื่อปรากฏในฐานข้อมูลติดตามหรือเฝ้าดู จากเจ้าหน้าที่ผู้บังคับใช้กฎหมาย เพื่อป้องกันการกลับมาใช้ยาเสพติดซ้ำ โดยเรื่องนี้สมาชิกเครือข่ายผู้ใช้ยาแห่งประเทศไทยให้ความเห็นว่า
ฟังเหมือนจะดี แต่นี่มันเหมือนเป็นการเย็บเสื้อโหลให้ทุกคนใส่ เสื้อโหลเดียวกันไซส์เดียวกัน บังคับให้คนป่วยทุกคนใส่ คุณว่าผลจะออกมายังไง ? คงไม่มีใครบ้าเลือกซื้อเสื้อผ้าราคาเเพง ๆ ให้ตัวเองทั้ง ๆ ที่รู้ว่าใส่ไม่ได้ถูกไหม เสื้อโหลแบบนี้ บางคนก็เลือกที่จะไม่ใส่ เพราะมันฟิตไป บางคนว่าใหญ่ไป สิ่งที่จะตามมาถ้าเรายังคงมีนโยบายวิธีปฏิบัติแบบนี้อยู่ เราก็ไม่มีทางแก้ปัญหายาเสพติดได้ หรือตลอดทศวรรษที่ผ่านมาประเทศไทยเอาชนะปัญหายาเสพติดได้เเล้วจริง ๆ ?
จากรายงานของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติดแห่งชาติ พบว่าในปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 สามารถนำผู้เสพยาเสพติดเข้ารับการบำบัดรักษาฟื้นฟูได้ถึง 172,459 ราย สามารถตรวจยึดยาเสพติดหลากหลายประเภทได้เป็นจำนวนมาก เช่น ยาบ้า 517 ล้านเม็ด ไอซ์ 16,265.7 กิโลกรัม เฮโรอีน 941.8 กิโลกรัม ขณะที่ราคาการจำหน่ายโดยทั่วไปของยาบ้า ลดลง จาก 100 บาท เป็นต่ำกว่า 100 บาท/เม็ด ในหลายภูมิภาค รวมทั้งยังพบหมู่บ้านหรือชุมชน ที่มีปัญหายาเสพติดมากกว่า24,500 หมู่บ้าน/ชุมชน คิดเป็นร้อยละ 30 จากทั้งประเทศ ซึ่งข้อมูลที่ปรากฏนี้ อาจเป็นการยืนยันคำตอบของหน่วยงานต่าง ๆ ว่า ประเทศไทยยังเอาชนะปัญหายาเสพติดไม่ได้เลย
แต่สิ่งเหล่านั้นอาจเป็นเพียงรายงาน ตัวเลข และสถานการณ์ เพราะปัญหาสำคัญที่กลุ่มส่งเสริมการเข้าถึงการสนับสนุนด้านสุขภาพและสังคม(APASS) อยากชวนให้ทุกคนมาทำความเข้าใจ กลายเป็นเรื่องของการ ให้โอกาส ทั้งทางสังคม และกระบวนการกฎหมายกับผู้ใช้ยาเสพติด
ผมอยากจะบอกนะ ว่าคนที่หยุดใช้ยาไปแล้วหรือคนป่วย ที่หายจากโรคนี้แล้ว ได้รับโอกาสน้อยมากจากสังคม ทั้งจากครอบครัว ชุมชน สังคม บางบ้านตัดขาดสมาชิกที่ใช้ยาเสพติดไปเลย ขณะที่ชุมชนก็มองว่าพวกนี้เป็นปัญหา แล้วถ้ามีเรื่องของหาย หรือมีข่าวไม่ดี คนกลุ่มนี้ต้องเป็นรายชื่อแรก ๆ ที่ชุมชนนึกถึง นอกจากนั้นที่ร้ายแรงกว่า คือ การโดนกระทำแบบเลือกปฏิบัติ จับยัดยาบ้าง หรือ จู่ ๆ ก็มาหาที่บ้านมาเยี่ยมมาชวนไปเข้าค่าย เข้าบำบัดบ้าง ทั้งที่เลิกแล้วนะ จากประสบการณ์ทำงานของพวกเราเรียกได้ว่า จะเดินทางไปไหนก็ต้องระแวง เพราะถ้าเรามีรายชื่อถูกเฝ้าจับตา อาจมีคนมาขอตังค์บ้าง กลั่นแกล้งบ้าง คือ พอมีชื่อไปพัวพันกับยาเสพติดในบ้านเรา ก็จะกลายเป็นเรื่องที่ จะทำห่าอะไรกับพวกมันก็ได้ หรือขี้ยา คนค้ายาตาย ก็ไม่ใช่เรื่องน่าเห็นใจ เพราะพวกเขาเป็นคนผิด
เช่นเดียวกันกับที่ คุณวีระพันธ์ งามมี ผู้อำนวยการมูลนิธิโอโซนเพื่อส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้ใช้สารเสพติด กล่าวในทำนองเดียวกันว่า
ถ้าคุณเป็นผู้เสพที่ต้องโทษ ต้องเข้าเรือนจำ ข้างในเรือนจำเขาก็จะอบรมส่งเสริมอาชีพให้ เช่น การนวด ฟังดูแล้วดีนะ แต่พอพ้นโทษออกมาจริง ๆ จะไปเปิดร้าน จะไปทำงานร้านนวดไม่ได้ เพราะ พ.ร.บ.สาธารณะสุขบอกว่า ไม่สามารถประกอบธุรกิจการนวดได้ จนกว่าคุณจะพ้นโทษมาเกินหนึ่งปี หรือให้อย่างแย่เลยจะไปเป็นยาม ก็ทำได้ยาก เพราะขัดกฎหมายอีก คำถามคือ ไอ้เวลาระหว่างรอให้เขาพ้นโทษมาเกินกำหนดต่าง ๆ นั้น จะให้เขาทำมาหากินอะไร ? … แต่ถ้าหากดูตามที่รัฐธรรมนูญเขียนว่า ถ้าหากคุณกระทำความผิด แล้วได้รับโทษตามที่ศาลพิพากษา ตั้งแต่วันนั้นเป็นต้นไปคุณคือ ผู้บริสุทธิ์
ตลอดการพูดคุยกันนั้นผู้ให้ข้อมูลทั้งสองท่านมองว่า การกำหนดโทษอาญา หรือกำหนดให้ผู้ใช้ยาเสพติดเป็นอาชญากรนั้น นอกจากส่งผลกระทบทต่อการดำเนินชีวิตแล้ว ยังเป็นการผลักไสให้ผู้ใช้ยาเสพติดไม่เข้าสู่กระบวนการ หลีกหนีออกจากสังคม ในท้ายที่สุด คุณสุพจน์ ตั้งเสรีทรัพย์ ได้ให้ความเห็นเพื่อส่งต่อถึงประชาชนทั่วไป และผู้กำหนดนโยบายของประเทศว่า
จริง ๆ คนในสังคมไม่จำเป็นต้องทำอะไรมากไปกว่าการทำความเข้าใจ ว่าปัญหายาเสพติดไม่ได้แก้ให้หมดไป ด้วยนโยบายแบบเย็บเสื้อโหล วันนี้ต้องบอกว่า เราทุกคนมีโอกาสเป็นผู้ใช้ยาทั้งนั้น จะทำยังไงให้การทดลองใช้ยาของคุณ มันไม่ใช่ความผิดพลาดทั้งหมดของชีวิต ขณะที่รัฐก็จะต้องมีทางเลือกในการจัดการด้านยาเสพติดที่มากกว่านี้ ที่ไม่ใช่แค่การปราบปราบจับกุมทำให้หมดไป เราลดอันตรายจากผลกระทบจากการใช้ยาเสพติดได้ไหม เราใช้วิธีลงโทษที่ทำให้คุณค่าของคนไม่ต้องตกต่ำเรี่ยราดขนาดนี้ได้ไหม ยกตัวอย่าง คนโดนจับเมาแล้วขับ มีตังค์ก็ปรับปล่อยตัวไปบำเพ็ญประโยชน์ แล้วทำไมเราใช้วิธีการเหล่านี้กับคนที่นโยบายระบุว่าเป็นคนป่วยไม่ได้ ?