วัคซีนเปลี่ยนชีวิต
: กับบทบาทการทำงานของเครือข่ายผู้หญิงเพื่อสุขภาพ เพื่อให้ผู้ป่วยได้เข้าถึงสิทธิที่พึงได้รับ
เป็นเช้ามืดของวันปกติในหน้าหนาวเดือนพฤศจิกายน แม่ใหญ่ ซึ่งมีสถานะเป็นคุณยาย ด้วยอายุเยอะที่สุดของบ้านตื่นแต่หัวเช้า ระหว่างกำลังข้าวหาปลา นางได้ยินว่าหลานเขยของตนเพิ่งเลิกงานกลับมาถึงบ้าน มีเสียงเปิดประตูหน้า เสียงรถมอเตอร์ไซค์เคลื่อนเข้ามา ... และต่อด้วยเสียง “โครม!” ตามมาด้วยเสียงของหมวกกันน็อคกระดอนสะท้อนพื้น
จากการสอบถามในภายหลัง นางยืนยันภาพที่ปรากฎว่า เจ้าหลานเขยเพศชาย วัย 39 ปี ซึ่งเห็นแข็งแรงดีมาตลอด กำลังล้มลงกองอยู่บนพื้นหน้าบ้าน รองเท้าหนึ่งข้างถูกสลัดออก อีกข้างยังใส่อยู่ในตำแหน่งเดิม ... ส่วนเจ้าตัวนอนแน่นิ่ง
จนกระทั่งถึงมือหมอ ทางบ้านพบว่าผู้ป่วยมีอาการอ่อนแรงครึ่งซีก หรือเป็นอัมพาตครึ่งซีก ซึ่งเป็นภาวะที่ร่างกายมีการสูญเสียการทำงานของแขนและขาในด้านเดียวกัน คุณรัตนาพร นาคยศ ผู้เป็นแม่ยายได้ติดตามอาการจากทั้งที่บ้าน และเพื่อนร่วมงานจนได้ทราบและเล่าให้ฟังว่า
“ลูกเขยทำงานดูแลระบบคอมพิวเตอร์ในที่ทำงาน เขาทำงานเป็นกะ พักผ่อนเพียงพอตลอด เหล้าไม่กิน บุหรี่ไม่สูบ แต่เพื่อนร่วมงานเองก็เห็นเจ้าตัวมีอาการซึมมาตั้งแต่เมื่อคืนแล้ว พอได้รับการสอบถามว่าให้พาไปโรงพยาบาลไหม เจ้าตัวก็ปฏิเสธ เพราะไม่ได้รู้ว่าตัวเองเป็นอะไร...จนกระทั่งกลับมาล้มหน้าบ้านนี่แหละ”
ภายหลังจากได้รับการดูแลรักษาอย่างฉุกเฉิน ผลกระทบกับชีวิตที่เกิดขึ้นและเห็นได้อย่างชัดเจนคือ ผู้ป่วยมีอาการตอบสนองต่อสิ่งรอบกายได้ช้าลง ช้าลงอย่างมากถึงขนาดที่ รัตนาพรออกบอกว่า “ถ้าถามหนึ่งคำอาจต้องรอคำตอบด้วยเวลายาวนาน...มันผิดปกติไปมาก แล้วอีกอย่างที่เห็นได้ทันทีคือ อาการบวม โดยเฉพาะที่ขา เมื่อกดลงไป มันยุบบุ๋มลงไปเลย ”
นับตั้งแต่วันนั้น ผู้ป่วยต้องได้รับการรักษาฉุกเฉิน ถึงขนาดเข้าห้อง ICU ไป 2 ครั้ง และมีนัดพบหมอต่อเนื่องจนส่งผลกระทบกับการทำงาน แต่ยังคงใช้สิทธิลาป่วยเพื่อรักษาอาการโดยความยินยอมจากนายจ้าง แต่เรื่องร้ายยังไม่จบเพียงเท่านั้น การเดินทางมาเยือนของโรคตามมาด้วยภาวะอาการน้ำท่วมปอด หัวใจเต้นผิดจังหวะ และอีกหลายโรค ...
“คุณรู้ไหม การที่อยู่กับคนป่วยเราเห็นเข็มวินาทีมันเดินช้ามากเลยนะตอนที่เขาเข้าไอซียูรอบแรก ทางบ้านคิดว่าคงพ้นวิกฤตแล้ว แต่เจ้าตัวกลับมีอาการนอนราบไม่ได้เลยตั้งแต่กลับมาบ้าน จนต้องนำส่งโรงพยาบาล แล้วได้เข้าห้องไอซียูอีกรอบ ครั้งนั้นหมอที่ทำการรักษาเดินออกมาบอกกับพวกเราว่า ต้องทำใจนะเพราะโอกาส 50/50”
ท่ามกลางความกังวลที่วนเวียนอยู่ในมวลหมู่ญาติ พวกเขาต่างพากันมานั่งคิด พร้อมปรึกษากันในครอบครัวว่า สิ่งที่เกิดขึ้นคืออะไร เพราะคนเข็งแรงซึ่งไม่เคยมีประวัติเคยล้มป่วยมาก่อน ตอนนี้โอกาสตายกับรอดเท่ากัน จนฉุกคิดได้ว่า อาจเป็นเพราะผลกระทบจากการได้รับวัคซีน
เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นหลังจากเจ้าตัวได้รับฉีดวัคซีนเข็มที่ 2 ในช่วงไม่ถึง 3 สัปดาห์ (AstraZeneca + AstraZeneca) เหตุการณ์นี้ทำให้ครอบครัว ร่วมกับเครือข่ายผู้หญิงเพื่อสุขภาพภาคกลาง ได้เริ่มต้นยื่นเรื่องขอรับเงินช่วยเหลือเบื้องต้น กรณีได้รับความเสียหายจากการรับวัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019
เครือข่ายผู้หญิงเพื่อสุขภาพ กับบทบาทร่วมประสาน เพื่อให้แน่ใจว่าทุกคนเข้าถึงสิทธิที่พึงมีพึงได้ของตัวเอง
เครือข่ายผู้หญิงเพื่อสุขภาพประเทศไทย ซึ่งดำเนินงานในระดับชุมชน ทุกภูมิภาคทั่วประเทศเพื่อให้ความรู้เรื่องสิทธิในระบบหลักประกันสุขภาพ(บัตรทอง) รวมทั้งเป็นอีกหนึ่งพื้นที่ให้ชุมชนได้มีที่ปรึกษา ร้องเรียน โดยเฉพาะเมื่อเกิดความเสียหายจากการรักษาพยาบาลโดยไม่ชี้ถูกผิด
ปัจจุบัน สำนักงานเครือข่ายผู้หญิงเพื่อสุขภาพประเทศไทย จังหวัดปทุมธานี ซึ่งเป็นเครือข่ายร่วมทำงานกับสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.)ก็ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นหน่วยงานรับเรื่องร้องเรียนอื่น ๆ ที่เป็นอิสระจากผู้ถูกร้องเรียนตามมาตรา 50 (5) อย่างถูกต้องตามกฎหมาย
คุณอรกัลยา พิชชาออน ผู้ประสานงาน เล่าถึงรายละเอียดที่เกิดขึ้นกับกรณีผลกระทบจากการได้รับวัคซีนของครอบครัวคุณรัตนาพรว่า
“ต้องบอกก่อนนะ การทำงานของพวกเราดูเหมือนยุ่ง ทำตัววุ่นวายกับเรื่องผู้ได้รับผลกระทบจากการฉีดวัคซีนหลายเคส ย้ำว่าหลายเคสนะ ไม่ใช่กรณีนี้กรณีเดียว แต่เพราะกระบวนการขั้นตอนการดำเนินการมันเยอะมาก คือพอรับเรื่องมาแล้ว เราก็ต้องพิจารณาอย่างเป็นกลางว่า เฮ้ย มันมีมูล มันเข้าเค้าแล้วนะ
อย่างเรื่องนี้พอไปดูประวัติคนป่วยไม่เคยมีอาการอะไรมาก่อนเลย แต่มาล้มหลังจากฉีดวัคซีนไม่ถึงเดือน พอเราแจ้งสิทธิต่าง ๆ ให้ครอบครอบครัวทราบ แล้วถ้าเขาตัดสินใจว่าจะต้องยื่นเรื่อง เราก็ต้องแนะนำเขาเรื่องเอกสาร แล้วช่วยพากันรวบรวมเอกสาร เอาง่าย ๆ แค่ประวัติการรักษาของคนป่วยก็ต้องพากันไปเข้า ๆ ออก ๆ โรงพยาบาลเอง แล้วพูดง่าย ๆ ไอ้ภายใต้ระบบสาธารณสุขบ้านเราแบบนี้ จะมีหมอหรือโรงพยาบาลไหนเขาฟันธงได้ ว่าอาการป่วยที่เกิดขึ้นเป็นผลกระทบจากการฉีดวัคซีน ?
พอเรารวบรวมเอกสารครบถ้วนแล้ว ก็ต้องบันทึกข้อเท็จจริงอย่างละเอียด ทำเอกสารให้เข้ากับรูปแบบที่ทาง สปสช.เขากำหนด ไอ้เรื่องแบบนี้พวกเราชาวบ้านถนัดที่ไหนกันล่ะ แต่มันก็จำเป็นต้องทำ
เมื่อเรื่องเข้าไปที่ส่วนกลางแล้ว ระหว่างรอเขาพิจารณากัน เราก็ต้องติดตามว่าผลการพิจารณาเป็นยังไง ถ้ามีการจ่ายเงินช่วยเหลือ แล้วเขาได้รับเงินหรือยัง ได้จริงไหม เป็นที่พอใจหรือเปล่าหากไม่พอใจ ก็สามารถใช้สิทธิอุทธรณ์ได้ การที่เราทำงานแบบนี้ นอกจากเป็นการช่วยแก้ปัญหารายกรณีแล้ว คนที่มาเกี่ยวข้องทั้งหมด เขาก็จะได้รู้ถึงสิทธิของตัวเอง ถ้ามันจะเกิดเหตุอะไรขึ้นอีก อย่างน้อยประสบการณ์ของเขาก็จะช่วยเป็นกรณีศึกษาให้คนอื่น ที่อาจยังไม่รู้ ยังไม่ทราบขั้นตอน
แล้วพี่ก็หวังนะ ว่าเรื่องแบบนี้โดยเฉพาะเรื่องผลกระทบจากการฉีดวัคซีนจะไม่เกิดขึ้นอีก เพราะเอาเข้าจริงต่อให้จะได้เงินช่วยเหลือมาเท่าไหร่ มันก็แลกไม่ได้กับการที่เขาใจสลายจากการเจ็บป่วยไปแล้ว”
การได้มาที่แลกไม่ได้กับการเสียไป
หลังจากใช้ระยะเวลาผ่านวัน จนกลายเป็นเดือน ครอบครัวของรัตนาพร ก็ได้รับคำตอบ เมื่อผลการพิจารณาจากสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ มีมติให้จ่ายเงินช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบจากวัคซีนโควิดรายนี้ เป็นเงิน 1 แสนบาท
แต่ความสูญเสียที่ผ่านมา ไม่สามารถแปรเปลี่ยนเป็นราคาใดได้ ประกอบกับการรักษาที่ยังต้องมีอย่างต่อเนื่อง และการรับยาบางชนิด มีภาระให้ครอบครัวงต้องจ่ายเงินเอง จึงเป็นที่มาให้ครอบครัวทำการยื่นอุทธรณ์
แม้จะเปรียบได้กับการเดินทางผ่านช่วงเวลาเจ็บปวดอย่างล่าช้า จากวันที่ล้มลงจนถึงวันนี้ ผู้ป่วยและครอบครัวผ่านมากว่า 10 เดือน จน แม้ปัจจุบัน ร่างกายของผู้ป่วยจะไม่สามารถกลับมาเป็นเหมือนเดิมได้ แต่อย่างน้อยก็ฟื้นฟูจนดีขึ้นมาราว 80% แม้ยังคงไม่สามารถทำงานได้อย่างปกติ…
ในท้ายที่สุด กรณีที่เกิดขึ้นกับลูกเขยของรัตนาพร คือ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ มีหนังสือมาโดยระบุข้อความสำคัญว่า เป็นความเสียหายประเภทเจ็บป่วยเรื้อรังที่ต้องได้รับการรักษาตลอดชีวิต เมื่อพิจารณาความรุนแรงและเศรษฐานะแล้ว จึงวินิจฉัยให้จ่ายเงินช่วยเหลือเบื้องต้น จำนวน 400,000 บาท (สี่แสนบาท) ตามอัตราสูงสุด
ในท้ายที่สุด เมื่อถามถึงความรู้สึก รัตนาพรถอนหายใจยาว แล้วกล่าวหลังจากส่ายหน้า
“ได้เงินมาดีใจไหม ? สามสี่แสนเนี่ย... เราต้องมาดีใจกับเรื่องพวกนี้ทำไม ปัจจุบันที่บ้านก็ต้องออกค่ายากินเอง ตกวันละหลายร้อยบาท แล้วก็ต้องได้รับการรักษาอย่างต่อเนื่อง หากเลือกได้ ก็อยากให้ลูกเขยกลับมามีชีวิตที่ปกติดีกว่า”