02 มกราคม 2023

สถาบันการเงินข้างบ้าน ทางออกของการแก้ปัญหาเศรษฐกิจชุมชน

ชวนรู้จัก สนาคารบางสระเก้า อำเภอแหลมสิงห์ จังหวัดจันทบุรี

ภาพตัวเลขของเงินในบัญชีลดลงเรื่อย ๆ คงไม่ใช่ภาพที่ใครก็ตามอยากเห็น แต่ด้วยความจำเป็นและเหตุผลของมนุษย์ไม่เหมือนกัน ทำให้บางครั้งการควบคุมการใช้จ่ายกลายเป็นเรื่องยาก และแน่นอนว่าหากอยากออกจากบ้านไปเราคงหวังอยากไปขึ้นเงินรางวัลที่กองสลากฯมากกว่าก้าวเท้าเข้าธนาคารถอนเงิน

แม้ว่าตลอดเวลาหลายทศวรรษที่ผ่านมา จะมีองค์กรภาคประชาสังคมซึ่งกลายเป็นภาคส่วนหนึ่งในการแก้ปัญหามิติต่าง ๆ ของประชาชนร่วมกับหน่วยงานรัฐ แต่หากจัดลำดับแล้ว คงไม่สามารถละทิ้งปัญหาปากท้อง และเศรษฐกิจครัวเรือนอันเป็นปัจจัยหลักของปัญหาต่าง ๆ ได้

เริ่มต้นปีใหม่นี้ จึงขอชวนทุกท่านมาอ่านเรื่องราวของ สนาคารบางสระเก้า สถาบันการเงินของชุมชนในอำเภอแหลมสิงห์ จังหวัดจันทบุรี สถาบันการเงินที่มุ่งแก้ปัญหาเศรษฐกิจให้ชุมชน ควบคู่ไปกับการส่งเสริมให้คนทั้งตำบลพัฒนาคุณภาพชีวิตของตน ด้วยการเริ่มต้นจากเรื่องเงิน ๆ ทอง ๆ

อะไรคือสนาคาร?

: อุทัย สีเผือก ผู้จัดการสนาคารบางสระเก้า อำเภอแหลมสิงห์ จังหวัดจันทบุรี เล่าว่า สนาคาร มาจากสามคำ คือ สห ธนบัตร และอาคาร เพราะเราคิดจะทำเรื่องนี้กันในชุมชน มันไม่ใช่ของใครแค่คนเดียว แล้วพอเป็นเรื่องของเงิน ก็ต้องมีธนบัตร ขณะเดียวกันเราก็มีศูนย์สินเสื่อเพื่อการพัฒนาอาชีพ มีอาคารมีที่ตั้งชัดเจน มันเลยพ้องกันว่าก็จัดการรวมกันมันตรงนี้แหละ จึงกลายเป็นมติที่ทุกคนเห็นด้วยร่วมกัน

จุดเริ่มต้นต้องย้อนไปตอนมีนโยบายของรัฐบาลช่วงปี พ.ศ.2548 ถ้าชุมชนไหนมีความเข้มแข็ง มีการทำงานร่วมกันในชุมชน จะให้ธนาคารออมสิน หรือ ธนาคารเพื่อการเกษตรฯมาช่วยดูแลเรื่องเงินออม รวมทั้งจะสนับสนุนให้มีสถาบันการเงินระดับชุมชน แล้วตอนนั้นเราเริ่มทำงานกับสภาองค์กรชุมชนเรื่องบ้าน เรื่องที่อยู่อาศัย ก็รวมกลุ่มกันชัดเจนอยู่แล้ว แต่ถ้าว่าตรง ๆ ก็โดนหว่านล้อมให้เห็นดีเห็นงามด้วยแหละ เพราะทางราชการเขาว่ายังไง เราก็เออออเอาด้วย ช่วงนั้นมาโน้มน้าวกันครบทั้งนายอำเภอ ผู้จัดการธนาคาร เจ้าอาวาสก็ด้วย ตอนแรกงงเหมือนกันนะ คิดว่าไปหลงคารมหรือเปล่าวะเนี่ย

แต่พอเรามาคุยกันเฉพาะในชุมชน มันดันมีคนพูดว่า ธนาคารเนี่ย ทำแล้วมันรวย! ทำแล้วมันจะโก้ โอ้โห เราก็เห็นภาพกันเลยทีนี้ จริงของมัน ถ้าใครได้ทำงานธนาคารในบ้านเรามันก็ดูมีราศีเลย พวกเราเลยตัดสินใจร่วมกันว่า เอาวะ ตกลง เลยเริ่มนับแต่นั้นเป็นต้นมา

ช่วงต้นก็ต้องขอบคุณทางธกส.เขาแหละ เอาทุกอย่างมาให้ ทั้งใบแบบฟอร์ม โต๊ะเก้าอี้ เอามายันคอมพิวเตอร์ แต่บ้านเราคนที่สนใจเรื่องนี้มันแก่แล้วทั้งนั้น เอามาก็ทำกันไม่เป็น เลยใช้ระบบไปคัดเลือกกรรมการกันมา ใครอยากเป็นนายธนาคาร ตัวแทนแต่ละบ้าน กรรมการแต่ละกองต้องไปหาตัวแทนมา ไม่งั้นเจ๊งตั้งแต่ยังไม่เริ่มแน่ ก็เลยได้กลุ่มออมทรัพย์มาคนหนึ่ง กองทุนหมู่บ้านมาอีกคน คนที่รู้ประเพณีวัฒนธรรม เยาวชน คนทำงานเกี่ยวกับสื่อ ก็ได้กันมาเป็นชุดจนสามารถเริ่มต้นได้

สนาคารเราเปิดทำการเมื่อปี พ.ศ.2548 วันแรกมีคนเอาเงินมาฝากเกินแสน! ดีใจกันยกใหญ่ ในยุคแรกเรามีบริการแค่รับฝาก - ถอนเงิน แล้วก็มีรับชำระค่าน้ำ ไฟ ค่าโทรศัพท์

การมีสนาคาร จะสร้างความแตกต่างอย่างไร...ในเมื่อทั้งประเทศก็ยังคงมีธนาคาร ?

: เราเคยทำข้อมูลสำรวจกัน แล้วเจอว่าคนบางสระเก้าเป็นหนี้อยู่กับ ธกส.ประมาณ 15 ล้านบาท ที่สหกรณ์ต่าง ๆ ก็สิบกว่าล้าน เป้าหมายของเราชัดเจนเลยว่า ต้องให้คนในตำบลเราโอนหนี้มาเป็นหนี้กับเราให้ได้มากที่สุด เพราะเขาเสียดอกเบี้ยให้ธนาคาร 9 บาท แต่ของเราจะ 6 บาท หมายความว่าอะไร... หมายความว่า หนี้มันจะได้ลดลง แล้วมีเงินเหลือไปดูแลชีวิตมากขึ้น

และถ้าเราจะทำงานกับชุมชน เขาต้องเห็นผลประโยชน์ด้วย พอดำเนินงานไประยะหนึ่งสนาคารมันเริ่มอยู่ตัวมีคนฝาก มีคนถอน แต่ไม่เห็นทิศทางที่จะช่วยคนในชุมชน เราจึงประกาศเลยว่า ถ้าวันนี้ธนาคารหลักให้ดอกเบี้ยคุณ 1 บาท เราจะให้สองบาท ... ไม่ใช่สองเท่านะ ก็คือถ้าเขาให้เท่าไรเราเพิ่มให้อีกบาท ไอ้ตอนประกาศกันก็ยังไม่รู้เลย จะไปหารายได้จากไหนมาให้เขา ชาวบ้านเขาก็เฮโลกันมาฝากเงินกับเรา พอถึงสิ้นเดือนเท่านั้นแหละ ไอ้พวกกรรมการปวดหัวเลยคิดกันว่าเอาเงินที่มีมาปล่อยกู้ทำเรื่องสินเชื่อ แล้วคิดอัตราดอกเบี้ยที่มันไม่สูงมาก ถ้าจะบอกขูดรีดก็ขูดรีดน้อยกว่าสถาบันการเงินอื่น หรือพวกปล่อยเงินดอกลอยแหละนะ ก็เลยเอาวะลองดู

สนาคารเราทดลองครั้งแรกกับลูกหนี้ 3 คน ไปโอนหนี้มา ลูกหนี้มีรายได้เท่าไหร่ก็ให้เอามาตกลงกัน สัญญากันว่าจะใช้ยังไงบ้าง ปรากฏว่าทั้งสามเจ้าก็ปลดหนี้ได้ แต่เราไม่ได้ให้เฉย ๆ นะ ไม่ได้บอกว่า พวกเอ็งไปเอาหนี้ตรงนั้นมาเป็นของตรงนี้แทน เรามีข้อกำหนดบางประการคือ อันดับแรกถ้าเราปล่อยกู้หรือช่วยโอนหนี้คุณ คุณต้องปลูกผักกินได้ 12 อย่าง ก็ไอ้พวก ตะไคร้ ข่า ผักที่หากินง่าย ต่อมาขีดเส้นใต้เลยว่า ถ้าเป็นหนี้เราแล้วคุณเองต้องทำบัญชีรายรับ - รายจ่าย ในครัวเรือนนะ เพราะมันจะได้รู้กันว่าแต่ละเดือน คุณสามารถจ่ายคืนหนี้สินได้เท่าไหร่ แต่ที่มากกว่านั้นมันจะเห็นช่องออกไปของเงิน บางอย่างที่จ่ายคุณสามารถประหยัดได้

ดังนั้น การมีสนาคารชุมชน จะช่วยลดปัญหาเรื่องหนี้ครัวเรือนลงได้ แล้วเป็นการเพิ่มโอกาสให้คนในชุมชนเข้าถึงแหล่งเงินทุนและสินเชื่อเพื่อช่วยเหลือตัวเองได้ จากวันนั้นถึงปัจจุบัน เราตั้งมาเกือบ 20 ปี มีคนในตำบลมากู้กับเราแล้วมากกว่า 100 ราย

ใช้วิธีไหนสร้างความมั่นใจให้ชาวบ้านและคนในตำบล...?

: ต้องบอกว่าคนที่มีอิทธิพลต่อการตัดสินใจกับชาวบ้านไม่ใช่คนในเครื่องแบบ ข้าราชการหรอกนะ เพราะไอ้อย่างเรามาทำเรื่องเงิน ๆ ทอง ๆ ของชาวบ้าน ใครเขาจะไว้ใจ แต่พอมีเจ้าอาวาส มีลูกค้าเป็นวัด คนทั่วไปเขาก็เชื่อถือตามมาใช้บริการกัน

เรื่องนี้เป็นบทเรียนให้จำไว้เลยนะ ใครจะทำงานกับชุมชนอย่าลืม ... ห้ามลืมพระ อย่างน้อย ๆ ตั้งเอาไว้เป็นที่ปรึกษาก็ได้ เพราะถ้ามีสถาบันสงฆ์แล้ว คนเขาจะเปิดใจรับฟังเรามากขึ้น

การที่เราทำสนาคารในชุมชน ข้อดีก็แน่ละ คนฝากมันเห็นหน้าคนรับฝาก อย่างน้อย เออบ้านใกล้กู เกิดปัญหาฉุกเฉินไปเคาะประตูหน้าบ้านมันได้ ไม่ต้องยึดติดว่าเปิดกี่โมงปิดกี่โมง แล้วคนบ้านเราทำฟาร์มกุ้งกัน ตอนขายกุ้งได้ บางรายหอบเงินห้าหกแสนมาฝาก ถามเขาว่าทำไมไม่เอาไว้ธนาคารที่อำเภอล่ะ เขาบอกกูขี้เกียจ อยู่ตรงนี้กูถอดเสื้อถอดรองเท้าก็เอาเงินมาเข้าได้ สนาคารเราเข้าถึงง่าย ... นี่ไม่ใช่การขาดระเบียบวินัย แต่มันคือการให้บริการโดยยึดชุมชนเป็นหลัก

ตอนนี้สนาคารตั้งมาถึงปี 65 เรามีลูกหนี้เงินกู้ 14 ล้านบาท ที่ผ่านมาไม่มีหนี้เสีย มีแค่ลูกหนี้ยังไม่มีเงินจ่าย แต่เราเห็นหน้ากันก็ตามถามได้ วันไหนเขามีเราก็รู้

ฟังแล้วยังไม่เห็นว่า จะเป็นการช่วยให้ชุมชนมั่นคง มีรายได้ หรือไปช่วยแก้ปัญหาชาวบ้านอย่างไร...เพราะบริการไม่ได้ต่างจากธนาคาร ?

: ทำไมมันจะไม่ช่วยล่ะ ... คุณรู้ไหมว่าสิ่งสำคัญที่สุดของการมีสนาคาร มันคือการมีเวที มีพื้นที่ให้คนในชุมชนมาคุยเรื่องต่าง ๆ ด้วยกัน ของเรากำหนดเลยทุกวันที่ 28 แม้จะเริ่มจากเรื่องเงิน แต่เงินมันเป็นเรื่องหลักนี่ ถ้าไม่ช่วยกันดูเรื่องนี้คุณภาพชีวิตคนบ้านเรามันจะดีได้ยังไง อย่าลืมนะว่าถ้าเราเห็นสภาพทางการเงินของตำบลเราทุกเดือน มันก็สัมพันธ์กับการออกแบบนโยบายในตำบล บางเดือนคนฝากน้อยถอนเยอะ เราก็ต้องคอยสังเกตว่า เออ มันเกิดจากอะไร

ยกตัวอย่างนะ มีปีหนึ่งผมจำไม่ได้ แต่ปีนั้นไข่ไก่ฟองละ 2 บาท คนตำบลเรากินกัน 200,000 ฟอง เป็นเงินสี่แสนบาทเลยนะขั้นต่ำ เราก็เลยถามหาว่า ไอ้ไข่ที่เอามาขายตามร้านบ้านเรามาจากไหน ได้ความว่ามาจากแปดริ้ว แล้วบ้านเรานี่มันมีใครเลี้ยงไก่บ้างนะ ปรากฏว่าไม่มีสักราย ก็ทดลองเขียนโครงการไปขอเงินจากรัฐได้มา 80,000 บาท เราก็มากระจายกัน ตั้งเงื่อนไขให้แต่ละหมู่บ้าน

รอบแรกแต่ละหมู่บ้านอาสาสมัครได้ไป 12 ตัว เลี้ยงไปเลี้ยงมามันขี้เรี่ยราดเหมือนกันแหะ เพราะเราไม่มีความรู้ ก็ไปชวนปศุสัตว์มาทำกรง พอทำกรงสนาคารก็ได้อุดหนุนให้คนเฒ่าคนแก่ สรุปปีนั้นเราเหลือไข่รอดมาให้กินกันไม่น้อยเชียวนะ

ถ้าเรามองปลายทาง เราจะเห็นแค่ไข่ แต่ถ้าดูรายละเอียดการทำให้คนเลี้ยงเหมือนกันได้ร่วมกันแก้ปัญหา มันช่วยสร้างความสัมพันธ์อันดีในชุมชนเรา แล้ววิธีการของเราคือถ้าไก่ได้ 4 ฟอง ต้องเอามาคืนสนาคาร 1 ฟอง เพื่อให้เราขายเป็นทุนต่อยอดให้คนอื่นด้วย

นอกจากนั้นสิ่งสำคัญสองเรื่องก็ตามที่เล่า คือลูกค้าเราต้องทบัญชีครัวเรือน การทำบัญชีอยู่คนเดียวมันก็ไม่ช่วยอะไร หากไม่มีโอกาส ไร้เวทีในการพูดคุย แต่สนาคารเราทำทั้งสองอย่างพร้อมกัน ส่งเสริมให้ทุกบ้านทำบัญชี แล้วมีการประชุมกันเดือนละครั้ง กิจกรรมก็ไม่ต้องพิธีรีตอง เอาสรุปบัญชีของแต่ละบ้านขึ้นมาดู แล้วยกประเด็นที่น่าสนใจแต่ละบ้านมาคุยกัน ไอ้บ้านที่บัญชีปกติดีก็ไม่ต้องไปยุ่ง

อีกเรื่องคือ การให้คนในตำบลเราสามารถเข้าถึงบริการสินเชื่อ เงินทุน มันเอาไปสร้างเนื้อสร้างตัวไม่ได้มากก็จริง แต่ชาวบ้านอย่างเราจะเดินไปขอกู้เงินธนาคาร โอกาสได้มันน้อยนะ แล้วได้มาเงื่อนไขก็ถูกกำหนดด้วยตัวเลขอย่างเดียว ไม่เห็นการยกระดับพัฒนาคุณภาพชีวิตเลย ... เรื่องนี้ค่อนข้างสำคัญเพราะบ้านเราวิถีเกษตรกร มันต้องแบกรับความเสี่ยงด้วยตัวเอง การมีสนาคารแบบนี้น่าจะดีกว่าไม่มีไหม ?

เรื่องแบบนี้เหมือนมีแค่จิตอาสา ใจอยากช่วยไม่น่าจะเป็นไปได้...สนาคารมีหลักเกณฑ์ดำเนินงานไหม ?

: 30 – 30 -30- 10 เข้าใจง่าย ๆ เลย ... แต่ต้องบอกว่ามันไม่ใช่กรอบที่กำหนดกันมาตั้งแต่ต้นหรอก แรก ๆ เราทำแบบเอาตัวรอด แล้วพอถึงจุดหนึ่งที่การดำเนินงานมีรายได้ เราจึงคิดร่วมกันว่า เราไม่ใช่ธนาคารหลักที่ใครเขาจะมาช่วยนะเนี่ย จะต้องคิดเรื่องบริหารจัดการเงินนะ ก็เลยว่ากันว่าไม่ได้ละโว้ย จะเอาแค่สนาคารอยู่รอดไปวัน ๆ ไม่ได้ มันต้องยั่งยืน เป็นที่พึ่งให้คนในตำบลเรา

ก็เลยเกิดมติ 30 – 30 -30- 10 นี้ขึ้นมา พูดง่าย ๆ คือ ถ้าสนาคารมีรายได้ 100 จะต้องถูกหั่นสี่ส่วน 30 แรกเก็บลงไหไปกรุ อย่ายุ่งกับมันเลย เอาเป็นวัคซีนเผื่อวันไหนเจ๊ง ส่วนต่อมาก็เอาไว้ใช้ปันผล จ่ายดอกเบี้ย อีก 30 เป็นส่วนบริหารจัดการ ค่าคน ค่าของ ค่าดูแลอุปกรณ์ ส่วนที่เหลืออีก 10 เราตั้งเป็นกองทุนสาธารณประโยชน์ ใครมีงานไหนอยากขอใช้เงินก็ว่ามา จะงานบุญงานกุศล หรืองานช่วยเหลือคนป่วย เด็ก คนพิการเราไม่ขัด คือใครทำเรื่องอะไร เรายินดีมีส่วนร่วม เพราะนี่มันบ้านเรา เราต้องเป็นเจ้าของปัญหาด้วย

คำถามสุดท้าย ความพึงพอใจและก้าวต่อไปของสนาคารบางสระเก้า อำเภอแหลมสิงห์ จังหวัดจันทบุรี?

: อันดับแรกก่อน ต้องยอมรับว่าสิ่งที่เรายังขาดตอนนี้คือ “ความรู้” โดยเฉพาะกับเทคโนโลยี หลังจากนี้พวกเรายังต้องพยายามส่งเสริมเรื่องนี้ให้กับคนในตำบล ผมถามว่าทุกวันนี้เงินรัฐบาลที่ให้กันเนี่ย โอนเข้าบัญชีถอนผ่านมือถือ สุดท้ายใครได้ใช้? ...ลูกหลานทั้งนั้น เพราะคนแก่ไม่รู้เทคโนโลยี ใช้งานไม่เป็น ไหว้วานลูกหลานไปถอนมันก็หักส่วนแบ่ง อันนี้เรื่องแบบง่าย ๆ ทั่วไปเลยนะ แล้วไหนจะเรื่องอาชญากรรมไซเบอร์ ถามว่าบางคนใช้เทคโนโลยีได้ แต่ทำไมโดนหลอกเงิน แล้วไอ้กลุ่มที่โดนบ่อยก็คนในชุมชนไกล ๆ แบบเรา คนเฒ่าคนแก่นี่แหละ ดังนั้นความคาดหวังของสนาคารเราหลังจากนี้ คือจัดสวัสดิการด้านการส่งเสริมความรู้ ความเข้าใจในการเท่าทันเทคโนโลยี

ส่วนความพอใจ ผมพูดอย่างนี้แล้วกัน ตอนนี้ในตำบลมีประชากรทั้งหมดสองพันกว่าคน มีสมาชิกที่มาทำธุรกรรมกับเราแล้ว 768 คน เอาเป็นว่าเกือบ 40% ของประชากร … มันแสดงให้เห็นนะ ว่าการพัฒนาสามารถเริ่มต้นได้จากการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของคนในชุมชน แล้วถ้าแต่ละชุมชน ตำบล สามารถมีส่วนร่วมดูแลกัน มันจะทำให้การพัฒนาเกิดขึ้นได้อย่างแท้จริง

สุดท้ายที่อยากจะบอกคือ เวลาคนมีหนี้ มันเป็นทุกข์นะ พอเป็นทุกข์จะให้ไปทำเรื่องอื่นจึงไม่ง่าย การที่เราทำสนาคารก็หวังจะช่วยเพิ่มความสุขให้คนบ้านเรา แล้วผมลืมบอกสนาคารเราก็มีคำขวัญนะว่า หนีหนี้ให้มีกิน อยู่กับหนี้ให้มีความสุข ... คำว่าหนีหนี้ ไม่ได้บอกว่าติดหนี้ใครแล้วไม่จ่าย แต่หนีหายไปให้พ้นจากการเป็นหนี้!

เนื้อหาอื่นๆ

17 ธันวาคม 2019
13 มิถุนายน 2020
16 ตุลาคม 2018

Copyright © 2013 THETHAIACT